ถอดรหัสการลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ – ส.ว. โหวตแบบ “ไม่สนโลก”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อันประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีนัดลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 14 ฉบับ โดยผลของการลงมติครั้งดังกล่าว พบว่า มีร่างรัฐธรรมนูญถึง 13 ฉบับที่ถูกตีตกหรือไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา ทั้งๆ ที่ ร่างรัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ 
โดยสาเหตุที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถึง 13 ฉบับต้องตกไป มาจากเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่า จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันเกินกึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 367 เสียง และจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียง  แต่ผลการลงมติดังกล่าว พบว่า มีเพียงร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์เพียงร่างเดียวที่ได้รับเสียงจาก ส.ว. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
อย่างไรก็ดี จากการตรวจดูผลการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ พบว่า การลงมติของ ส.ว. เป็นไปอย่าง “ไม่สนโลก” ไม่ว่าจะเป็นการลงมติเพื่อขัดขวางเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ การขาดประชุมของ ส.ว. ที่ควบตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ หรือ การเปลี่ยนจุดยืนของ ส.ว. ที่เคยลงมติปิดสวิตซ์ ส.ว.
ถ้าไม่มี ส.ว. ร่างแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านทุกร่าง
หากการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคสอง ไม่มีวุฒิสภา หรือ ส.ว. ร่วมลงมติด้วย หรือถ้าหากประเทศไทยใช้สภาเดี่ยว ไม่มี ส.ว. อยู่แล้ว ผลการลงมติในส่วนของ ส.ส. ทั้ง 13 ร่าง คือ "ผ่าน" ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกติกาแบบที่อาศัยเสียงกึ่งหนึ่งของสภา หรืออาศัยเสียง 2 ใน 3 ก็ "ผ่านทุกร่าง"
โดยผลการลงมติเฉพาะส่วนของ ส.ส. เป็นดังนี้
๐ ร่าง 1  ร่างพรรคพลังประชารัฐ แก้ระบบเลือกตั้งและอื่นๆ
รับหลักการ 335 เสียง ไม่รับ 71 เสียง งดออกเสียง 75 เสียง 
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 2  ร่างพรรคเพื่อไทยเพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน
รับหลักการ 394 ไม่รับ 8 เสียง งดออกเสียง 79 เสียง 
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 3 ร่างพรรคเพื่อไทย แก้ระบบเลือกตั้ง
รับหลักการ 341 เสียง ไม่รับหลักการ 18 เสียง งดออกเสียง 122 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 4  ร่างพรรคเพื่อไทย แก้ที่มานายกฯ-ปิดสวิตซ์ ส.ว.
รับหลักการ 441 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 32 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 5 ร่างพรรคเพื่อไทย รื้อมรดกคสช. 
รับหลักการ 327 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 146 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 6 ร่างพรรคภูมิใจไทย ทำให้ยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขได้
รับหลักการ 420 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 7 ร่างพรรคภูมิใจไทย สร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า
รับหลักการ 422 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 51 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 8 ร่างพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน
รับหลักการ 422 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 51 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 9 ร่างพรรคประชาธิปัตย์ ตัดอำนาจ ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญ
รับหลักการ 401 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 72 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 10 ร่างพรรคประชาธิปัตย์ แก้การตรวจสอบ ป.ป.ช.
รับหลักการ 399 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 74 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 11 ร่างพรรคประชาธิปัตย์ แก้ที่มานายกฯ-ปิดสวิตซ์ ส.ว.
รับหลักการ 441 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 32 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 12 ร่างพรรคประชาธิปัตย์ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
รับหลักการ 408 เสียง ไม่รับหลักการ 8 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
๐ ร่าง 13 ร่างพรรคประชาธิปัตย์ แก้ระบบเลือกตั้ง
รับหลักการ 343 เสียง ไม่รับหลักการ 19 เสียง งดออกเสียง 119 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3 เสียง
 
 
 
ส.ว. หัก พปชร. ไม่รับร่างเลย แม้แต่คนเดียว
ผลการลงมติ ร่างฉบับที่ 1 ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ โดยการนำของไพบูลย์ นิติตะวัน มีผู้รับหลักการ 335 เสียง ไม่รับหลักการ 198 เสียง งดออกเสียง 174 เสียง ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง โดยทั้ง 335 เสียงที่รับหลักการ เป็น ส.ส. ทั้งหมด แต่ทว่า ไม่มี ส.ว. แม้แต่คนเดียวที่ลงมติรับหลักการร่างฉบับนี้ และเสียงของ ส.ว. ที่ไม่รับหลักการคิดเป็น 127 เสียง งดออกเสียง 99 เสียง
โดยข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพลังประชารัฐ ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ แยกได้เป็น 5 ประเด็น 13 มาตรา เป็นร่างฉบับเดียวที่เสนอเป็นแพกเกจ เอาทุกประเด็นมาเสนอพร้อมกันเป็นฉบับเดียว ได้แก่
1. เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ยกข้อความจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้
2. แก้ระบบเลือกตั้งกลับไปคล้ายปี 2540 ใช้บัตรสองใบ และยกเลิก Primary Vote
3. ลดความเข้มงวดเรื่องโทษกรณี ส.ส. ส.ว. กรณีแปรญัติให้ใช้งบประมาณ (แก้มาตรา144)
4. เลิกห้าม ส.ส. ส.ว. แทรกแซงราชการ (แก้มาตรา 185)
5. ส.ส. ขอร่วมดันแผนปฏิรูปประเทศกับ ส.ว. 
ดูรายละเอียดของร่างนี้ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5882
ก่อนการประชุม ร่างฉบับนี้ถูกคัดค้านจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ว่าจะลดทอนกลไกปราบโกง ตามมาตรา 144 และ 185 โดยมี ส.ว. บางคนออกมาแถลงว่า จะไม่รับร่างฉบับนี้ ทำให้ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งอภิปรายเปิด ต้องบอกว่าจะยอมถอยในประเด็น มาตรา 144 และมาตรา 185 ในวาระที่สอง เพื่อให้รับร่างฉบับนี้ไปก่อน
นอกจากนี้ พรรคการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกล ก็อภิปรายร่างฉบับของพรรคพลังประชารัฐอย่างหนักหน่วงว่า เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. ภาคสอง โดยการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐ 
ระหว่างการอภิปราย มี ส.ว. หน้าประจำหลายคน เช่น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, คำนูณ สิทธิสมาน ต่างกล่าวถึงร่างของพรรคพลังประชารัฐในทางที่ไม่ดี แต่ก็บอกเพียงว่า จะรอฟังการอภิปรายก่อนตัดสินใจลงมติ
ด้านอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ร่างฉบับที่ 1 ซึ่งเสนอโดยไพบูลย์ นิติตะวัน และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นการเขียนแบบ “ถอยหลังเข้าคลอง” เนื่องจากจะนำไปสู่การเจาะช่องโหว่ที่เอื้อให้เกิดการทุจริต ซึ่งแต่เดิม รัฐธรรมนูญ 2560 ได้อุดช่องว่างนี้ไว้เป็นอย่างดีแล้ว
นอกจากนี้ เหตุผลในการแก้ไขดังกล่าวยังโต้แย้งได้ด้วย “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” โดยหน้าที่ของรัฐสภาคือการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารก็จะมีข้าราชการประจำเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้ ดังนั้น ส.ส. และ สว. ไม่มีหน้าที่เข้าไปล่วงเกินการทำงานของข้าราชการ ไปร่วมใช้งบประมาณ หรือใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงโครงการในพื้นที่ หากส.ส. ส.ว. ต้องการช่วยเหลือประชาชน ขอบเขตหน้าที่จะอยู่แค่การกำกับการทำงานของครม. การประสานงาน และการให้แนะนำ แต่เพียงเท่านั้น ซึ่งหากมีกรณีการแปรญัตติงบไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม กลายเป็นว่า “ใครมือยาวสาวได้สาวเอา” 
41 ส.ว. เปลี่ยนจุดยืน ไม่ตัดอำนาจตัวเอง
ศึกการ #แก้รัฐธรรมนูญ ยกสองจบลงไปด้วยความน่าผิดหวัง เมื่อ 24 มิถุนายน 2564 ส.ว. ลงมติ "ไม่รับหลักการ" ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
ในบรรดาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ร่างที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้มีทั้งหมด 2 ฉบับ คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยส.ส. พรรคเพื่อไทย (ร่างที่ 4) และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ร่างที่ 11)
ตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 60 การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่หนึ่ง จำเป็นต้องได้รับเสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 375 เสียง โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด หรือคิดเป็น 84 เสียงอยู่ด้วย เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นไปอย่างยากลำบาก
หากยังจำกันได้ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งรัฐสภาพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่แล้ว ในวาระที่หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ซึ่งมาจากการล่ารายชื่อประชาชนกว่า 100,732 ชื่อ และเสนอให้ รื้อ สร้าง  ร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ และ "ปิดสวิตช์ส.ว. ตัดกลไกคสช. ยุติการสืบทอดอำนาจ"  ถูกส.ว. ปัดตก ปิดทางเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่สอง เพราะมี ส.ว. เพียง 56 คนเท่านั้นที่ลงมติ "รับหลักการ" จากเงื่อนไขทั้งหมดที่ต้องการเสียงของส.ว. ถึง 84 คน ศึกการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ บรรดาส.ว. ที่เคยโหวตตัดอำนาจตัวเองในครั้งก่อน กลับเปลี่ยนอุดมการณ์จากเดิม เหลือเพียงแค่ 15 คนเท่านั้นที่ "รับหลักการ" ให้ปิดสวิตช์ส.ว. และส.ว. ถึง 41 คนที่เปลี่ยนจุดยืนของตนเอง
มาในวันนี้ พรรคการเมืองแทบทุกพรรคในสภาผู้แทนราษฎรต่างเสนอเรื่องร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งข้อเสนอการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกยกเลิกอำนาจส.ว ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในข้อเสนอสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากส.ส. หลายพรรคการเมือง ผลการลงมติในวาระแรก ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจส.ว. ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ได้รับการเห็นชอบอย่างถล่มทลายถึง 456 เสียงจาก 733 เสียงในรัฐสภา ขณะที่ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจส.ว. ของพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกรัฐสภารับหลักการถึง 459 เสียง
แม้ว่า ส.ส. จากทุกพรรคจะร่วมกันลงคะแนนเสียงให้ยกเลิกอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ (439 จาก 484) แต่ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกอำนาจส.ว. ทั้งฉบับที่พรรคเพื่อไทยและฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ ก็ต้องตกไปเพราะ ส.ว. ลงมติ "ไม่รับหลักการ" ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มาลดอำนาจตัวเอง มี ส.ว. เพียง 15 คนที่ลงมติให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และส.ว. อีก 19 คนที่โหวตให้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์จากที่ต้องการถึง 84 เสียง เท่ากับว่ามี ส.ว. 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ลงมติเห็นชอบ
เมื่อเปรียบเทียบกับการลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ คราวก่อน ส.ว. ที่เคยเห็นชอบในครั้งที่แล้วแต่เปลี่ยนจุดยืนไม่ลงมติปิดสวิตช์ตัวเองในครั้งนี้ถึง 41 คน โดยส.ว. ที่เคยโหวต "ไม่รับหลักการ" ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วทุกคน ก็ยังคงโหวตไม่รับหลักการ ปิดโอกาส "ปิดสวิตช์ ส.ว."
เสนอ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." เหมือนกัน แต่ ส.ว. โหวตไม่เหมือนกัน
ในญัตติร่างแก้รัฐธรรมนูญมีร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ฉบับที่มีเนื้อหาและหลักการที่ใกล้เคียงกัน คือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 4 กับ ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ฉบับที่ 11 โดยสาระสำคัญของร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับคือ การเพิ่มช่องทางของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้มาจาก ส.ส. กับ การปิดสวิตซ์ ส.ว. หรือ การยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกฯ
แต่ทว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะมีเนื้อหาและหลักการที่ใกล้เคียงกัน แต่ผลการลงมติของ ส.ว. บางคนก็ต่างกันออกไป ดังนี้
1) ส.ว. อย่างน้อย 1 คน โหวต "ไม่เห็นชอบ" ข้อเสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. ของเพื่อไทย แต่ "เห็นชอบ" ข้อเสนอเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
2) ส.ว. อย่างน้อย 5 คน โหวต "งดออกเสียง" ข้อเสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. ของเพื่อไทย แต่ "เห็นชอบ" ข้อเสนอเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์ คือ บรรชา พงศ์อายุกูล, วีระศักดิ์ โควสุรัตน์, สม จาตุศรีพิทักษ์, สมชาย เสียงหลาย, สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ
3) ส.ว. อย่างน้อย 8 คน โหวต "ไม่เห็นชอบ" ข้อเสนอปิดสวิตซ์ ส.ว. ของเพื่อไทย แต่ "งดออกเสียง" ข้อเสนอเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์ คือ เชิดศักดิ์ จำปาเทศ, ฐนิธ กิตติอำพน, ณรงค์ สหเมธาพัฒน์, ทัศนา ยุวานนท์, บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, ประดิษฐ์ เหลืองอร่าม, พิศณุ พุทธวงศ์, ภาณุ อุทัยรัตน์ และ สมหมาย เกาฏีระ
ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ ขาดประชุม ในการลงมติชี้ชะตาแก้รัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ส.ว. จะไม่สามารถเป็นข้าราชการไปพร้อมๆ กันได้ เพราะถือว่ามีลักษณะต้องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 ข. (2) ที่กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการเป็นลักษณะต้องห้ามของ ส.ว. อีกทั้ง ในมาตรา 184 (1) ยังกำหนดด้วยว่า ส.ว. ต้อง ไม่ดํารงตําแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตําแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
แต่ทว่า ในหมวดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ว. ในวาระเริ่มแรก มีข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ด้วย 6 คน ได้แก่  ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ โดยบรรดาผู้นำเหล่าทัพจะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐธรรมนูญที่ได้รับการงดเว้นเรื่อง 'ลักษณะต้องห้าม' ตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้าม ส.ว. เป็นข้าราชการ ทั้งในมาตรา 108 ข. (2) และ 184 (1) ของรัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ดี ในศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ ได้ขาดการประชุม ทั้งที่ญัตติดังกล่าวเป็นญัตติสำคัญที่สัมพันธ์กับอนาคตทางการเมือง