แก้รัฐธรรมนูญ: “แก้ระบบเลือกตั้ง-ปิดสวิตซ์ ส.ว.” จุดร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล

การเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญของ “พรรคพลังประชารัฐ” ถือเป็นการลั่นระฆังทางการเมืองว่า ศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบที่สองกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยศึกครั้งนี้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ "รายมาตรา" เนื่องจาก การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนใหม่ทั้งฉบับยังติดล็อคกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน
อย่างไรก็ดี ในศึกการแก้รัฐธรรมนูญรอบที่สองนี้ พบว่า ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีจุดร่วมสำคัญอยู่ที่การแก้ไขเรื่อง “ระบบเลือกตั้ง” ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเช่นเดียวกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่จุดต่างที่สำคัญ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ยอมเสนอ คือ การ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." หรือยกเลิกที่มาและอำนาจของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล หรือ ยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.
พปชร. เสนอ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ-ปลดล็อคอำนาจหน้าที่ ส.ส.
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาแถลงถึงญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค โดยระบุว่า จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 5 ประเด็น รวม 13 มาตรา โดยระบุเหตุผลว่า “รัฐธรรมนูญแม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในยามที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลง ก็อาจมีความจำเป็นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้”
โดยสาระสำคัญของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ คือ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือ การเลือกตั้งที่ใช้บัตรสองใบ ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกทั้ง ส.ส.เขต และลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองเพื่อนำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) รวมถึงปลดล็อคข้อจำกัดให้กับ ส.ส. ในการแปรญัตติเรื่องงบประมาณ และการทำงานกับราชการในพื้นที่ได้ รวมถึงเปิดช่องให้ ส.ส. มีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตี จะออกมาชี้แจงว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของรัฐบาล แต่ร่างดังกล่าวก็ได้ผ่านการเห็นชอบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรองนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ไพบูลย์ นิติตะวัน ยังแถลงข่าวว่า จะมีการเตรียมพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน 2564
พรรคร่วมรัฐบาล ประสานเสียง แก้ระบบเลือกตั้ง-ปิดสวิตซ์ ส.ว.
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปของพรรค ได้หารือร่วมกันกับตัวแทนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญสามพรรค ประกอบด้วย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์, ศุภชัย ใจสมุทร, ภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย และ นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจากการหารือมีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา
โดยสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ได้แก่ การแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพ ขยายสิทธิของประชาชนในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่ดินทำกิน สิทธิผู้บริโภค และสิทธิชุมชน ถัดมาคือ การแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล หรือ การปิดสวิตซ์อำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ถัดมาคือ มีการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 (เหมือนกับข้อเสนอตามร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ)
รวมถึงการเสนอแก้ไขหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ใช้เสียงแค่ 3 ใน 5 ของรัฐสภาในการลงมติวาระหนึ่งและวาระสาม นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแก้ไขในหมวดอื่นๆ ได้แก่ เรื่องการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ภาคประชาชนเสนอรื้อระบอบประยุทธ์-เดินหน้า "สภาเดี่ยว"
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 กลุ่ม Resolution เปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” โดยนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนช่วยกันเข้าชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา โดยจุดเด่นของร่างฉบับนี้ คือ การเสนอให้ “ยกเลิกวุฒิสภา” เปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ “สภาเดี่ยว” ให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. การ “รื้อ” ที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด รวมทั้งออกแบบกลไกใหม่ที่หวังจะป้องกันไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อีก
เพื่อไทย เสนอ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ-ยกเลิกอำนาจหน้าที่ ส.ว.
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นร่างแก้ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 ฉบับ พร้อมยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบแก้ทั้งฉบับ ตามข้อเสนอเดิมเมื่อปีที่แล้ว คือ การแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่แตะต้องหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
ส่วนร่างแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา มีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพโดยขยายเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและเสรีภาพในการแสดงออก มีการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 (เหมือนกับข้อเสนอตามร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ) และมีการเสนอยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. เช่น การยกเลิกอำนาจและที่มาของ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล หรือ ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. รวมทั้งยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมให้กับ คสช. เป็นต้น