“นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ความฝันไล่เผด็จการของคนพฤษภาฯ 35

24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อันประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีนัดลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 13 ฉบับ แต่มีร่างรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวที่ผ่านสภา คือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 ในขณะที่ข้อเสนอสำคัญทางการเมืองอย่างการให้ นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. และการตัดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกฯ ถูกปัดตกไป
หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ข้อเสนอให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. หรือการระบุ ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เป็นการต่อสู้และการผลักดันของประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ปฏิเสธหลักการดังกล่าว และการที่บรรดา ส.ว.แต่งตั้ง ปัดตกข้อเสนอเพื่อยืนยันหลักการดังกล่าว จึงไม่ใช่แค่การหมุนทวนเข็มนาฬิกาให้ประเทศถอยหลัง แต่ยังเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อความฝัน เลือดเนื้อ และชีวิตของวีรชนที่จากไป
การรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของ รสช.
23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะทหารในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะกับพวก ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยระบุความจำเป็นในการยึดอำนาจไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ว่า รัฐบาลมีการทุจริตคอรัปชัน การข่มเหงข้าราชการประจำโดยข้าราชการการเมือง การเป็นเผด็จการรัฐสภา และการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุแห่งการยึดอำนาจ 
จากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม 2534 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสิ้นผลไปโดยประกาศรสช.ฉบับที่ 3 ตามธรรมนูญดังกล่าว พล.อ.สุนทร ในฐานะหัวหน้ารสช. ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ ขณะที่สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติก็จะมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายบริหารประเทศร่วมกับรัฐบาล เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่าทำรัฐประหารเพราะหวังอำนาจ หลังจากนั้น พล.อ.สุนทร จึงเสนอชื่อ อานันท์ ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ตัวพล.อ.สุจินดาเองก็ประกาศว่าตัวเองจะไม่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ รัฐบาลชั่วคราวมีภารกิจสำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต่อมา ในเดือนธันวาคม 2534 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2534 เพื่อมาแทนธรรมนูญการปกครอง ปี 2534 ของคณะรัฐประหาร และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในปี 2535 โดยผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคสามัคคีธรรมซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคนอมีนีของรสช. ที่มีณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าชนะการเลือกตั้ง ครองเสียงสูงสุดในสภา (79 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง) และสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองอีก 4 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง) พรรคกิจสังคม (31 ที่นั่ง) พรรคประชากรไทย (7 ที่นั่ง) และพรรคราษฎร (4 ที่นั่ง) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ทว่า การเตรียมเสนอชื่อ 'ณรงค์ วงศ์วรรณ' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีเหตุให้ต้องสะดุด เมื่อเขาถูกทางการสหรัฐปฏิเสธการออกวีซ่า ด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาพัวพันกับการค้ายาเสพติด จนทำให้พรรคสามัคคีธรรมต้องหันไปเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะ 'รสช.' เป็นนายกฯ และทำให้ประชาชนเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า รสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ
จากเสียสัตย์เพื่อชาติสู่การสูญเสียของพี่น้องประชาชน
แม้ พล.อ.สุจินดรา คราประยูร จะกล่าวช่วงที่รับตำแหน่งนายกฯ ว่า "…ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า ‘จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี’ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวว่า เพราะความเป็นทหารที่เรามีคติประจำใจว่า เรายอมเสียสละได้แม้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความจำเป็นที่เราจะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นการเสียชื่อเสียง เสียสัจจะวาจาก็อาจจะเป็นความจำเป็น…" แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อคณะรัฐประหารในนาม รสช. ลดน้อยลง 
ในทางกลับกันกระแสการชุมนุมประท้วงรสช.เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่พล.อ.สุจินดาจะรับตำแหน่งในเดือนเมษายน 2535 แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2534 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) องค์กรเคลื่อนไหวของนักศึกษาจัดการชุมนุมต่อต้านการโหวตวาระสามเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะเปิดทางให้ "คนนอก" ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันข้อเรียกร้อง  “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง” – “รสช. ต้องหยุดสืบทอดอำนาจ” ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว ดังนั้น การเข้ารับตำแหน่งของพล.อ.สุจินดาในเดือนเมษายน 2535 จึงเป็นเสมือน "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลและรสช. ครั้งใหญ่ โดยกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและขบวนการนักศึกษามีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว 
การเคลื่อนไหวต่อต้านพล.อ.สุจินดานับจากช่วงเดือนเมษายน 2535 มีผู้เข้าร่วมหลายคนที่ยังมีบทบาททางการเมืองจนถึงทุกวันนี้ เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ขณะนั้นเคลื่อนไหวอยู่กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมชาย ปรีชาศิลปกุล กับ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นร่วมเคลื่อนไหวในนามสนนท. นอกจากนี้ ยังมี ร.ต.ฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนไหวคนสำคัญในช่วงเหตุการณ์ ปี 2535 ที่ประกาศอดอาหารประท้วงหน้ารัฐสภา และประกาศจะอดอาหารตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2535 ไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคที่ไม่สนับสนุนให้คนกลางหรือคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.สุจินดา ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ โดยมีการเปิดปราศรัยต่อต้านพล.อ.สุจินดาในพื้นที่กรุงเทพ และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศตัวเป็นแกนนำคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา 
หลังการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ที่มีประชาชนทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมที่สนามหลวงไม่ต่ำกว่า 500,000 คน พร้อมกำหนดเส้นตายให้ พล.อ.สุจินดาลาออกโดยทันที แต่เมื่อไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกทหารและตำรวจสกัดและมีการปะทะกันที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ต่อมา พล.อ.สุจินดาตอบโต้โดยใช้อำนาจพิเศษ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2495 โดยออกประกาศห้ามชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคน ทว่าการชุมนุมยังดำเนินต่อไป โดยมีทหารและตำรวจประมาณ 6,000 นาย พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะ เข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ จนเป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและมีบางส่วนสูญหาย ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 44 คน สูญหาย 38 คน (ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้การรับรอง) พิการ 11 คน บาดเจ็บสาหัส 47 คน และบาดเจ็บรวม 1,728 คน
ต่อมา ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม พร้อมด้วย พล.อ.สุจินดา ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าในช่วงค่ำ ก่อนที่ พล.อ.สุจินดา จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองก่อนประกาศลาออกและเดินทางออกนอกประเทศช่วงสั้นๆ นับว่าเป็นปัจฉิมบทของการต่อสู้ขับไล่การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในยุคดังกล่าว
รัฐธรรมนูญ 60 การหมุนทวนเข็มนาฬิกาของคณะรัฐประหาร
จากข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งที่ต้องแลกมากับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง โดยมี ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ยืนหยัดอดอาหารเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะในการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย และมีหมุดหมายหนึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
จนกระทั่งในปี 2538 บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขี้นมา และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ได้สำเร็จ กลายเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 มีสาระสำคัญคือให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อรัฐสภา ก่อนจะกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 
เพื่อป้องกันอำนาจนอกระบบและการแทรกแซงของทหารในการเมือง รวมทั้งเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งประกาศเจตนารมณ์ตอนหนึ่งในอารัมภบทว่า "…สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น…" จึงได้กำหนดอย่างชัดเจนในมาตรา 201 วรรค 2 ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่พ้นจากสมาชิกภาพเพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ในอายุสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการส.ส. เป็นการสร้างความเชื่อมโยงและความรับผิดชอบให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.มีพันธะต้องปฏิบัติตามเจตจำนงค์ของผู้เลือกตั้ง นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันด้วยว่าผู้บริหารประเทศจะต้องมีที่มาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แม้ประชาชนจะไม่ใช่ผู้ลงคะแนนเลือกนายกโดยตรงก็ตาม 
หลักการนี้กลายเป็นหลักปฏิบัติและเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จะทำการรัฐประหารในปี 2549 ยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 พร้อมกับทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยกระบวนการร่างที่กำหนดเอง มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทั้งการปรับให้ สว.มีที่มาทั้งจากการเลือกตั้งและสรรหา จากเดิมที่มาจากเลือกตั้งทั้งหมด แต่หลักการที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ยังคงไม่ถูกทำลาย มาตรา 171 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
แต่จนแล้วจนรอด หลักการดังกล่าวก็ถูกเขี่ยทิ้งอีกครั้ง หลังการรัฐประหารในปี 2557 ที่นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการลอกเลียนจากรัฐธรรมนูญภายใต้คณะรัฐประหารในอดีตมาหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการเปิดทางให้ นายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส. หรือ การทำลายหลักการ "นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง" ลง หรือเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้พาเราย้อนกลับไปสู่การเมืองเมื่อ 29 ปี ที่แล้ว ที่นายกไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน โดยไม่แยแสต่อผู้วายชนน์ที่เสียชีวิตเพื่อสถาปนาหลักการ "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" แต่อย่างใด