พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มครอง ศบค. ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ ทำผิดไม่ต้องรับผิด

ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ระบาดต่อเนื่องจนควบคุมไม่ได้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านเวลามาปีครึ่งแล้ว โดยมีช่วงที่การระบาดควบคุมได้อยู่หลายเดือน แต่ก็ไม่ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษนี้ และหาเครื่องมืออื่นมาใช้แทนที่ตอบโจทย์ของโรคระบาดได้ตรงจุดกว่า หนึ่งใน "เครื่องมือ" ที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มอบให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์โรคระบาดเลย คือ การยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่
มาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นบทบัญญัติสำคัญ ยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ โดยระบุว่า 
"มาตรา ๑๗ พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกําหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทําผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทําที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่" 
มาตรานี้เป็นเหมือน "กำลังใจ" ให้กับผู้ที่ใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะรู้ว่าโดยส่วนตัว ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เ แม้ว่าในกรณีที่ "เกินสมควรแก่เหตุ" ก็ยังต้องรับผิดอยู่ แต่การที่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำที่ก่อความเสียหายนั้นเกินสมควรแก่เหตุไปเพียงใดหรือไม่ก็เป็นภาระของประชาชนที่ได้รับความเสียหายต้องเป็นผู้พิสูจน์เออง
นอกจากนี้ แม้การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็น "อำนาจทางปกครอง" โดยตรง หมายถึงการที่รัฐ "ออกคำสั่ง" ให้ประชาชนต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติตาม แต่กลไกการตรวจสอบอำนาจทางปกครองที่ใช้อยู่ในประเทศไทย คือ ศาลปกครอง กลับถูกตัดขาดออกจากการทำงาน โดยในมาตราที่ 16 ระบุว่า 
"มาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง" 
ดังนั้นถ้าหากมีกรณีที่การออกประกาศหรือคำสั่งด้วยอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทบสิทธิของประชาชนเกินสมควร หรือมีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหาย ประชาชนไม่อาจนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้เช่นเดียวกับการตรวจสอบการทำงานของรัฐในสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดมีคดีความและประชาชนต้องการฟ้องร้อง ก็ยังสามารถไปฟ้องร้องกันได้ที่ศาลแพ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่แปลกประหลาด เพราะประเทศไทยมีศาลปกครองและกฎหมายปกครอที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ แต่เมื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับต้องไปฟ้องคดีกันที่ศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลที่ส่วนใหญ่พิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สินของประชาชนไม่เกี่ยวกับรัฐ
ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) จึงอาจทำได้เพียงการฟ้อง "เรียกร้องค่าเสียหาย" ต่อศาลแพ่ง และต้องพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิด "เกินสมควรแก่เหตุ" ให้ได้ด้วย
ตัวอย่างกรณีศึกษา ที่ประชาชนพยายามใช้ระบบตุลาการตรวรจสอบการตัดสินใจดำเนินการของรัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังไม่สำเร็จ
1) ศาลปกครองไม่รับฟ้องเพิกถอนประกาศ Fit to Fly คนไทยในต่างประเทศไม่ได้กลับบ้าน 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ชาวไทยซึ่งพำนักอยู่ ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ขอให้เพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. ในประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ก.พ.ท.) ที่กำหนดให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องมีเอกสารอัน ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly) และ หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลที่จะป้องกันโรคโควิด ใบรับรอง Fit to Fly ไม่ได้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วย แต่ส่งผลให้ผู้โดยสารจำนวนมากต้องต่อคิวในสถานที่แออัดเพื่อขอเอกสาร เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร 
1 เมษายน 2563 ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้การฟ้องขอให้เพิกถอนดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่ข้อความตามประกาศดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับข้อ 3 วรรคหนึ่ง(6) และวรรคสอง ของข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าหากศาลรับไว้พิจารณาและต่อมามีคำพิพากษาให้เพิกถอน ย่อมเท่ากับเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเช่นกัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจกระทำได้  
หลังจากศาลปกครองไม่รับคดีไว้พิจารณาแล้ว วันที่ 3 เมษายน 2563 อาทิตย์ จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลแพ่งพิพากษาเพิกถอนข้อ 3 วรรคหนึ่ง(6) และวรรคสอง ในข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และขอให้สั่งคุ้มครองเป็นกรณีฉุกเฉินให้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช้บังคับเป็นการชั่วคราวด้วย ในวันเดียวกันกับที่ยื่นฟ้อง ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีเวลาประมาณ 15.00 และสั่งยกฟ้องคดีนี้ทันที โดยให้เหตุผลว่า ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9(4) แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ [ดูรายละเอียดคำฟ้องและคำพิพากษาสองศาลได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5612 ]
9 พฤศจิกายน 2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งให้รับฟ้องคดีนี้ และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ก็สั่งจำหน่ายคดี เพราะประกาศของ ก.พ.ท. ถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดไป แม้ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังใช้อยู่ แต่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
2) ศาลปกครองไม่รับฟ้อง ผู้ว่าฯ ภูเก็ตสั่ง "ปิดเกาะ" ไม่ตรวจโควิดฟรี
สายชล หนูทอง ชาวจังหวัดภูเก็ต ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จากการออกคำสั่งที่ 2617/2564 เรื่องเพิ่มมาตรการเข้มข้นยกระดับการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตตามมาตรการป้องกัน และควบคุมโรคติเชื้อไวรัสโคโรน่า ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ผู้ฟ้องคดีอธิบายเหตุของการฟ้องว่า คำสั่งที่ให้คนเข้าจังหวัดภูเก็ตต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม หรือตรวจหาเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ก่อให้เกิดความเสียหายสร้างขั้นตอนและภาระเกินสมควรร เนื่องจากเดิมจังหวัดภูเก็ตจัดให้ตรวจหาเชื้อก่อนเข้าจังหวัดฟรี แต่กลับเปลี่ยนให้จ่ายค่าตรวจเอง และยังไม่จัดหาวัคซีนให้ประชาชน
ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งจังหวัดภูเก็ต 2617/2564 ข้อ 1-2 หรือให้จัดบริการตรวจฟรีเช่นเดิม หรือให้จ่ายค่าตรวจโควิดให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตครั้งละ 3,000 บาททุกคน จนกว่าจะจัดหาวัคซีนให้ได้
28 พฤษภาคม 2564 ศาลปกครองสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีมาตรา 16 ที่ตัดอำนาจศาลปกครอง คำสั่งของผู้ว่าฯ ภูเก็ตออกตามข้อกำหนดของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงได้รับความคุ้มครอง บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้นบางประการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะที่เป็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของปัจเจกชน คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
3) ศาลแพ่งจำหน่ายคดี ฟ้องเพิกถอนประกาศห้ามชุมนุม
9 กรกฎาคม 2563 เครือข่าย People Go Network จัดกิจกรรม " ยื่นฟ้องคดีให้ยกเลิกการประกาศขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุม สืบเนื่องมาจาก การแจ้งข้อดำเนินคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับตัวแทนที่ยื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชาให้หาความจริงกรณีการหายตัวไปของ "วันเฉลิม" ผู้ลี้ภัยชาวไทยในกัมพูชา และการสั่งห้ามการชุมนุมโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อติดตามทวงถามกฎหมายบำนาญแห่งชาติ กรณีนี้เลือกยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพราะเห็นว่า ไม่อาจฟ้องที่ศาลปกครองได้
ในคำฟ้องระบุว่า การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับห้ามการชุมนุม ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ขณะยื่นฟ้องไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศ เป็นเวลามากกว่า 43 วันแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจฉุกเฉิน รวมถึง พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อหรือกฎหมายอื่นสามารถดำเนินการป้องกันโรคระบาดแทนได้ ข้อกำหนด "การห้ามชุมนุม"  เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ
5 สิงหาคม 2563 ศาลแพ่งอ่านคำสั่งว่า หลังจากโจทก์ยื่นคำฟ้อง มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าวแตกต่างและเป็นการผ่อนคลายจากข้อกำหนดเดิมที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความมสงบเรียบร้อย
ดังนั้น ขณะนี้โจทก์ทั้งห้า จึงมีเสรีภาพในการชุมนุม ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ถึงกับต้องห้ามชุมนุมทุกกรณีเช่นเดียวกับขณะยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่ต้องเพิกถอนประกาศ และข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่มีประโยชน์ต่อคู่ความทุกฝ่าย จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ 
4) ศาลปกครองรับคดีญาติเกมเมอร์ ฟ้องศบค. ไม่รีบรักษาจนเสียชีวิต
กรณีครอบครัวของ กุลทรัพย์ วัฒนพลหรือ “อัพ VGB” นักกีฬาอี-สปอร์ต ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 รายที่ 137 เพราะประสานหาที่ตรวจเชื้อไม่ได้ และได้รับการรักษาล่าช้า ยื่นฟ้องศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค., เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,530,000 บาท จากกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้กุลทรัพย์ ต้องเสียชีวิต
คดีนี้ศาลปกครองมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว แม้ ศบค. จะตั้งขึ้นตามอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ ศบค. และหน่วยงานต่างๆ ที่ถูกฟ้องยังคงมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมายอื่นๆ การละเลยไม่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิดให้ทันท่วงที และการปล่อยปละละเลยทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้หลายระลอกซึ่งเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ก็เกี่ยวข้องกับหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ด้วย การที่ศาลปกครองสั่งรับฟ้องคดีนี้ แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่ดีที่ศาลปกครองมีแนวโน้มตีความกฎหมายเพื่อให้ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของ ศบค. ได้ จึงเป็นคดีที่น่าติดตามว่า และนับถึงเดือนกรกฎาคม 2564 เท่าที่ทราบคดีนี้เป็นคดีการฟ้องร้องต่อ ศบค. คดีเดียวที่มีอยู่ในชั้นศาล และศาลรับไว้พิจารณา
จากตัวอย่าง คดีที่ 1) และคดีที่ 2) ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชน ยื่นฟ้องให้เพิกถอนประกาศที่ออกมาและมีผลกระทบกับประชาชนเกินสมควร ซึ่งทั้งสองใช้วิธีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากเป็นศาลที่ควรจะทำหน้าที่พิจารณาคดีสืบเนื่องจากจากการใช้อำนาจของรัฐ แต่ศาลปกครองก็สั่งไม่รับฟ้องทั้งสองคดี โดยอ้างมาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ตัดอำนาจของศาลปกครองไว้
เมื่อศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีตามตัวอย่างที่ 1) ผู้ฟ้องคดีจึงต้องไปยื่นฟ้องใหม่ที่ศาลแพ่ง เพื่อให้มีศาลใดศาลหนึ่งในประเทศไทยตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหาร เช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ 3) ที่แม้ผู้ฟ้องคดีจะแถลงเจตนาชัดเจนว่าต้องการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แต่ก็จำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพราะติดมาตรา 16 และทั้งสองคดีศาลแพ่งก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความไม่พยายามที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ และเลือกที่จะมีคำพิพากษาไปโดยไม่วินิจฉัยลงในเนื้อหาว่า คำสั่งที่บังคับใช้กับประชาชนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แม้นับถึงเดือนกรกฎาคม 2564 ยังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลใดที่ชี้ว่า ศบค. ใช้อำนาจไม่ถูกต้องเลย แต่ก็ยังเห็นความพยายามของศาลปกครองที่จะยืนยันอำนาจของระบบตุลาการที่จะต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐ โดยในคดีตามตัวอย่างที่ 1) ศาลปกครองสูงสุดก็เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้รับฟ้อง โดยตีความที่จะรับฟ้องในส่วนการขอให้เพิกถอนประกาศ ก.พ.ท. ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีได้ แต่ไม่พิจารณาในส่วนที่เป็นข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคล้ายกับคดีตัวอย่างที่ 4) ที่ศาลปกครองเห็นช่องทางการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐนอกเหนือจากอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯด้วย และสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา จึงยังคงพอมีความหวังที่การใช้อำนาจของ ศบค. จะถูกสถาบันตุลาการตรวจสอบถ่วงดุลได้บ้าง 
นอกจากนี้ยังมีคดีความอีกหลายคดีที่ประชาชนต้องการให้ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงเลือกยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และอาศัยการตั้งรูปคดีว่า ต้องการใช้ตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น ไม่ใช่การตรวจสอบอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยตรง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ตัวอย่างเช่น ผู้ชุมนุมที่ถูกสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานเป็นผู้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่ศาลปกครองก็ไม่รับฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่าการคัดค้านการสลายการชุมนุมต้องไปฟ้องที่ศาลแพ่ง หรือกรณีประชาชนอย่างน้อย 4 คน ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง แยกเป็น 4 คดี จากเหตุไม่ได้รับเงินเยียวยาในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ศาลปกครองสั่งไม่รับฟ้องพร้อมกันทั้ง 4 คดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนของกระทรวงการคลังก่อน 
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมีแต่แนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น และรัฐบาลไม่สามารถแสดงถึงศักยภาพที่จะควบคุมโรคระบาดหรือดูแลประชาชนได้ ภาคส่วนอื่นของสังคมก็เริ่มเรียกร้องไปยังสถาบันตุลาการให้มีบทบาทการตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น 
2 กรกฎาคม 2564 มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสเฟซบุ๊กว่า ถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชน และวันต่อมาก็โพสย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า "นักกฎหมายต้องช่วยกันยืนยันว่า แม้แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่อาจยกเว้นความรับผิดในทางแพ่งและอาญาให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้" 
ด้านพรรคไทยสร้างไทย ได้จัดแคมเปญชวนประชาชนร่วมยื่นฟ้องรัฐบาลจากการบริหารแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมกับรณรงค์ด้วย #ฟ้องรัฐบาลฆาตกร เพียงข้ามคืนแรกของกิจกรรมนี้มีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 50,000 คน