เปิดข้อกฎหมายว่าด้วย CAR-MOB

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้เชิญชวนคนมาทำกิจกรรม CAR-MOB หรือการจัดขบวนประท้วงรัฐบาลในลักษณะของการชุมนุมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวของใครของมัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโควิด โดยจะเริ่มรวมตัวกันที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 17.00 น. จากนั้น จะค่อยๆ เคลื่อนขบวนไปทางถนนราชดำเนินนอกเพื่อไปยังทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับจะบีบแตรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 
โดยที่มาของการบีบแตรไล่นั้น สมบัติ ให้เหตุผลว่า "เวลาขับรถไปเจอทางโค้งที่มองไม่เห็นกันหรือมุมอับ คนทั่วไปมักจะบีบแตรเป็นสัญญาณอัตโนมัติ จึงนำมาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่มองไม่เห็นอนาคต" และ สมบัติ หรือ บก.ลายจุด จะทำหนังสือถึงตำรวจเพื่อชี้แจงว่าการบีบแตรของเรา ไม่ได้มีเจตนาก่อกวนประชาชนทั่วไป เป็นการแสดงออกทางการเมือง โดยตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะมีรถเข้าร่วมประมาณหลักร้อยคัน
หลังการประกาศจัด CAR-MOB พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่าการจัดกิจกรรมบีบแตรจะมีความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) เรื่องห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวหากรวมกลุ่มกันเกิน 20 คน ก็ถือว่ามีความผิด และต้องยึดรถที่เป็นตัวการสนับสนุนด้วย
อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมฯ ก็พบว่า แค่การทำ CAR-MOB ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ต้องมีการกระทำความผิดเป็นพิเศษ เช่น รวมกลุ่มที่ก่อให้เกิดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล การใช้เสียงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด หรือ การขับรถโดยประมาทไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น เป็นต้น
จัดกิจกรรมรวมกลุ่มไม่เท่ากับผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เสมอไป
หากพิจารณาจากข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 25 จะพบว่า ในข้อ 4 (4) ได้กำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไว้ว่า
"ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการ 'รวมกลุ่มของบุคคล' ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค"
จากบทบัญญัติข้างต้น แม้จะเป็นการจำกัดกิจกรรม แต่เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของ "บุคคล" หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสัมผัสใกล้ชิดหรือการรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เพราะถ้าห้ามรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 20 คน ทุกกรณี การที่ข้อกำหนดดังกล่าวยังปล่อยให้มีการเปิดห้างสรรพสินค้าก็คงจะเป็นไปไม่ได้
ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบกับกรณี CAR-MOB ก็จะพบว่า มีความพยายามในการลดการรวมกลุ่มที่ทำให้เกิดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล เป็นการรวมกลุ่มที่มีระยะห่างเหมือนการขับรถบนท้องถนน ดังนั้น กรณี CAR-MOB จะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ต้องดูลักษณะการรวมกลุ่มของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสำคัญ
อีกทั้ง จากผลวิจัยในห้องทดลองหลายประเทศ ยืนยันตรงกันว่าการรวมตัวในพื้นที่โล่งแต่อากาศถ่ายเท ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเทียบเท่ากับอากาศไม่ถ่ายเทและห้องปิด ปัจจัยในการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายเทของอากาศ เพราะฉะนั้นต่อให้มีการรวมตัวกันในรูปแบบของการชุมนุม ไม่ได้หมายความว่าจะมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคในวงกว้างแต่อย่างใด
บีบแตรไล่ประยุทธ์ จะผิดก็ต่อเมื่อใช้เสียงเกิน 115 เดซิเบล
เมื่อเปิดดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เสียง จะพบว่า "การบีบแตร" ในกิจกรรม CAR-MOB จะเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อใช้เสียงเกินกว่าที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนด โดยหลักเกณฑ์ของการใช้เสียงถูกกำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) ว่า ระดับเสียงโดยทั่วไปคือ ต้องไม่มีค่าระดับเสียงสูงสุดเกิน 115 เดซิเบลเอ และ ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ
ทั้งนี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก ได้กำหนดเสียงแตรสัญญาณไว้แล้วว่า ให้มีได้แค่เสียงเดียวและดังไม่น้อยกว่า 90 – 115 เดซิเบล เอ ดังนั้น การบีบแตรในกิจกรรม CAR-MOB จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนหรือมลพิษทางเสียง อีกทั้ง การชุมนุมดังกล่าว ยังเป็นการชุมนุมระยะสั้น โดยจะบีบแตรตอนหน้าทำเนียบเท่านั้น จึงเป็นการใช้เสียงที่จำกัดวง และบริเวณนั้นไม่มีบ้านเรือน ในวันเสาร์โรงเรียนไม่ได้เปิด หน่วยราชการไม่ได้ทำงาน ถึงแม้ว่าอาจก่อความรำคาญแก่ผู้ร่วมทางแต่ไม่ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบได้
Car Mob จะเป็นความผิด ถ้ากีดขวาง-ขับรถอันตราย แต่ตำรวจยึดรถเองไม่ได้
เมื่อเปิดดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะ อาทิ พ.ร.บ.จราจรทางบกจะพบว่า การทำ CAR-MOB จะเป็นความผิดได้ ต้องเป็นการกระทำความผิดตาม มาตรา 43 อย่างเช่น การขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร หรือ การขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน หรือ การขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ดังนั้น ถ้าการทำ CAR-MOB เป็นการขับขี่รถยนต์คล้ายปกติทั่วไป เพียงแต่มีจุดหมายปลายทางคือ บริเวณทำเนียบรัฐบาล และจะมีการบีบแตรไล่รัฐบาล การขับรถดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการขับรถที่อันตรายจนจะเกิดความเสียหายหรือสร้างความเดือดร้อนและไม่ปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถผู้ใช้ถนนรายอื่นๆ
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า ถ้ากระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก ให้ถือว่ารถเป็นรถที่ใช้ในการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนอาจจะดำเนินการยึดรถไว้เป็นของกลางได้นั้น เป็นเรื่องจริงที่ตำรวจกระทำได้ แต่ต้องกระทำภายใต้การร้องต่อศาลให้ริบทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ไม่ใช่ตำรวจมีอำนาจในการยึดหรือริบทรัพย์ด้วยตัวเอง 
โดยกฎหมายที่อนุญาติให้ตำรวจสามารถยึดรถได้ ได้แก่
 ๐ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 
– มาตรา 5 เปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์
– มาตรา 6 รถไม่จดทะเบียนหรือจดทะเบียนและไม่เสียภาษี
– มาตรา 11 ไม่ติดแผ่นป้ายและเครื่องหมาย
– มาตรา 13 เปลี่ยนสีรถ
– มาตรา 14 เปลี่ยนแปลงตัวรถ
– มาตรา 18 นํารถออกนอกราชอาณาจักร
– มาตรา 42 ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตและสําเนาคู่มือฯ
– มาตรา 67 สับเปลี่ยน,ปิดบังแผ่นป้ายเครื่องหมาย
๐ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 
– มาตรา 7 ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน
– มาตรา 43 ขับขี่รถยนต์โดยประมาทหรืออันตราย
– มาตรา 134 ขับขีรถเพื่อการแข่งขัน