ก่อนท้องฟ้าจะสดใส : #แก้รัฐธรรมนูญ ต้องรื้อถอนอำนาจคสช. – เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าไขว้เขว

 

ศึก #แก้รัฐธรรมนูญ ภาคสองกำลังเปิดฉากขึ้น
23-24 มิถุนายน 2564 รัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. มีนัดหมายพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่ง – เป็นครั้งที่สอง หลังความพยายามในภาคแรกล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐ จับมือกับ ส.ว. อ้างว่า ห้ามแตะ "หมวด 1 หมวด 2" จึงคว่ำร่างที่ประชาชนเสนอ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาในวาระที่หนึ่งก็ต้องมาถูก ส.ส.พปชร. และ ส.ว. คว่ำในวาระสาม โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องจัดทำประชามติก่อนการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. 
เมื่อกลับมาในภาคสอง ตัวละครทุกตัวในศึกครั้งนี้ เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวกันมาใหม่
เริ่มจาก พรรคพลังประชารัฐที่นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน เปิดเกมเสนอร่างของตัวเองก่อน เป็นร่างฉบับหนึ่งเดียวที่รวมทุกเรื่อง แม้จะเพิ่มเติมหมวดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ความสนใจหลักอยู่ที่การเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปคล้ายระบบตามรัฐธรรมนูญ 2540  และเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นเมื่อพรรคสนับสนุน คสช. นี้เองที่เสนอเลิกกลไกต่อต้านคอร์รัปชั่น เลิกบังคับพรรคการเมืองทำ Primary Vote คงจะเห็นชัดแล้วว่า กลไกที่จะเขียนมาควบคุมฝ่ายตรงข้ามนั้นทำให้แม้แต่ตัวเองก็ทำงานไม่ได้
พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทย มาในทรงที่สามัคคีกันน้อยลง พรรคเพื่อไทยก็จะแก้ระบบเลือกตั้งให้คล้ายระบบตามรัฐธรรมนูญ 2564 ขณะที่พรรคก้าวไกลเห็นแย้งชัดเจนเรื่องนี้และไม่ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังเสนอเพิ่มเติมทั้งเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น สิทธิทางสาธารณสุข สิทธิต่อต้านรัฐประหาร ส่วนความพยายามรื้อถอนอำนาจ คสช. ก็ยังไม่หมดไป ยังคงเสนอให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. และยกเลิกการนิรโทษกรรมให้ คสช. แม้ในภาคแรกจะแพ้หลุดลุ่ยเพราะ ส.ว. ไม่ยอมโหวตให้ แต่ภาคสองก็ยังดันเข้ามาใหม่ ส่วนข้อเสนอให้ตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ยังคงเอากลับเข้ามา แต่รอบนี้ฝ่ายกฎหมายของสภาไม่ยอมแม้แต่ให้บรรจุเป็นวาระการพิจารณา
พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ไม่ร่วมเสนอกับพรรคพลังประชารัฐด้วย แต่มาพร้อมร่างของตัวเอง แม้สองพรรคจะดูเหมือนสามัคคีกันเพราะร่วมกันลงชื่อเสนอ แต่ก็มีแนวทางแยกจากกันชัดเจน โดยทุกพรรคยังเสนอแก้ไขปะผุหมวดสิทธิเสรีภาพแยกกันไปคนละเรื่องตามความสนใจ ข้อเสนอจากภูมิใจไทยให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาได้ ส่วนข้อเสนอที่ประชาธิปัตย์นำก็เน้นเรื่องอำนาจของท้องถิ่นอย่างละเอียด และยังกล้าเสนอให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ
การประชุมวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 มีร่างที่ถูกบรรจุเข้าพิจารณารวม 13 ฉบับ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ นำโดยพรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ นำโดยพรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ 6 ฉบับ การอภิปรายจะมีขึ้นสองวันเต็ม และ "ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด" ในช่วงสุดท้ายของการประชุมก็จะได้ลงมติวาระที่หนึ่ง เพื่อรับหลักการเอาเข้าสู่วาระสองหรือไม่ก็ปัดตกเลย ซึ่งการลงคะแนนอาจใช้วิธีการขานชื่อและให้ลงคะแนนโดยเปิดเผยทีละคน ทีละฉบับ แบบที่เคยทำเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งใช้เวลาเฉพาะการลงคะแนนก็หลายชั่วโมง
เนื่องจากประเด็นที่ถูกเสนอแก้ไขครั้งนี้มีความหลากหลาย และบางประเด็นมีความซับซ้อนที่ต้องถกเถียงพูดคุยลงรายละเอียด คาดหมายได้ว่า การอภิปรายอาจใช้เวลานาน และประเด็นข้อถกเถียงกระโดดไปมา สำหรับประชาชนที่ติดตามการประชุมรัฐสภาอาจเกิดความสับสน หรือตามไม่ทันข้อถกเถียงในหลายประเด็น และเนื่องจากเนื้อหาที่ต้องพิจารณามีเยอะมาก จึงยังมีโอกาสอยู่บ้างที่รัฐสภาจะยังไม่รีบลงมติตามที่กำหนดกันไว้ เหมือนที่เคย "เลื่อน" โดยอ้างเหตุตั้ง "กรรมธิการศึกษา" มาแล้วถึงสองครั้ง
จากข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำโดย ส.ส. ต่างพรรค ต่างนโยบาย ต่างความสนใจ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอยู่มากมาย หลายเรื่อง โดยเฉพาะหมวดสิทธิเสรีภาพยังสามารถเขียนให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกหลายมุม ข้อเสนอของแต่ละพรรคก็มีทั้งที่ซ้ำกัน คล้ายคลึงกัน และแตกต่างกันไปมาก สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวจากการแต่งตั้งของ คสช. และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคส่วนอื่น จึงทำให้เนื้อหาที่ออกมามีข้ออ่อนมากมาย แทบทุกหมวด ทุกประเด็น
เมื่อศึกในภาคสองจำกัดการแก้ไขแบบ "รายมาตรา" ว่ากันทีละเรื่อง ก็พบว่า มีข้อเสนอแก้ไขสารพัดเรื่องยิบย่อยมากมาย ถ้าหากแก้ไขได้สำเร็จในบางเรื่องก็จะทำได้เพียงการ "ปะผุ" เฉพาะเรื่องเฉพาะหน้าไปเท่านั้น แต่โครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหายังไม่ถูกรื้อถอน
การจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่มีความชอบธรรมทั้งที่มาและเนื้อหา ประชาชนให้การยอมรับ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกระบวนการ "เขียนรัฐธรรมนูญใหม่" ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นกระบวนการที่เปิดกว้าง เป็นธรรม นำไปสู่ทางออกจากความขัดแย้งทางสังคมการเมืองในทุกประเด็นปัญหา 
ซึ่งตอนนี้ติดอุปสรรคเพียงอย่างเดียว คือ กลไกของ คสช.
อันประกอบด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ
ที่นั่งขัดขวางไว้ทุกทิศทาง เพราะกลัวตัวเองจะอยู่ในอำนาจต่อไม่ได้
การจะเดินหน้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง "รื้อถอนระบอบอำนาจของ คสช." ออกจากรัฐธรรมนูญด้วย 
สำหรับประชาชนที่ติดตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคสอง ที่กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางประเด็นที่หลากหลาย ก็ขอให้ "โฟกัส" ให้มั่นคง ข้อเสนอใดที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้หนักแน่น เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนแต่ไม่ใช่สาระสำคัญหลัก และหากบางประเด็นแก้ไขได้จริง ก็ไม่ควรไขว้เขวไปหลงคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ได้ถูกแก้ไขไปแล้ว เพราะหากแก้ไขแบบ "ปะผุ" ในบางเรื่องได้แต่แก้ไขโครงสร้างทางการเมืองไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจได้อย่างแท้จริง
ข้อเสนอหลักที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จึงยังคงเป็นเช่นเดิม เสมอมา และต่อไปในภายภาคหน้า คือ
1. "รื้อ" ถอนอำนาจ คสช. ออกจากรัฐธรรมนูญ
2. "สร้าง" หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย
3. "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชาชน
เท่านั้น
[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ]