รู้จัก “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ผ่านกฎหมายจัดตั้งที่เขียนในยุค คสช.

ก่อนจะเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นกำหนดเดิมที่คนไทยจะได้รับวัคซีนยี่ห้อแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) ตามแผนการที่รัฐบาลคสช.2 วางเอาไว้ แต่กลับไม่ปรากฏความแน่นอนทั้งจำนวนของวัคซีน รวมถึงแผนการกระจายวัคซีน แผนการฉีดและการลงทะเบียน แต่ต่อมา ชื่อของ ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ ก็ลอยเด่นขึ้นมาบนหน้าสื่อทุกแห่งเมื่อปรากฏว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้มีสิทธินำเข้า “วัคซีนทางเลือก” ซึ่งจะนำมาเพื่อ “ขาย” ไม่ได้แจกให้ฟรี ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรัฐบาล
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 (พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์)  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คณะรัฐประหาร คสช. แต่งตั้งขึ้นทั้งสิ้น โดยผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ซึ่งมีสมาชิกลงมติ 153 คน ลงมติเห็นชอบ 149 คน งดออกเสียง 4 คน ไม่มีเสียงคัดค้าน
พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 และใช้ได้เพียงหนึ่งปีกว่าๆ เท่านั้น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 สนช. ก็ลงมติอีกครั้งให้แก้ไข เป็นพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีสมาชิกลงมติ 194 คน ลงมติเห็นชอบ 192 คน งดออกเสียง 2 คน ไม่มีเสียงคัดค้านอีกเช่นเดิม
และพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันวิชาการ “ในกำกับของรัฐ” ได้งบประมาณจากรัฐ
พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาตรา 4 กำหนดให้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นสถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูง จัดการศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุข นอกจากนี้มาตรา 6 ยังกำหนดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดการศึกษา ผลิตบุคลากร ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ เท่ากับกำหนดขอบเขตงานไว้ค่อนข้างกว้าง ในมาตรา 10 ยังให้ราชวิทยาลัยมีอํานาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาได้
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นการรวมหน่วยงาน 3 แห่ง ภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานใหม่
สำหรับสถานะทางกฎหมายของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า หน่วยงานลักษณะนี้มีสถานะเป็น “องค์การมหาชน” เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ “ออกนอกระบบ” อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อดีของสถานะองค์การมหาชน คือ มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการงบประมาณของตนเอง ขณะที่ยังได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐอยู่
รายได้ของราชวิทยาลัย มาตรา 14 กำหนดให้มาจาก เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี โดยยังกำหนดชัดเจนว่า รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่ราชวิทยาลัยโดยตรงเป็นจํานวนที่เพียงพอสําหรับค่าใช้จ่ายที่จําเป็น ในกรณีที่รายได้ไม่เพียงพอสําหรับค่าใช้จ่ายในการดําเนินการของราชวิทยาลัย และราชวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐบาลพึงจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้ตามความจําเป็น
โดยงบประมาณที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ข้อมูลจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาวาระที่หนึ่งในวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 นั้น ปรากฏข้อมูลว่ามีการตั้งงบประมาณสำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไว้ที่ 5,708,822,200 บาท แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามแผนงานต่างๆ 4,740,434,200 บาท และงบบุคลากร 968,388,000 บาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 แล้วนั้น ตั้งงบประมาณไว้ที่ 7,699,747,400 บาท แบ่งเป็นงบสำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 6,804,969,900 บาท และงบสำหรับบุคลากร 894,777,500 บาท และปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 นั้น มีการตั้งงบประมาณสำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ 4,768,720,000 บาท
รายได้ของราชวิทยาลัยตามมาตรา 14 ยังมาจาก รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนหรือการร่วมลงทุนและจากทรัพย์สินของราชวิทยาลัยเอง ซึ่งรายได้ส่วนนี้ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินด้วย
แก้กฎหมาย เปลี่ยนตำแหน่งบริหาร จาก “ประธานสภา” เป็น “นายกสภา”
ระบบบริหารงานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามกฎหมายปี 2559 มาตรา 19 กำหนดให้มีสภาราชวิทยาลัยประกอบด้วย
1. ประธานสภาราชวิทยาลัย ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
2. เลขาธิการราชวิทยาลัย (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคําแนะนําของสภาราชวิทยาลัย)
3. กรรมการสภาราชวิทยาลัยโดยตําแหน่ง ได้แก่ หัวหน้าส่วนงานตามมาตรา 8 (2) (3) (4) และมาตรา 8 วรรคสอง
4. กรรมการสภาราชวิทยาลัยจํานวนไม่เกินห้าคน ซึ่งเลือกจากผู้ปฏบิัติงานในราชวิทยาลัย
5. กรรมการสภาราชวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนไม่เกินสิบคน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกโดยคําแนะนําของประธานสภาราชวิทยาลัย
วันที่ 28 กันยายน 2559 ก็มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ทรงดํารงตําแหน่ง ประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา 19 (1) ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2559  ทั้งนี้ในมาตรา 21 กำหนดให้ประธานสภาและกรรมการสภามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ก็ได้ โดยไม่ได้มีข้อจำกัดว่าดำรงตำแหน่งได้กี่วาระ
ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2560 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  และยังมีประกาศการแต่งตั้งกรรมการอีกหลายตำแหน่งตามมา
หลังจากนั้น สนช. ก็ได้แก้ไขกฎหมายใหม่ โดยกฎหมายฉบับแก้ไขที่ประกาศใช้ในช่วงปลายปี 2560 วางโครงสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ใหม่ โดยไม่นับรวมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นส่วนงานหนึ่งของราชวิทยาลัยอีกต่อไป จากเหตุผลท้ายพ.ร.บ.ฉบับแก้ไข ระบุว่า เพื่อให้การบริหารงานของราชวิทยาลัย มีความคล่องตัวและสามารถดําเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่จะดําเนินงานตามภารกิจได้โดยเร็วและมีความเป็นอิสระในการบริหารงานและการบริหารงบประมาณ
นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายในปี 2560 ยังได้แก้ไขตำแหน่งบริหารที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่ง “ประธานสภาราชวิทยาลัย” เป็นตำแหน่ง “นายกสภาราชวิทยาลัย” ซึ่งมีที่มาจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เช่นเดิม และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิม
และยังมีการเพิ่มมาตรา 23/1 ดังนี้
“มาตรา 23/1 เพื่อประโยชน์ในการดําเนินงานของราชวิทยาลัย ราชวิทยาลัยอาจมีประธานราชวิทยาลัยซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ได้
ให้สภาราชวิทยาลัยขอรับคําแนะนําและคําปรึกษาในกิจการทั้งปวงตามวัตถุประสงค์ของราชวิทยาลัยตามมาตรา 6 จากประธานราชวิทยาลัย
ประธานราชวิทยาลัยจะแต่งตั้งรองประธานราชวิทยาลัยเพื่อทําหน้าที่ตามที่ประธานราชวิทยาลัยมอบหมายก็ได้”
จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม 2561 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ทรงดำรงตำแหน่ง ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2561
เมื่อศาสตราจารย์นิธิ มหานนท์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชวิทยาลัย ครบวาระสี่ปีแล้ว ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระวินิจฉัยให้เสนอศาสตราจารย์นิธิ มหานนท์ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต่อไปอีกวาระหนึ่ง และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง มาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2564 แล้ว
และเมื่อศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนายกสภาราชวิทยาลัย ครบวาระสี่ปีแล้ว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำความกราบทูลขอพระราชทานพระกรุณาแก่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อีกวาระหนึ่ง และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 โดยระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง มาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564
โดยสรุป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีเลขาธิการ คือ ศาสตราจารย์นิธิ มหานนท์ คนเดียว ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสองวาระ ขณะที่ตำแหน่ง “ประธานสภาราชวิทยาลัย” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “นายกสภาราชวิทยาลัย” มีคนเดียว คือ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และยังดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานราชวิทยาลัย” พร้อมกันด้วย
โดยที่มาตรา 38 ของพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดว่า “ผู้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการราชวิทยาลัย รองเลขาธิการราชวิทยาลัย หัวหน้าส่วนงานและรองหัวหน้าส่วนงาน จะดํารงตําแหน่งดังกล่าวเกินหนึ่งตําแหน่งในขณะเดียวกันมิได้” แต่ไม่ได้ห้ามการดำรงตำแหน่งเกินหนึ่งตำแหน่ง สำหรับตำแหน่ง “นายกสภาราชวิทยาลัย” และตำแหน่ง “ประธานสภาราชวิทยาลัย”
ระบบการเงินแบบพิเศษขององค์การมหาชน
สถานะความเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่รัฐเพียงได้แต่กำกับดูแลการกระทำต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จะกำกับดุลยพินิจการตัดสินใจไม่ได้นั้น ทำให้พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดสถานะ “ยกเว้น” ทางการเงินไว้แตกต่างจากส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจหลายประการ ตัวอย่างเช่น
1. รายได้ของราชวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น (มาตรา 14 วรรคสาม)
2. กิจการของราชวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ (มาตรา 12) หมายความว่า ลูกจ้างอาจไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานเช่นเดียวกับลูกจ้างในกิจการประเภทอื่น
3. ทรัพย์สินของราชวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้งการบังคับทางปกครอง และบุคคลใดจะยกอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับราชวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของราชวิทยาลัยมิได้ (มาตรา 17)
4. ให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกซึ่งสภาราชวิทยาลัยแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของราชวิทยาลัย (มาตรา 48)
5. ฯลฯ
ซึ่งข้อยกเว้นเช่นนี้เป็นลักษณะพิเศษเพื่อความเป็นอิสระในการบริหารของหน่วยงานประเภทองค์การมหาชน ซึ่งเป็นองค์การที่เป็นอิสระในการบริหารงานด้วยตนเอง อยู่ภายใต้ฐานคิดแบบการกระจายอำนาจ ทำนองเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสามารถในการหารายได้เองอย่างเป็นอิสระตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ต้องถูกกำกับโดยส่วนกลางภายใต้ฐานคิดรวมศูนย์อำนาจเหมือนส่วนราชการ ทั้งนี้ การกำหนดข้อยกเว้นข้างต้น ก็เป็นการกำหนดเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 
อำนาจการออกประกาศของราชวิทยาลัย
25 พฤษภาคม 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันที่เข้ามาอยู่ในความสนใจของคนไทย เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ
ประกาศดังกล่าวกำหนดให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด ซึ่งรวมถึงการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์
ตามมาด้วยการแถลงข่าวของเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเป็นผู้นำเข้าวัคซีนยี่ห้อซิโนฟาร์ม เพื่อเป็น “วัคซีนทางเลือก” ในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวนหนึ่งล้านโดส โดยไม่ได้ให้ประชาชนฉีดฟรี เนื่องจากใช้งบประมาณของราชวิทยาลัย ไม่ใช่วัคซีนของรัฐ ตั้งใจซื้อมา-ขายไป
ข้อสังเกต คือ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ท้ายประกาศปรากฏพระนามของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในฐานะทั้งสองตำแหน่ง คือ ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ประกาศฉบับนี้ ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่กำหนดว่า การเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของส่วนงานให้ทําเป็นประกาศของราชวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมาตรา 22 (2) ที่กำหนดให้สภาราชวิทยาลัยมีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของราชวิทยาลัย แต่ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ผู้มีอำนาจลงนามท้ายประกาศ คือ ตำแหน่งใด
จากข้อมูลที่ปรากฎในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาพบว่า ตั้งแต่มีพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อปี 2559 มีประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มาแล้ว เก้าฉบับ ลงนามโดยเลขาธิการราชวิทยาลัย คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ หกฉบับ และลงนามโดยศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สามฉบับ
ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สองฉบับแรก ออกภายใต้กฎหมายปี 2559  ลงนามท้ายประกาศโดยตำแหน่ง “ประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ได้แก่  เรื่อง การจัดตั้งส่วนงาน และ เรื่อง ตราสัญลักษณ์ประจําราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 
ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อีกหกฉบับหลังจากนั้นลงนามโดย “เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ” ทั้งหมดไล่เรียงกันมา ได้แก่
จนกระทั่งประกาศฉบับล่าสุด วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นฉบับแรกและฉบับเดียว ที่ลงนามในฐานะสองตำแหน่ง คือ ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมกัน