ศาลอังกฤษและสหรัฐฯ เน้นย้ำถึงสิทธิในการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี

ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2564 ในการพิจารณาคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลอาญาได้นำข้อกำหนดใหม่มาใช้ในทุกคดี โดยสั่งห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์บันทึกหรือจดคำพูดของผู้พิพากษา คู่ความ พยาน ที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยหลายคดีศาลไม่ได้ให้เหตุผลประกอบการห้าม แต่บางคดีศาลอธิบายด้วยวาจาว่า การห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีนั้นเป็นไปเพื่อไม่ให้ผู้สังเกตการณ์นำไปเขียนหรือรายงานอย่างผิดๆ ได้
การออกข้อบังคับนี้ของศาลถือว่า เป็นเรื่องใหม่ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่คดีจากการชุมนุมทางการเมืองทยอยขึ้นศาลมากขึ้น ทำให้ศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและต้องกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งที่จากการสังเกตการณ์คดีก่อนหน้านี้น้อยครั้งที่ศาลจะสั่งห้ามจดบันทึก เมื่อรวมกับระเบียบกฎเกณฑ์มากมายที่ทำให้การเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณายากขึ้นแล้ว หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย  ที่เป็นเสาหลักหนึ่งของสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) จึงเหลือเพียงการพิจารณาคดี “กึ่งเปิดเผย” 
บรรยากาศเช่นนี้จึงชวนให้ตั้งคำถามว่า การห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีเป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยหรือไม่ หรือการจดบันทึกนั้นมีประโยชน์หรือโทษอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรม 
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความหรือบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น “เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว” เป็นการให้ดุลพินิจและอำนาจแก่ศาลที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างกว้างขวางที่จะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งในการพิจารณาคดีเดินไปได้ แต่การใช้อำนาจนี้ก็ยังไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามอำเภอใจ แต่ต้องเป็นข้อกำหนดเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมาตรา 30 และไม่กระทบต่อหลักการพิจารณาคดีโดยเป็นธรรมและเปิดเผยด้วย
เมื่อลองดูตัวอย่างในต่างประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ประเด็นเรื่องการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีก็เคยเป็นประเด็นถึงกับขึ้นโรงศาลมาแล้ว แต่ศาลของทั้งสองประเทศก็ต่างยืนยันว่าการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีนั้นเป็นสิ่งที่ “พึงกระทำได้เป็นการทั่วไป” กล่าวคือ สาธารณชนสามารถจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน การจะสั่งห้ามใด ๆ นั้นต้องมีเหตุผลรองรับและบังคับใช้เป็นรายกรณีไป ไม่สามารถสั่งห้ามเป็นการทั่วไปได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการจดบันทึกจะเป็นเครื่องรับรองความโปร่งใสและประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเอง

ศาลสูงอังกฤษ : การจดบันทึกต้องทำได้ โดยไม่ต้องอนุญาตก่อน

สำหรับในประเทศอังกฤษ ในปี 2014 ชายคนหนึ่งชื่อ Terence Ewing ถูกศาลตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับของศาลที่ห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องไปถึงศาลสูงของอังกฤษ ศาลกลับเห็นว่าการสั่งห้ามการจดบันทึกเป็นการทั่วไปไม่สามารถทำได้ 
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นในการพิจารณาคดีของจำเลย Maurice Kirk ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่ามักจะสร้างความปั่นป่วนให้กับกระบวนการยุติธรรม เช่น การยื่นเอกสารหรือคำร้องที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ดังนั้น ก่อนที่การพิจารณาคดีจะเริ่ม ศาลแห่งเมือง Cardiff จึงออกข้อบังคับว่า “การจดบันทึกใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกจากห้องพิจารณาคดีไปได้ เมื่อเห็นดังนั้น Kirk จึงขอให้เพื่อนของเขา Ewing จดบันทึกให้แทนด้วยเหตุผลว่าตนหาแว่นไม่เจอและไม่สามารถเขียนได้ โดยศาลให้การอนุญาต
ในการพิจารณาคดีวันต่อมา Ewing กลับเข้ามาจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้ขออนุญาตศาลก่อน เมื่อศาลเห็นดังนั้นจึงได้กล่าวเตือนว่าเหตุใดจึงไม่ขออนุญาต Ewing ตอบกลับว่าเขา “เป็นประชาชนคนหนึ่ง และเท่าที่ทราบ ไม่มีกฎหมายใดที่ห้ามการจดบันทึก” ท้ายที่สุดแล้ว Ewing ถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล เพราะไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของศาลทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าตนไม่สามารถจดบันทึกได้
อย่างไรก็ดี Ewing ได้นำคดีละเมิดอำนาจศาลของตนเองยื่นให้กับศาลสูงของอังกฤษพิจารณา โดยศาลสูงไม่เห็นด้วยกับศาลแห่งเมือง Cardiff และเห็นว่าการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตก่อน ศาลสูงให้เหตุผลที่เชื่อมโยงการจดบันทึกในฐานะส่วนสำคัญของหลักยุติธรรมโดยเปิดเผย (Open Justice) กับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมไว้ดังนี้
“ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ถือว่าความยุติธรรมโดยเปิดเผยนั้นเป็นหัวใจหลักของหลักนิติธรรม … แง่มุมที่สำคัญของหลักการนี้คือความยุติธรรมต้องดำเนินการในทางสาธารณะ หลักปฏิบัติโดยทั่วไป คือ สาธารณชนหรือสื่อมวลชนจะต้องมีสิทธิในการเข้าห้องพิจารณาคดีได้ ความสำคัญของสื่อมวลชนก็คือพวกเขาจะรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ความยุติธรรมโดยเปิดเผยช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาตรฐาน รับรองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในศาลจะได้รับการตรวจสอบจากสาธารณชน และช่วยรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมโดยเปิดเผยยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับกระบวนการในศาลอีกด้วย”
“The common law has long upheld the principle that open justice is central to the rule of law.  An important aspect of the principle is that justice must be administered in public. The general rule is that the public and representatives of the media have the right to attend court hearings. The importance of the presence of the media is that they may report what occurs. Open justice helps to keep all those involved in the process up to the mark. It ensures public scrutiny of what is being done in the courts and assists in maintaining public confidence in the administration of justice. It also reduces the risk of inaccurate and ill-informed comment on court proceedings.”
ดังนั้น ศาลสูงของอังกฤษจึงวางหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยไว้ว่า ใครก็ตามที่เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีต้องมีสิทธิในการจดบันทึกได้ไม่ว่าจะด้วยเพื่อการใช้งานในภายหลังหรือเพียงเพราะความสนใจส่วนบุคคล โดยสิทธินี้ต้องเป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไป มิใช่การห้ามเป็นหลัก และอนุญาตให้จดเป็นเรื่องยกเว้นอย่างที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้ หากศาลต้องการจะออกคำสั่งห้ามจดบันทึก ศาลจำเป็นต้องมีเหตุผลอันดีพอที่จะอธิบายได้ว่าการจดบันทึกนั้นจะแทรกแซงหรือส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร เช่น การจดเพื่อให้ข้อมูลกับพยานที่ไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดี แต่โดยทั่วไปแล้ว การจดบันทึกต้องเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ในศาลโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตก่อน

ศาลอเมริกา : การจดบันทึกเพื่อยืนยันความถูกต้อง การสั่งห้ามจดไม่ช่วยให้ได้รับข้อมูลที่ดีขึ้น

ศาลของสหรัฐอเมริกาก็ยืนยันถึงสิทธิในการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีเช่นเดียวกัน ในปี 2004 Jona Goldschmidt ฟ้องผู้พิพากษาศาลแขวงแห่ง Cook County รัฐ Illinois ข้อหาละเมิดสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 (1st Amendment) ซึ่งให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุม จากการที่ศาลสั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี 
เรื่องราวในคดีนี้มีอยู่ว่า Goldschmidt เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายอาญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยเธอนั้นมักจะให้นักศึกษาของตนเองไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีพร้อมจดบันทึกกลับมาเสมอ อย่างไรก็ตาม เธอกลับเริ่มได้ยินจากนักศึกษาว่าศาลมักไม่อนุญาตให้มีการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี Goldschmidt จึงเดินทางไปศาลเพื่อลองจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี ผลปรากฏว่าเมื่อศาลเห็น ศาลจึงแจ้งว่าไม่สามารถจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีได้ Goldschmidt จึงถามกลับว่า “ทำไมจะไม่ได้” จากนั้นเธอจึงถูกเชิญออกจากห้องพิจารณาคดี
ด้วยเหตุนี้ Goldschmidt จึงยื่นคำร้องให้ศาลเขตพิจารณาว่า การสั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 หรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นมีนัยยะที่รวมเสรีภาพในการเข้าถึงศาล (Rights of Access to the Courts) ตามหลักที่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาเคยวางเอาไว้ในคำตัดสินก่อนหน้านี้ การห้ามจดบันทึกและนำตัวเธออกจากห้องพิจารณาคดีจึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ หลังจากนั้น ศาลแขวงที่ตกเป็นจำเลยพยายามยื่นคำร้องให้ศาลเขตยกฟ้องโดยอ้างว่าเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้มาตรการใดๆ ก็ตามที่จำเป็น เช่น การห้ามการจดบันทึก เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ศาลเขตตัดสินไม่รับคำร้องของจำเลยหรือศาลแขวง และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมดังนี้
“สิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยหรือกระบวนการในศาลอื่นๆ เป็นสิทธิตามบทบัญญัติข้อที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ เพราะการตรวจสอบการพิจารณาคดีอาญาโดยสาธารณชนจะเพิ่มประสิทธิภาพและพิทักษ์ความเชื่อมั่นของกระบวนการสรรหาข้อเท็จจริง โดยที่ทั้งจำเลยและสังคมในภาพรวมจะได้ประโยชน์ร่วมกัน”
“ในสังคมของเรา อย่างช้าที่สุดก็ในช่วงมัธยมปลาย นักเรียนต่างถูกสอนและคาดหวังให้จดบันทึกในห้องเรียน สัมมนา หรือในห้องสมุดเพื่อจะได้สามารถกลับมาทบทวนสิ่งที่ตนเองได้ยินหรืออ่านมาได้ สิ่งนี้ทำให้นักเรียนสามารถประเมินและสื่อสารเรื่องราวได้ถูกต้องมากขึ้น การจดบันทึกนั้นเป็นไปเพื่อยืนยันความถูกต้อง คำตัดสินของจำเลย [ผู้พิพากษาที่ห้ามจดบันทึก] สั่งห้ามใครก็ตามที่จดบันทึกอย่างเงียบสงบในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นครู นักเรียน ทนายความของกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะมีผลประโยชน์เดียวกัน และผู้สังเกตการณ์ในห้องพิจารณคดีหรือผู้ประเมินประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของศาลจากกลุ่มสังคมอื่นๆ หรืออาจจะเป็นคนทั่วไปที่สนใจก็ได้ การสั่งห้ามการจดบันทึกนั้นไม่ช่วยให้การถกเถียงสาธารณะได้รับข้อมูลที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน มันอาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับความรับรู้ของคนทั่วไปได้”
“The right of access to public trials and other court proceedings is required by the First Amendment to the Constitution, because public scrutiny of a criminal trial enhances the quality and safeguards the integrity of the fact-finding process, with  benefits to both the defendant and to society as a whole.”
“In our society, starting no later than junior high school, students are taught and expected to take notes at lectures, seminars, and in libraries so that they may have the ability to revisit what they have heard or read. This allows them more fully and accurately to evaluate and communicate the subject matter. Notes are taken to insure accuracy. The defendant’s rule interdicts all who quietly take notes at a public trial, be they teachers, students, lawyers representing non-parties who may have similar interests, and courtroom monitors and evaluators of judicial performance representing public interest groups, or simply interested members of the public. A prohibition against note-taking is not supportive of the policy favoring informed public discussion; on the contrary it may foster errors in public perception.”
อีกประเด็นหนึ่งที่ศาลแขวงอ้างว่า สิทธิในการเข้าฟังการพิจารณาคดีนั้นเป็นเพียงการเข้าไปอยู่และฟังในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น โจทก์ซึ่งไม่ได้เป็นสื่อมวลชนจึงไม่มีสิทธิในการจดบันทึก ศาลเขตแย้งว่า สิทธิของสื่อมวลชนในการเข้าห้องพิจารณาคดีนั้นมีต้นกำเนิดมาสิทธิที่พึงมีสาธารณชน ไม่ใช่เรื่องแยกขาดจากกัน สื่อไม่ได้มีสิทธิมากกว่าคนทั่วไปในห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธิในการจดบันทึกจึงเป็นของทั้งสาธารณชนและสื่อทั้งคู่
ศาลเขตยังเสริมอีกว่าข้ออ้างเพียงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อปกปิดข้อมูลที่อาจจะละเอียดอ่อนนั้นไม่เพียงพอต่อการออกคำสั่งห้ามการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี และมีวิธีอื่นอีกมากมายที่สามารถนำมาใช้ได้นอกจากการสั่งห้ามการจดบันทึก การจำกัดสิทธิใดๆ จำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวังที่สุด ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมต้องเสียหายได้