คลัสเตอร์เรือนจำ : ความอลหม่านของการรายงานผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19

นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2564 รวมระยะ 23 วันแล้วที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศ นับจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 มีผู้ต้องขังติดเชื้อในเรือนจำแล้วไม่น้อยกว่า 28,833 คน คิดเป็นร้อยละ 20.15 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศจำนวนทั้งหมด 143,116 คน และคิดเป็นร้อยละ 9.25 จากจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศ 311,785 คน (สถิติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564) ซึ่งเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรักษาตัวสะสมทั่วประเทศในการแพร่ระบาดระลอกสามตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 การรายงานของ ศบค. เป็นการรายงานจำนวนรวมผู้ต้องขังติดเชื้อ ไม่ได้มีการจำแนกแจกแจงว่า ผู้ติดเชื้อมาจากเรือนจำใดบ้าง
 
 
 
 
 
ระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศ โดยมีการรายงานแยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งข่าวสำหรับสื่อมวลชน โดยระบุข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อรายใหม่และอยู่ระหว่างการรักษาในเรือนจำต่างๆ  และ สองภาพแผนที่เรือนจำทั่วประเทศ พร้อมให้ข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ คงเหลือสะสม และสัดส่วนของผู้ติดเชื้อกับผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ติดเชื้อในแต่ละเรือนจำ เป็นการนับแยกออกจากจำนวนผู้ต้องขัง 
 
 
ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์พักการรายงานหนึ่งวันและกลับมารายงานอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 โดยลดรายละเอียดของการรายงานลง ที่ผ่านมาปรากฏความไม่ชัดเจนในหลากหลายประเด็นของการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อของกรมราชทัณฑ์ จากการติดตามข้อมูลของไอลอว์พอจะสรุปเป็นประเด็นคำถามได้ดังนี้ 
 
 
ทำไมยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในเรือนจำของ ศบค. และ กรมราชทัณฑ์ไม่เคยตรงกัน?
 
 
หากดูตารางยอดรวมผู้ติดเชื้อประกอบกันตั้งแต่วันที่ 12 – 31 พฤษภาคม 2564 จะเห็นว่า ยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่ ศบค. รายงานครั้งแรกในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จะอ้างอิงการรายงานของกรมราชทัณฑ์ในวันก่อนหน้า จนกระทั่งกรมราชทัณฑ์รายงานอย่างเป็นระบบมากขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 แต่วันต่อๆ มาจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำรายใหม่กลับไม่ตรงกับตัวเลขที่กรมราชทัณฑ์รายงานในวันก่อนหน้าเลยบางวันมากกว่าเป็นหลักสิบ บางวันน้อยกว่าเป็นหลักร้อย เช่น วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่ 1,408 คน วันถัดมา ศบค. รายงานที่ 1,498 คน และวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่ 1,429 คน วันถัดมา ศบค. รายงานที่ 479 คน
 
 
ลักษณะดังกล่าวปรากฏในยอดผู้ต้องขังติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 24-31 พฤษภาคม 2564 เช่นเดียวกัน บางวัน ศบค. มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อสะสมมากกว่ากรมราชทัณฑ์บางวันน้อยกว่า จากนั้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์หยุดการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำต่อสาธารณะ ขณะที่ ศบค. ยังรายงานเป็นปกติ  เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ของกรมราชทัณฑ์ที่ไม่รายงานตัวเลขผู้ต้องขังติดเชื้อภายในเรือนจำ ก่อนที่จะกลับมารายงานอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 แต่เฟซบุ๊กของกรมราชทัณฑ์รายงานเพียงตัวเลขรวมของผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ไม่มีรายละเอียดของจำนวนผู้ต้องขังที่รักษาหายแล้วและไม่มีการโพสต์รายงานแผนภาพเรือนจำทั่วประเทศ แต่รายงานแผนภาพไปปรากฏในเพจเฟซบุ๊กของกระทรวงยุติธรรมแทน 
 
 
วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์เปลี่ยนรูปแบบการรายงานตัวเลขผู้ต้องขังติดเชื้อในเรือนจำ ตัวเลขประจำวันตรงกับที่ ศบค.รายงานเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามยอดรวมผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศยังไม่ตรงกัน โดยกรมราชทัณฑ์รายงานที่ 26,602 คน ขณะที่จากการรวมยอดของ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ได้ที่จำนวน 26,250 คน นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 18 – 31 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์ยังรายงานยอดผู้ติดเชื้อสะสมไม่สัมพันธ์กันสี่วันดังนี้
 
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำสะสมที่ 18,510 คน ตามปกติแล้วยอดผู้ติดเชื้อสะสมของวันก่อนหน้าบวกเข้ากับยอดรายใหม่ของวันปัจจุบันจะต้องได้เท่ากับยอดผู้ติดเชื้อสะสมของวันปัจจุบัน เมื่อนำยอดสะสมของวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 จำนวน 17,082 คนบวกกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,429 คน ได้เท่ากับ จำนวน 18,511 คน ตกหล่นไปหนึ่งคน
 
  • วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำสะสมที่ 21,010 คน เมื่อนำยอดสะสมของวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ที่ 19,753 คนบวกกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,228 คน ได้เท่ากับ 20,981 คน เท่ากับว่า รายงานเกินจำนวนที่ควรจะเป็นไป 29 คน 
 
  • วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำสะสมที่ 22,101 คน  เมื่อนำยอดสะสมของวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่ 21,010 คนบวกกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,117 คน ได้เท่ากับ 22,147  คน ตกหล่นไป 26 คน
 
  • วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำสะสมที่ 26,602  คน เมื่อนำยอดสะสมของวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ที่ 23,245 คนบวกกับผู้ติดเชื้อรายใหม่  1,953 คน ได้เท่ากับ 25,918 คน ตกหล่นไปหนึ่งคน เท่ากับว่า รายงานเกินจำนวนที่ควรจะเป็นไป 1,404 คน
 
 
ทำไมกรมราชทัณฑ์เปลี่ยนแปลงยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำ?
 
 
 
 
ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขสะสมของผู้ต้องขังเสียชีวิตหลังติดโควิด 19 สูงสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 อยู่ที่แปดคน ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์หยุดรายงานหนึ่งวัน วันถัดมา (30 พฤษภาคม 2564) กรมราชทัณฑ์รายงานลดจำนวนผู้เสียชีวิตเหลือเพียงเจ็ดคนเท่านั้น ไม่แน่ชัดว่า เกิดจากสาเหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงตัวเลขดังกล่าว ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ประจำวัน ไม่มีการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมแต่เปลี่ยนยอดสะสมของผู้เสียชีวิตเป็นเก้าคน ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ตัดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.00 น. เมื่อเทียบกับข้อมูลของศบค.ในช่วงเวลาเดียวกันกับพบว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ศบค.รายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตสะสมในเรือนจำทั้งสิ้นสิบคน ข้อมูลตัดที่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 
 
 
จากการติดตามข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตหกจากแปดคนนั้นเสียชีวิตในโรงพยาบาล มีรายละเอียดดังนี้
 
 
  • รายที่หนึ่ง  กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ให้รายละเอียดชัด แต่ระบุโดยกว้างว่า เป็นผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดนราธิวาส จึงคาดว่า เป็นผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 เป็นเพศชายอายุ 62 ปี จากเรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 05.10 น. 
 
  • รายที่สอง วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน เป็นเพศชายอายุ 62 ปี จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จากการติดเชื้อโควิด-19 มีอาการปอดอักเสบและภาวะไตวายร่วมด้วย หลังรักษาตามกระบวนการแล้วอาการไม่ดีขึ้นจนเสียชีวิตในที่สุด 
 
  • รายที่สาม  วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน เป็นเพศชายอายุ 52 ปี จากเรือนจำกลางเชียงใหม่ มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิต ไตวายและไขมันในเส้นเลือด โดยตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 และถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนครพิงค์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 05.40 น. ของวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 
 
  • รายที่สี่ถึงหก วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตสามคน คนที่หนึ่งเป็นเพศชายอายุ 62 ปี จากเรือนจำกลางเชียงใหม่ เขาถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลนครพิงค์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 แพทย์ทำการรักษาตามกระบวนการ อาการไม่ดีขึ้นจนเสียชีวิตในเวลา 12.48 น.ของวันที่ 25 พฤษภาคม 2564, คนที่สองเป็นเพศชายอายุ 64 ปี จากเรือนจำพิเศษธนบุรี ตรวจพบเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเสียชีวิตเมื่อเวลา 03.30 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 และคนที่สาม เป็นเพศชายอายุ 47 ปี จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตรวจพบเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 และส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนกระทั่งเวลา 6.30 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ตรวจไม่พบสัญญาณชีพของผู้เสียชีวิตรายนี้จึงทำการซีพีอาร์แต่ไม่เป็นผล เสียชีวิตในเวลา 06.30 น. 
 
  • รายที่เจ็ดและแปด วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกสองคน รวมผู้เสียชีวิตสะสมแปดคน แต่วันนี้ไม่มีรายงานรายละเอียดของผู้เสียชีวิตเหมือนเช่นก่อนหน้า เมื่อสืบค้นข้อมูลจากศบค.ประกอบพบว่า วันดังกล่าวกรมควบคุมโรคได้รายงานผู้เสียชีวิตสองคนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
 
 
ทำไมยอดผู้ติดเชื้อรายวันถึงไม่สัมพันธ์กันและมีจำนวนบางส่วนหายไปจากการรายงาน?
 
 
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 แม้จะคาดการณ์ได้ว่า ความแออัดของเรือนจำจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้การแพร่ระบาดแต่การที่กรมราชทัณฑ์ประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อ 2,835 คนในคราวเดียวเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ก็สร้างความตื่นตระหนกต่อสังคมเป็นอย่างมาก กรมราชทัณฑ์โดยวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์  อธิบายในประเด็นนี้ว่า เหตุที่พบเชื้อรวดเร็วเนื่องจากได้รับการสนับสนุนการตรวจหาเชื้อจากรถตรวจพระราชทานด้วยวิธี RT-PCR ตลอด 24 ชั่วโมง การตรวจพบเชื้อในผู้ต้องขังจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็วจึงจำเป็นต้องมีการยืนยันผลเพื่อป้องกันการรายงานผลคลาดเคลื่อน ก่อนจะรายงานต่อ ศบค. ต่อไป 
 
 
แม้จะมีการคัดกรองตรวจหาเชื้อที่รัดกุมและนำส่งเข้าฐานข้อมูลระดับชาติแต่ปรากฏว่า ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ที่มีการแจกแจงรายละเอียดระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 มีส่วนที่ไม่สัมพันธ์กัน เท่าที่ระยะเวลามีจำกัดจึงทำการสุ่มตรวจสอบความสัมพันธ์ของข้อมูลพบว่า มีอย่างน้อยสี่เรือนจำจาก 17 เรือนจำที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อประจำวันไม่สอดคล้องกันดังนี้ 
 
 
หนึ่ง ผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 24 คนตกหล่นไปจากการรายงาน
 
 
วันที่ 24 เมษายน 2564 เป็นวันแรกที่กรมราชทัณฑ์ออกมายอมรับว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังจากที่เฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยเข้าลักษณะการติดเชื้อโควิด-19 ของจัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ เมื่อวันที่ 20 และ 22 เมษายน 2564 จากนั้นวันที่ 24 เมษายน 2564 กรมราชทัณฑ์จึงยอมรับว่า จัสตินติดเชื้อและวันถัดมาได้เผยแพร่ข้อมูลผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในวันต่อมาว่ามีจำนวนสิบคน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หนึ่งคน และผู้ต้องขังเก้าคน ผู้ต้องขังแปดในเก้าคนเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และกลับมารายงานสถิติของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 พร้อมตัวเลขเพิ่มขึ้นจากหลักสิบกลายเป็นหลักพันที่ 1,759 คน 
 
 
 
 
 
เมื่อจัดเรียงข้อมูลประกอบในระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 พบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีการติดเชื้อต้องรักษาอาการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงสุดคือวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่จำนวน 2,864 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.09 ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 3,012 คน หรือในขณะนั้นมีผู้ต้องขัง 148 คนที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเข้ารับการรักษา กล่าวคือ วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นวันแรกที่มีรายงานผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 5 คน เหลือ 143 คนที่อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามเมื่อดูรายละเอียดผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม พบว่า มีอีก 145 คนที่เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยจำนวนมากกว่าจำนวนผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อของวันก่อน ทั้งนี้จำนวนอาจแปรผันตามการเข้าออกของผู้ต้องขังรายเก่าและใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในระบบเรือนจำ จึงอาจกล่าวได้ว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีผู้ต้องขังติดเชื้อแทบทั้งเรือนจำแล้ว
 
 
จากการตรวจสอบข้อมูลในกรณีที่ไม่มีการรายงานผู้ต้องขังรักษาหายหรือรักษาหายเป็นศูนย์สองวันติดกัน ตามตรรกะแล้วเมื่อนำยอดผู้ต้องขังที่ติดเชื้อรักษาตัวอยู่และยอดรายใหม่ในวันปัจจุบันมาลบกัน จากนั้นนำไปบวกยอดรักษาหายและเสียชีวิตในกรณีที่มีจะได้เท่ากับยอดผู้ติดเชื้อวันก่อนหน้า แต่พบว่า ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 เป็นเวลา 11 วัน มีแปดวันที่พบความไม่สอดคล้องสัมพันธ์กันของตัวเลข ขณะที่อีกสามวันไม่พบข้อโต้แย้งใดๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 
  • วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,370 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 521 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 1,849 คน ไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 1,851 คน โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรักษาหายหรือเสียชีวิต ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้สองคน 
 
  • วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,864 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 499 คนและรักษาหายห้าคน เมื่อนำจำนวนรักษาตัวลบกับผู้ติดเชื้อรายใหม่บวกเข้ากับผู้ที่รักษาหายในวันนี้มีจำนวนสอดคล้องกับจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่เมื่อวันก่อนหน้า
 
  • วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,560 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่หนึ่งคน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้ที่ 2,559 คน บวกกับจำนวนผู้รักษาหายที่ 299 คน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ได้ตัวเลข 2,858 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ  2,864 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้หกคน
 
  • วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,352 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อปัจจุบันไปบวกกับจำนวนผู้รักษาหายจำนวน 205 คน  จะเห็นว่าตัวเลขไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 2,360 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้สามคน
 
  • วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,308 คนไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปบวกกับจำนวนผู้รักษาหายที่ 42 คน  ได้ตัวเลข 2,350 คนไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าที่ 2,352 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้สองคน
 
  • วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,333 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 26 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรักษาตัวและบวกกับผู้ติดเชื้อเสียชีวิตหนึ่งคน ได้ตัวเลข 2,308 คนสอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้า
 
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 1,710 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิต บวกกับจำนวนผู้รักษาหายที่ 620 คน ได้ตัวเลข 2,330 คนไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 2,333 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้สามคน
 
  • วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 1,709 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และรักษาหาย มีรายงานผู้เสียชีวิตหนึ่งคนในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 1,710 คน 
 
  • วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 1,704 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่, รักษาหายและผู้เสียชีวิต แต่ตัวเลขกลับไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 1,709 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้ห้าคน
 
  • วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 1,802 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 118 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนรักษาได้ที่ 1,684 คน บวกกับจำนวนผู้รักษาหายที่ 17 คน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ได้ตัวเลข 1,701 คนไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 1,704 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้สามคน อย่างไรก็ตามมีจุดสังเกตว่า วันนี้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังสามราย
 
รวมแล้วมีผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ขาดหายไปจากการรายงานทั้งสิ้น 24 คน ที่ผ่านมามีรายงานการเสียชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพียงหนึ่งคนเท่านั้นและได้หักลบไปกับยอดคำนวณแล้ว
 
 
สอง ผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษธนบุรี 29 คนตกหล่นไปจากการรายงาน
 
 
วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เป็นวันแรกที่กรมราชทัณฑ์รายงานอย่างเป็นทางการว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อในเรือนจำพิเศษธนบุรีจำนวน 621 คน  วันต่อมามีจำนวน 1,104 คนและไม่มีการรายงานในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 จนกระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์มีการให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ในหลายเรื่อง เช่น การบอกจำนวนและชื่อของเรือนจำที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อ, จำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อสะสม, จำนวนผู้ต้องขังที่รักษาหาย และจำนวนผู้ต้องขังที่เสียชีวิต
 
 
 
เมื่อจัดเรียงข้อมูลประกอบในระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 พบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษธนบุรีมีการติดเชื้อต้องรักษาอาการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงสุดคือวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่จำนวน 3,671 คนหรือร้อยละ 93.58 จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 3,923 คน โดยมีจำนวน 252 คนที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเข้ารับการรักษา โดยวันที่ 27 พฤษภาคม เป็นวันแรกที่มีรายงานผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 42 คน เหลือ 210 คนที่อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ขณะที่ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่และเป็นวันสุดท้ายที่กรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลโดยแจกแจงรายละเอียด
 
 
จากการตรวจสอบข้อมูลในกรณีที่ไม่มีการรายงานผู้ต้องขังรักษาหายหรือรักษาหายเป็นศูนย์สองวันติดกัน ตามตรรกะแล้วเมื่อนำยอดผู้ต้องขังที่ติดเชื้อรักษาตัวอยู่และยอดรายใหม่ในวันปัจจุบันมาลบกัน จากนั้นนำไปบวกยอดรักษาหายและเสียชีวิตในกรณีที่มีจะได้เท่ากับยอดวันก่อนหน้า ซึ่งนับตั้งวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2564 ไม่เป็นเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นปรากฏความไม่สัมพันธ์กันในตัวเลขในบางวันหลังจากนั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
 
 
  • วันที่ 23  พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,849 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 20 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 2,829 คน ไม่มีรายงานผู้รักษาหายและผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามตัวเลขกลับไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 2,830 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้หนึ่งคน
 
  • วันที่ 24  พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,846 คน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่, รักษาหายและเสียชีวิต แต่ตัวเลขกลับไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 2,849 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้สามคน
 
  • วันที่ 25  พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 3,185 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 339 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 2,846 คน ตัวเลขสอดคล้องกับจำนวนผู้ต้องขังที่รักษาตัวอยู่ในวันก่อนหน้า
 
  • วันที่ 26  พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 3,669 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 486 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 3,183  คน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่รักษาหาย มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน ตัวเลขไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 3,185 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้หนึ่งคน
 
 
  • วันที่ 27  พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 3,671 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 42 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 3,629 คน บวกกับจำนวนผู้รักษาหายจำนวน 23 คน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ได้จำนวน 3,652 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ 3,669 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้ 17 คน
 
  • วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 3,110 คน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิต บวกกับจำนวนผู้รักษาหายจำนวน 554 คน ได้ที่ 3,664 คน ซึ่งจำนวนคนไม่สอดคล้องกับจำนวนรักษาเดิมก่อนหน้าคือ  3,671 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้เจ็ดคน ในวันนี้มีข้อสังเกตว่า มีการรายงานจำนวนผู้ได้รับการปล่อยตัวที่เจ็ดคน
 
รวมแล้วมีผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ขาดหายไปจากการรายงานทั้งสิ้น 29 คน โดยที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตในเรือนจำพิเศษธนบุรีมาก่อน
 
 
สาม ผู้ติดเชื้อในเรือนจำกลางคลองเปรมห้าคนตกหล่นไปจากการรายงาน
 
 
วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เป็นวันแรกที่กรมราชทัณฑ์รายงานอย่างเป็นทางการว่า เรือนจำกลางคลองเปรมมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำจำนวน 506 คนในแดนฝึกอาชีพ  ระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำกลางคลองเปรมมีความต่อเนื่องกัน แต่มีไม่สอดคล้องในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ยอดรักษาตัวและผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่สอดคล้องกัน โดยขาดหายไปห้าคน อย่างไรก็ตามมีจุดสังเกตว่า วันดังกล่าวมีรายงานการปล่อยตัวผู้ต้องขังห้าคน ตลอดระยะเวลา 11 วันไม่มีรายงานการรักษาหายและเสียชีวิต
 
 
 
 
สี่ ผู้ติดเชื้อในเรือนจำจังหวัดนนทบุรี 96 คนตกหล่นไปจากการรายงาน
 
 
วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นวันแรกที่กรมราชทัณฑ์รายงานอย่างเป็นทางการว่า เรือนจำจังหวัดนนทบุรีมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำจำนวน 400 คน โดยระบุว่า เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 342 คน เมื่อจัดเรียงข้อมูลประกอบในระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 พบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดนนทบุรีมีการติดเชื้อต้องรักษาอาการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงสุดคือวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2564 มีจำนวน 2,142 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.54 ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 2,595 คน ทำให้ในขณะนั้นเหลือผู้ต้องขัง 453 คนที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเข้ารับการรักษา 
 
 
 
จากการตรวจสอบข้อมูลในกรณีที่ไม่มีการรายงานผู้ต้องขังรักษาหายหรือรักษาหายเป็นศูนย์สองวันติดกัน ตามตรรกะแล้วเมื่อนำยอดผู้ต้องขังที่ติดเชื้อรักษาตัวอยู่มาลบกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันปัจจุบัน แล้วนำไปบวกยอดรักษาหายและชีวิต ในกรณีที่มีจะได้เท่ากับยอดผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ในวันก่อนหน้า แต่พบว่า ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 – 28 พฤษภาคม 2564 จากจำนวน 11 วัน มีห้าวันที่พบความไม่สอดคล้องสัมพันธ์กันของตัวเลข ขณะที่อีกหกวันไม่พบข้อโต้แย้งใด โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 
  • วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 383 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 18 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้ที่จำนวน 365 คนบวกกับยอดรักษาหายหนึ่งคนได้จำนวน 366 คน แต่จำนวนไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่วันก่อนหน้าคือ 417 คน โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้ 51 คน
 
  • วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 383 คน โดยวันนี้ไม่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่, รักษาหาย และเสียชีวิต แต่จำนวนไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่วันก่อนหน้าคือ 384 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้หนึ่งคน
 
  • วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 679 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 304 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 375 คน โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรักษาหายหรือเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่วันก่อนหน้าคือ 383 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้แปดคน
 
  • วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,142 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 412 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 1,730 คน โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรักษาหายหรือเสียชีวิต แต่ตัวเลขไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่วันก่อนหน้าคือ 1,731 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้หนึ่งคน
 
  • วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่จำนวน 2,128 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 21 คน เมื่อนำจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปลบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ได้จำนวน 2,107 คน โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรักษาหายหรือเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่วันก่อนหน้าคือ 2,142 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อตกหล่นจากรายงานวันนี้ 35 คน โดยวันนี้มีรายงานการปล่อยตัวผู้ต้องขังเจ็ดคน
 
รวมแล้วมีผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ขาดหายไปจากการรายงานทั้งสิ้น 96 คน ที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตในเรือนจำจังหวัดนนทบุรีมาก่อน
 
 
 
**หมายเหตุ 
 
 
  • ยอดสะสมผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ของศบค.ได้จากการคำนวณรวมจากยอดประจำวันที่ศบค.รายงานในแต่ละวัน ส่วนยอดสะสมของกรมราชทัณฑ์นั้นเป็นยอดที่กรมฯรายงานเอง
 
 
  • วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์รายงานจำนวนผู้ต้องขังที่รักษาหายและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวรวมในข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งได้นำมาคำนวณรวมด้วยแล้ว แต่ในวันอื่นๆที่มีรายงานการปล่อยตัว กรมฯได้แยกข้อมูลออกเป็นสองหัวข้อคือ รักษาหายและปล่อยตัว จึงไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณรวมด้วย ในกรณีที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่หายไปและวันดังกล่าวมีรายงานผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งข้อมูลสองชุดนี้ตรงกันจะให้ข้อมูลเป็นข้อสังเกตไว้