สรุปโพสต์เดียวจบ! พ.ร.ก.เงินกู้ห้าแสนล้านบาท ทำไมต้องกู้-เอาไปใช้ทำอะไร?

วันพรุ่งนี้ (9 มิถุนายน 2564) สภาผู้แทนราษฎรมีนัดประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือ "ร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ห้าแสนล้านบาท" ซึ่งถือว่าเป็นการกู้เงินรอบที่สองของรัฐบาล ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวในการใช้เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาจากโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนพร้อมสำหรับการติดตามการอภิปรายเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงินห้าแสนล้านบาท ในสภา จึงขอสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาลไว้ ดังนี้
1. ก่อนที่รัฐบาลจะออก "ร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ห้าแสนล้านบาท" อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยออกมากล่าวว่า ยังมีงบประมาณจำนวนเกือบ 400,000 ล้านบาท สำหรับบรรเทาผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ และยืนยันว่า ไม่ต้องมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม แต่ทว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กลับมีการเสนอให้รัฐบาลอออก พ.ร.ก.กู้เงิน ถึง "เจ็ดแสนล้านบาท" แถมยังเป็นการเสนอกฎหมายที่เป็น 'เอกสารริมแดง' หรือ เป็นเอกสารที่จัดว่าเป็นความลับ 
2. ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ก. เงินกู้ฉบับใหม่ โดยกำหนดวงเงินกู้ไว้ที่ "ห้าแสนล้านบาท" พร้อมระบุเหตุผลในการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวไว้ว่า เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
3. พ.ร.ก.เงินกู้ห้าแสนล้านบาท ได้แบ่งกรอบการใช้เงินออกเป็นสามแผนงาน เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.เงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 
๐ แผนงาน/โครงการแก้ปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 โดยมีกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 30,000 ล้านบาท
๐ แผนงาน/โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 300,000 ล้านบาท
๐ แผนงาน/โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 170,000 ล้านบาท
4. การออก พ.ร.ก.กู้เงินในครั้งนี้ นับเป็นการกู้รอบที่สอง เนื่องจากเมื่อปี 2563 รัฐบาลได้ออก "พ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท" ไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่ยังจำเป็นจะต้องกู้เพิ่ม เพราะวงเงินกู้คงเหลือมีเพียง 16,525 ล้านบาท (ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564) โดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลในการกู้ว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังยืดเยื้อ ประเทศมีความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ 
5. การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ห้าแสนล้านบาท ในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดคำถามถึงความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาประเทศ เพราะที่ผ่านมาพบว่า เงินกู้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับแผนงานการเยียวยาประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการป้องกันโรคโควิดระบาดของรัฐบาล ในขณะที่แผนงานอื่นๆ  เช่น แผนงานด้านสาธารณสุข อาทิ งบจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ กลับอนุมัติได้ล่าช้าหรือเบิกจ่ายล่าช้า จนแพทย์และโรงพยาบาลต้องใช้วิธีเปิดรับบริจาค ส่วนแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการอัดฉีดที่ไม่ตรงเป้า มีโครงการที่กระตุ้นการจ้างงานระยะสั้น และเป็นแผนงานชั่วคราว ไม่ใช่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
6. จากผลงานการใช้จ่ายเงินกู้ของรัฐบาลที่ดูไม่มีประประสิทธิภาพ ทำให้พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนที่จะไม่อนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ห้าแสนล้านบาท โดยระบุว่า 'รัฐบาลคืออุปสรรคและปัญหาในการแก้ปัญหาโควิด' และมองว่าการอนุมัติเงินกู้ในครั้งนี้คือการต่ออายุให้รัฐบาล จึงไม่ขอตีเช็คเปล่าให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกต่อไป
7. อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการกู้เงินในครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาเท่ากับการใช้ ซึ่งในความเห็นของนักวิชาการ อย่าง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ที่มองว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน นั้นมีความจำเป็น แต่รัฐบาลอาจต้องมีการปรับแผนการใช้เงินใหม่ โดยมุ่งเน้นที่ด้านสาธารณสุขให้มากขึ้น พร้อมกับเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้น คือ ต้องมี "วัคซีน" เกินพอ 
8. นอกจากนี้ ในความเห็นของ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองมหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies ประเทศญี่ปุ่น ยังเคยเสนอวิธีการใช้เงินไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2563 แล้วว่า "การอัดฉีดงบประมาณควรเป็นการอัดฉีดเพื่ออนาคต" หรือการอัดฉีดงบเพื่อปรับทิศทางเศรษฐกิจให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องระมัดระวังการนำงบไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำผ่านการผลักดันโครงการต่างๆ จากระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือโครงการประชารัฐที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่