‘ศบค.’ คืออะไร? เปิดโครงสร้าง และรายชื่อบุคคลเบื้องหลัง

เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ เพื่อใช้รับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 
ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้เหตุผลว่า “บัดนี้ ทุกฝ่ายเห็นว่าสถานการณ์ควรยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุดได้แล้ว เพื่อว่ารัฐจะสามารถนำมาตรการอื่นๆ มาบังคับใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม…”
(1) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน = ที่มาของอำนาจ
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นในปี 2548 และเริ่มประกาศใช้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่ออายุเรื่อยมาถึง 16 ปี และใช้เพื่อเพิ่มอำนาจควบคุมดูแลการชุมนุมหลายครั้ง กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อรับมือกับ "ภัยความมั่นคง" ในลักษณะที่มนุษย์ใช้ความรุนแรงต่อกันหรือเน้นการใช้กำลังฝ่ายทหารเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ได้ออกแบบมาใช้กับสถานการณ์โรคระบาด 
อย่างไรก็ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีลักษณะสำคัญ คือ ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับฝ่ายรัฐ โดยจำกัดความรับผิด สร้างระบบการตัดสินใจแบบรวมศูนย์อำนาจที่เด็ดขาดคล้ายในภาวะสงคราม การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในรอบนี้ให้ผลลัพธ์สำคัญ 2 ประการ ดังนี้
1. การออกข้อกำหนดหรือข้อห้าม เช่น การกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง การสั่งปิดสถานศึกษา การห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมรวมตัว การห้ามออกนอกเคหะสถานภายในเวลาที่กำหนด ไปจนถึงการห้ามนั่งทานอาหารในร้าน โดยข้อห้ามดังกล่าวนี้ ปรากฏให้เเห็น ‘การออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9’ ที่นับถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีข้อกำหนดออกมาแล้วมากถึง 26 ฉบับ (ฉบับล่าสุด ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564) และข้อห้ามต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามคนที่ตัดสินใจ
2. การโอนอำนาจเข้ามือนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งให้อำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาดโอนมาเป็นอำนาจของ ศบค. ที่มีตัวเองนั่งหัวโต๊ะ การออกคำสั่งรวบอำนาจนี้ให้เหตุผลว่า “เพื่อให้การสั่งการและแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ”
การโอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรี เคยออกประกาศมาแล้ว 3 ฉบับ ดังนี้
– ฉบับที่ 1 วันที่ 25 มีนาคม 2563 ว่าด้วยการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย ให้เป็นของนายกรัฐมนตรีชั่วคราว โดยมีขอบเขตครอบคลุมพระราชบัญญัติจำนวน 40 ฉบับ 
(ดูรายชื่อ พ.ร.บ. ทั้งหมดที่นี่)
– ฉบับที่ 2 วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ให้ยกเลิกการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย พระราชบัญญัติ 40 ฉบับข้างต้น เหลือเพียง 1 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
– ฉบับที่ 3 วันที่ 27 เมษายน 2564 ว่าด้วยการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย ให้เป็นของนายกรัฐมนตรีชั่วคราว โดยเพิ่มขอบเขตครอบคลุมพระราชบัญญัติจำนวน 31 ฉบับ 
(ดูรายชื่อ พ.ร.บ. ทั้งหมดที่นี่)
(2) กำเนิด ศบค. จากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ภายหลังการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำสั่งอีกหนึ่งฉบับสำคัญที่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน คือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง ‘การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่’ ซึ่งในประกาศฉบับดังกล่าวนี้เองที่ชื่อของ ‘ศบค.’ หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการศูนย์
ทั้งนี้ หน่วยงาน ‘ศบค.’ เป็นผลผลิตของความในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7 วรรค 3 ที่ว่า “ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้” และวรรค 5 ซึ่งระบุว่า 
“ในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการชั่วคราวได้จนกว่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”
อำนาจหน้าที่ของ ศบค. ที่ระบุไว้ในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 และ 13/2563 สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
(1) ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับการถ่ายโอนภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เท่าที่จำเป็นกระทั่งสถานการณ์ยุติลง
(2) จัดหาและบริการจัดการหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ จำหน่ายหรือแจกจ่ายแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
(3) แก้ไข เยียวยาความเสียหายจากการระบาด และให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ชดเชย เยียวยาประชาชน จำแนกมาตรการตามกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม (13/2563)
(4) จัดโครงสร้างขององค์กรและจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการตามเห็นสมควร
(5) ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
(6) จัดกำลังข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญ
(7) จัดชุดปฏิบัติการจากข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน เข้าระงับเหตุก่อความไม่สงบ หรือช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ฉุกเฉิน
(8) มอบหมายส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
(9) เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสาร หรือดำเนินการอื่นตามเห็นสมควร
(10) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
(3) โครงสร้างภายในของ ศบค.
การจัดโครงสร้างภายในของ ศบค. เป็นไปตามคำสั่งที่ออกมาทั้งหมด 8 ฉบับ โดยโครงสร้างแรก มาจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563  ได้อธิบายองค์ประกอบของ ศบค. ไว้ว่าประกอบไปด้วย 2 สำนักงาน และ 8 ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) รวม 10 ฝ่าย โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงตามกฎหมายเป็นหัวหน้าศูนย์ ดังนี้
(1) สำนักงานเลขาธิการ (รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง: ประธีป กีรติเรขา)
(2) สำนักประสานงานกลาง (เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ: พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา)
(3) ศปก.ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีติดเชื้อโควิด-19 (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข: นพ.สุขุม กาญจนพิมาย)
(4) ศปก.ด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน (ปลัดกระทรวงมหาดไทย: ฉัตรชัย พรหมเลิศ)
(5) ศปก.กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน (ปลัดกระทรวงมหาดไทย: ฉัตรชัย พรหมเลิศ)
(6) ศปก.ด้านการควบคุมสินค้า (ปลัดกระทรวงพาณิชย์: บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร)
(7) ศปก.มาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ: บุษยา มาทแล็ง)
(8) ศปก.ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ (ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย)
(9) ศปก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด: พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี)
(10) ศปก.ด้านมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด 19 (ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี: ธีรภัทร ประยูรสิทธิ)
ต่อมา ได้มีการทยอยประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีออกมา 3 ฉบับในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2563 – 21 เมษายน 2563 ว่าด้วยการเพิ่มศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ย่อยภายใต้ ศบค. ส่งผลให้มีศปก.เพิ่มขึ้นอีก 3 ฝ่าย ได้แก่
– คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 11/2563 : เพิ่ม (11) ศปก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนสั่งทั่วราชอาณาจักร (ปลัดกระทรวงคมนาคม: ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ)
– คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 15/2563 : เพิ่ม (12) ศปก.ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา (ปลัดกระทรวงการคลัง: ประสงค์ พูนธเนศ)
– คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 17/2563 : เพิ่ม (13) ศปก.ด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา (ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ: นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล)
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปครึ่งปี โครงสร้างของ ศบค. ก็ถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการออกประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 33/2563
ว่าด้วยการยุบ ศปก. ที่ (2) (4) (5) (6) (8) (10) (11) และ (12) และทำการจัดตั้ง ศปก.ใหม่ที่ชื่อ ‘ศปก.ศบค.’ (ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ศบค.ชุดเล็ก’  มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอย่าง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ รวมทั้งปรากฏรายชื่อของศาตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ 2 ราย ที่เข้ามามีบทบาทในฐานะ ‘ที่ปรึกษา’ เป็นรายชื่อลำดับที่หนึ่งและสอง ได้แก่ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร และ นายแพทย์อุดม คชินทร
หน้าที่หลักของ ศบค.ชุดเล็ก คือ การขับเคลื่อน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติงานของราชการ กลั่นกรอง เสนอแนะแนวทาง บูรณาการความร่วมมือ และแต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายงานให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
กระทั่งปลายปี 2563 ได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรของ ศบค. อีกครั้ง ผ่านประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 39/2563 โดยประกอบไปด้วยหน่วยงานย่อย 7 ฝ่าย ส่งผลให้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 โครงสร้างของ ศบค. มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(1) สำนักงานเลขาธิการ (รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง: ประทีป กีรติเรขา)
(2) ศปก.ศบค. (เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ: พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์)
(3) ศปก.ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีติดเชื้อโควิด-19 (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข: นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต)
(4) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย หรือ ศบค.มท. (ปลัดกระทรวงมหาดไทย: บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) >> เพิ่งเพิ่มเข้ามาให้ในประกาศฉบับนี้
(5) ศปก.มาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ: ธานี ทองภักดี)
(6) ศปก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด: พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์)
(7) ศปก.ด้านนวัติกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา (ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ: ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง)
(4) ศบค. = ศูนย์ บริหาร ‘คนสนิท..?’
นอกเหนือจากการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการย่อยด้านต่างๆ ภายใน ศบค. แล้ว ยังมีการออกประกาศแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา หรือ คณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะเรื่อง รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ เช่น การแต่งตั้งที่ปรึกษาธุรกิจภาคเอกชน ที่ปรึกษาด้านผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รายชื่อในประกาศการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว ได้ปรากฏรายชื่อบุคคลที่ ‘ซ้ำซ้อน’ กับรายชื่อใน ศปก.ศบค หรือ ศบค.ชุดเล็ก อยู่จำนวนหนึ่ง อีกทั้งยังเป็น ‘ความบังเอิญ’ อย่างยิ่งที่ บรรดารายชื่อดังกล่าวล้วนแต่เป็นบุคคลที่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาสมัยแรกทั้งสิ้น โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้
๐ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์: เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก (2561-2563) นายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และอดีตสมาชิกสนช. (2559-2562)
บทบาทหน้าที่ของ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ในฐานะเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ภายใต้ ศบค.
(1) ‘รองประธาน’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 22/2563 เรื่อง การตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
(และภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็น ‘ประธาน’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2564 เรื่อง ปรับปรุงองค์ประกอบการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว)
(2) ‘ผู้อำนวยการ’ ของ สปก.ศบค. ในการปรับโครงสร้าง ศบค. ตามประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 33/2563 ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียง 1 วัน
หมายเหตุ: การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 7 ปีที่ผ่านมา มีเป็นนายทหารระดับสูงได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 4 คน ประกอบไปด้วย พล.อ.ทวีป เนตรนิยม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา และพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ โดยทั้งหมดไม่เคยทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติมาก่อน
(3) ‘รองผู้อำนวยการคนที่ 1’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2564 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
(4) ‘ประธานกรรมการ’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
๐ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร: อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2558-2562) และกรรมการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์ เซล่า จำกัด ผู้ผลิตและดูแลการขายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
บทบาทหน้าที่ของนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ภายใต้ ศบค.
(1) ‘กรรมการ’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 22/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และภายหลังได้เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษา’ โดยอยู่ในรายชื่อลำดับที่หนึ่ง ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2564 เรื่อง ปรับปรุงองค์ประกอบการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว 
(2) ‘ประธาน’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 
๐ นายแพทย์อุดม คชินทร: อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (2560-2562) อดีตสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง (2562-2563) และเคยเป็นผู้นำการออกแถลงการณ์จากคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 สถาบัน ให้มีการปฏิรูปประเทศสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ กปปส. ในปี 2557 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  
บทบาทหน้าที่ของนายแพทย์อุดม คชินทร ภายใต้ ศบค.
(1) ‘กรรมการ’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 22/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และภายหลังได้เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษา’ โดยอยู่ในรายชื่อลำดับที่สอง ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2564 เรื่อง ปรับปรุงองค์ประกอบการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว
(2) ‘รองประธาน’ ในประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19