ผ่านแค่ร่างเดียว! #แก้รัฐธรรมนูญ ภาคสอง รับระบบ 2540 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เสนอ

 

การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรมนูญทั้ง 13 ฉบับโดยที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ (24 มิถุนายน 2564) หลังจากที่มีการมีอภิปรายมาตั้งแต่เมื่อวาน จากทั้งหมด 13 ร่าง ตกไปถึง 12 ร่าง มีเพียงร่างที่ 13 ซึ่งเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ร่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของรัฐสภาและได้คะแนนเสียงจาก สว. เกิน 1 ใน 3 หรือ 84 คะแนน ทำให้เป็นเพียงร่างเดียวที่สามารถผ่านวาระแรกไปได้ ส่วนร่างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกอำนาจ สว.ในเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่างก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาเนื่องจากคะแนนของ ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนส.ว.ทั้งหมด เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ส.ว. เป็นองค์กรที่ตัดสินได้ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใดได้หรือไม่ได้
การลงมติเริ่มต้นขึ้นเวลาประมาณ 17.00 น. หลังจากที่มีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จบลง การลงคะแนนใช้ระบบการขานชื่อ และขานการลงคะแนนทีละคนทั้ง 13 ร่าง โดยเปิดเผย ซึ่งใช้เวลานานมากจนกระทั่งเวลา 23.21 น. จึงลงคะแนนครบทุกคน
เพื่อไทย-ปชป. รับทุกร่าง ภูมิใจไทยไม่แก้ระบบเลือกตั้ง
โดยภาพรวมแล้ว พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีรูปแบบการลงคะแนนของตนเองที่ชัดเจน คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะลงมติรับทุกร่าง แม้ในช่วงแรก จะมี 16 คนโหวตงดออกเสียงในบางร่าง แต่ดูเหมือนมติพรรคจะเปลี่ยนเพราะหลังจากนั้น สมาชิกพรรคต่างโหวตรับหลักการทั้ง 13 ร่าง ขณะที่ ส.ว. เสียงโหวตค่อนข้างมีความหลากหลาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไม่มีส.ว.คนใดโหวตเห็นด้วยกับร่างของพรรคพลังประชารัฐ และเสียงส่วนใหญ่ไม่รับร่างใด นอกจากร่างที่ 13 ประเด็นระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยลงคะแนนเสียงรับทุกร่าง ยกเว้นร่างที่ 1 เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ ร่างที่ 3 และร่างที่ 13 ประเด็นระบบเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆที่ พรรคภูมิใจไทยเองก็เป็นผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอในร่างที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ทางด้านพรรคก้าวไกลลงคะแนนรับหลักการเฉพาะร่างที่ 4 และร่างที่ 11 ที่เกี่ยวกับประเด็นยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ส่วนร่างอื่น ๆ นั้นพรรคก้าวไกลงดออกเสียง และไม่รับหลักการเฉพาะร่าง 1 ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ
ด้าน ส.ว. เสียงโหวตมีความหลากหลาย ไม่ได้ลงมติเป็นแบบแผนเดียวกันทุกคน แต่โดยรวมแล้วส่วนใหญ่ลงมติ "ไม่รับหลักการ" และ "งดออกเสียง" เกือบทุกร่าง ยกเว้นร่างที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งที่ส.ว.โหวตให้อย่างขาดลอย
ร่างที่ 13 เรื่องระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้คะแนนผ่านนเกณฑ์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.30 กล่าวคือ ได้เสียงของทั้ง ส.ส. และส.ว. เกินครึ่งหนึ่ง คือ 367 คน และได้เสียง ส.ว. ครบ 84 คน และเมื่อลงคะแนนครบถ้วนเรียบร้อยก็เป็นฉบับเดียวที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1
การเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งในครั้งนี้ มีถึง 3 ร่างจาก 3 พรรคการเมืองหลัก แต่การลงมติรับหลักการเพียงร่างฉบับเดียว โดยร่างของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเสนอให้แก้ระบบการเลือกตั้งเพียง 2 มาตรา (พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ 8 มาตรา ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ 7 มาตรา) แต่ก็มีใจความสำคัญที่จะนำเสนอระบบเลือกตั้งแบบเดียวกัน ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีการแบ่งสัดส่วน ส.ส. เป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน (มาตรา 83) และให้คำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 (มาตรา 91) เท่านั้น โดยหลักเกณฑ์อื่นยังให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อยู่ ซึ่งไม่มีกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ
ดูร่างฉบับที่ผ่านวาระที่ 1 ได้คลิกที่นี่ 
การลงมติในวันนี้เป็นการ "รับหลักการ" ในวาระที่ 1 เท่านั้น หลังจากนี้จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการ โดยมีตัวแทนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ตามสัดส่วนเก้าอี้ในสภา เพื่อพิจารณาในรายละเอียดวาระที่ 2 ต่อไป ซึ่งจากร่างที่มีอยู่ตอนนี้ที่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้เท่าใด จึงยังมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยในชั้นวาระที่ 2 กันอีกมาก
ปิดสวิตช์ส.ว. ไม่สำเร็จ เพราะส.ว. ไม่ยอม
ในบรรดาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ร่างที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้มีทั้งหมด 2 ฉบับ คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยส.ส. พรรคเพื่อไทย (ร่างที่ 4) และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ร่างที่ 11) ตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 60 การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่หนึ่ง จำเป็นต้องได้รับเสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 375 เสียง โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด หรือคิดเป็น 84 เสียงอยู่ด้วย
มาในวันนี้ พรรคการเมืองแทบทุกพรรคในสภาผู้แทนราษฎรต่างเสนอเรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกยกเลิกอำนาจส.ว ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในข้อเสนอสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากส.ส. หลายพรรคการเมือง ผลการลงมติในวาระแรก ร่างที่เสนอให้ ยกเลิกอำนาจส.ว. ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ได้รับการเห็นชอบอย่างถล่มทลายถึง 456 เสียงจาก 733 เสียงในรัฐสภา ขณะที่ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจส.ว. ของพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกรัฐสภารับหลักการถึง 459 เสียง
แม้ว่า ส.ส. จากทุกพรรคจะร่วมกันลงคะแนนเสียงให้ยกเลิกอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ (439 จาก 484) แต่ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกอำนาจส.ว. ทั้งฉบับที่พรรคเพื่อไทยและฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ ก็ต้องตกไปเพราะ ส.ว. ลงมติ "ไม่รับหลักการ" ร่างที่มาลดอำนาจตัวเอง มี ส.ว. เพียง 15 คนที่ลงมติให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และส.ว. อีก 19 คนที่โหวตให้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์จากที่ต้องการถึง 84 เสียง เท่ากับว่ามี ส.ว. 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ลงมติเห็นชอบ
 
 
สรุปผลการลงคะแนนร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ!
สรุปผลการลงคะแนนจากระบบการบันทึกจากการฟังประชุมสดไว้บนเว็บไซต์ ELECT เป็นดังนี้ 
ร่าง 1 เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบคล้ายแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ลดกลไกปราบทุจริต
รับหลักการ 335 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 335 เสียง โดยไม่มีเสียงของส.ว.เลย
ไม่รับหลักการ 198 เสียง
งดออกเสียง 174 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 2 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 1 เพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการแสดงความเห็น
รับหลักการ 400 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 394 เสียงและส.ว. 6 เสียง
ไม่รับหลักการ 136 เสียง
งดออกเสียง 171 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 3 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 2 แก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบแบบรัฐธรรมนูญ 2540
รับหลักการ 377 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 341 เสียงและส.ว. 36 เสียง
ไม่รับหลักการ 88 เสียง
งดออกเสียง 242 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 4 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 3 แก้เรื่องที่มานายกรัฐมนตรีและยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
รับหลักการ 456 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 441 เสียงและส.ว. 15 เสียง
ไม่รับหลักการ 101 เสียง
งดออกเสียง 150 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 5 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 4 ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและยกเลิกอำนาจ ส.ว.บางประการ
รับหลักการ 328 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 327 เสียงและส.ว. 1 เสียง
ไม่รับหลักการ 150 เสียง
งดออกเสียง 229 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 6 เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่ 1 แก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติ
รับหลักการ 455 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 420 เสียงและส.ว. 35 เสียง
ไม่รับหลักการ 86 เสียง
งดออกเสียง 166 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 7 เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่ 2 เสนอหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า (UBI)
รับหลักการ 477 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 422 เสียงและส.ว. 55 เสียง
ไม่รับหลักการ 78 เสียง
งดออกเสียง 152 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 8 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 1 เพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค
รับหลักการ 470 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 422 เสียงและส.ว. 48 เสียง
ไม่รับหลักการ 75 เสียง
งดออกเสียง 162 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 9 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการแก้รัฐธรรมนูญ
รับหลักการ 416 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 401 เสียงและส.ว. 15 เสียง
ไม่รับหลักการ 102 เสียง
งดออกเสียง 189 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 10 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 3 กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช.
รับหลักการ 432 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 399 เสียงและส.ว. 33 เสียง
ไม่รับหลักการ 97 เสียง
งดออกเสียง 178 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 11 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 4 แก้เรื่องที่มานายกรัฐมนตรีและยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
รับหลักการ 461 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 440 เสียงและส.ว. 21 เสียง
ไม่รับหลักการ 96 เสียง
งดออกเสียง 150 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 12 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 5 ประเด็นกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
รับหลักการ 457 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 408 เสียงและส.ว. 49 เสียง
ไม่รับหลักการ 83 เสียง
งดออกเสียง 167 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง
ร่าง 13 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 6 แก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบแบบรัฐธรรมนูญ 2540
รับหลักการ 553 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 343 เสียงและส.ว. 210 เสียง
ไม่รับหลักการ 24 เสียง
งดออกเสียง 130 เสียง
ขาดประชุม/ไม่ประสงค์ลงคะแนน 27 เสียง