decriminalize sex work : ภาคประชาชนเสนอ ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี

แม้ฐานคิดทางกฎหมายจะมองว่าการให้บริการทางเพศเป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและจำเป็นต้องมีการควบคุม ดังที่ประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้าบริการทางเพศไม่ได้หายไปจากความรับรู้โดยทั่วไปของคนในสังคม เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงและเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ถูกกดทับโดยความไม่เท่าเทียมในทางเศรษฐกิจแล้ว ความต้องการในการใช้บริการทางเพศก็มิเคยลดลงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามการกระทำดังกล่าวในปัจจุบันก็ไม่ได้ทำให้การค้าบริการทางเพศลดลงตามที่มุ่งหมาย และกลายเป็นการผลักผู้ให้บริการทางเพศต้องประกอบอาชีพอย่างหลบซ่อน ถึงแม้จะได้ประกอบอาชีพนี้ด้วยความสมัครใจในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่ก็ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ดังที่มีเสียงสะท้อนถึงการเข้ารับบริการจากเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลของรัฐที่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจและร่างกาย สืบเนื่องจากทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ให้บริการทางเพศ รวมถึงการถูกผู้บังคับใช้กฎหมายเอารัดเอาเปรียบจากการเรียกรับประโยชน์ หรือ “ส่วย” ไปจนถึงการล่อซื้อ ซึ่งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ให้บริการ แม้ทางภาครัฐจะยืนยันว่ามาตรการของรัฐเป็นไปโดยรักษาสิทธิของผู้ถูกจับกุมอย่างเคร่งครัดก็ตาม 
ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนจึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพื่อให้การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจไม่เป็นความผิดอาญา (Decriminalization) และเพื่อให้ผู้ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในฐานะแรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม
เปิดพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ใช้ตั้งแต่ 2539 เอาผิดโฆษณาเพื่อค้าบริการทางเพศ จำคุกสูงสุดสองปี ปรับ 10,000-40,000 บาท
ในอดีต มีการยอมรับว่าอาชีพค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายจากการออกประกาศท้องตราภาษีบำรุงถนนในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าบริการทางเพศ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 (พ.ศ. 2451) ขึ้นโดยใช้การจดทะเบียนเพื่อควบคุมการค้าประเวณีที่มีจำนวนมากขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและการเข้ามาของชาวตะวันตก
การค้าประเวณีหรือการให้บริการทางเพศถูกกำหนดให้เป็นการกระทำที่มีความผิดอาญาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ต่อมาได้มีการตราพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ขึ้นมาแทนที่  เพื่อลดโทษทางอาญาและปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการทางเพศ กำหนดอัตราโทษแก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าประเวณีให้สูงขึ้น และเพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย 
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กำหนดความผิดของบุคคลสองประเภท ด้วยกัน อันได้แก่ ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ และความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ มีสามกรณี 
1) ผู้ใดที่ติดต่อหรือชักชวนบุคคล เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 
2) ผู้ให้บริการที่เข้าไปมั่วสุมในสถานที่ค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้อาจผู้ที่เสี่ยงผิดกฎหมายอาจจะเป็นได้ทั้งตัวผู้ให้บริการทางเพศเอง หรือผู้อื่นที่ปฏิบัติงานในสถานบริการ อย่างไรก็ดี ถ้าถูกบังคับหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ไม่มีความผิด
3) ผู้ให้บริการที่โฆษณาหรือทำให้แพร่หลายไปยังสาธารณะเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้ผู้ที่มีความผิดทางกฎหมายมีทั้งผู้ให้บริการทางเพศ รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่โฆษณาการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ของตัวผู้ให้บริการทางเพศ
ทั้งนี้ การกำหนดให้การติดต่อและการโฆษณาเพื่อค้าประเวณีเป็นความผิด ทำให้ผู้ให้บริการทางเพศต้องเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องประกอบอาชีพอย่างหลบซ่อน หรือพึ่งพาผู้มีอิทธิพลเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อสูญเสียอำนาจในการต่อรอง ก็มักจะถูกนายหน้าหรือนายจ้างเอาเปรียบค่าจ้างหรือเวลาทำงาน และเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่ผู้ให้บริการอาจไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติเพราะกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้เสียเอง
ความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ มีสี่กรณี ดังต่อไปนี้
1) นายหน้าเพื่อการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากได้กระทำต่อบุคคลอายุมากกว่า 15 แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท แต่ถ้าได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท นอกจากนี้ ผู้กระทำยังต้องระวางโทษหนักขึ้นหากได้กระทำโดยใช้อุบายหลอกหลวง หรือใช้วิธีข่มขืนใจ 
2) บิดา มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งรู้เห็นในการกระทำนายหน้าค้าประเวณีต่อผู้อยู่ในความปกครองของตนซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี และมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 – 400,000 บาท
3) เจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการหรือสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 300,000 บาท นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามีเยาวชนค้าบริการอยู่ด้วยก็จะต้องระวางโทษจำคุกห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท และกรณีที่มีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท
4) ผู้ใช้บริการทางเพศ โดยหลักแล้วไม่มีความผิด เว้นแต่จะใช้บริการทางเพศจากอายุเกิน 15 แต่ไม่ถึง 18 ปี ในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท ถ้าใช้บริการทางเพศจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี รับโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท กรณีนี้ แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิด
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีการกำหนดมาตรการรับผู้ให้บริการทางเพศเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งศาลยังมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ให้บริการที่กระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษก็ได้ และหากเกิดการหลบหนีจากสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองอาชีพ กฎหมายก็เพียงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามตัวผู้หลบหนีเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องมีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด 
กำหนดความผิดผู้ให้บริการทางเพศอาจได้ไม่คุ้มเสีย นักวิชาการชี้ยกเลิกกฎหมาย ≠ ค้าบริการทางเพศเสรี
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รับรองสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ในมาตรา 28 และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในมาตรา 40 ผู้ให้บริการทางเพศมีสิทธิจะยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อร่างกายของตนได้ และมีเสรีภาพที่จะเลือกประกอบอาชีพ การให้บริการทางเพศโดยสมัครใจที่อยู่บนพื้นฐานของความยินยอม (Consent) จากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจึงไม่ได้ก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น แตกต่างจากกรณีแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีโดยผิดกฎหมาย และการกำหนดให้การค้าบริการทางเพศเป็นความผิดอาจเข้าข่ายเป็นจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ให้บริการเกินสมควรแก่เหตุด้วย
ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะไม่ถูกกีดกันจากการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เสียทีเดียว แต่ก็ยังมีสถานะเป็นแรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองสวัสดิการแรงงานขั้นพื้นฐานเหมือนอาชีพอื่น หากต้องตกงานจากการระบาดนี้ ก็ไม่อาจได้รับเงินทดแทนอย่างแรงงานที่มีสิทธิประกันสังคมได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาชีพผู้ให้บริการทางเพศมีส่วนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก  และควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกัน
ในมิติด้านกฎหมาย ปิยวัฒน์ วิทูราภรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา เรื่อง “ปัญหาในการกำหนดความรับผิดของผู้ค้าประเวณี” ว่า การกำหนดความผิดอาญาแก่ผู้ให้บริการทางเพศในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีขอบเขตการบังคับใช้ไม่แน่นอนและทับซ้อนกับความผิดในกฎหมายอื่น เช่น กรณีความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาการค้าประเวณี ซึ่งมุ่งหมายจะใช้แก้ปัญหาธุรกิจการค้าบริการทางเพศ แต่ก็ปรากฏว่าถูกนำมาบังคับใช้กับผู้ให้บริการทางเพศเช่นกัน และทับซ้อนกับความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารสู่สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 หรือกรณีนิยามของคำว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่แม้จะมีการค้าประเวณีเพียงหนึ่งครั้งก็เข้าข่ายตามนิยามนี้ ส่งผลให้การปรับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีมีขอบเขตกว้างกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว การยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมเป็นหมุดหมายสำคัญในการทบทวนสิทธิที่ผู้ให้บริการทางเพศควรจะได้รับเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ โดยในโครงการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี รองศาสตราจารย์ มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความพยายามในการควบคุมและคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีทั้งหมดผ่านการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีการวางนโยบายคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ การคุ้มครองไม่ให้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการตามความจำเป็น อันแสดงให้เห็นว่าการยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะไม่ได้นำไปสู่การค้าบริการทางเพศอย่างเสรีในประเทศไทยตามที่มีความกังวลแต่อย่างใด
ภาคประชาชนเสนอ ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ลดการตีตราผู้ให้บริการทางเพศเป็นอาชญากร นายหน้า-เจ้าของกิจการค้าประเวณี-ผู้ใช้บริการ หากฝ่าฝืนกฎหมายอื่นยังมีความผิด
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้น ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังทำการรวบรวมรายชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อ ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 เพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ. ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 โดยเมื่อรวบรวมรายชื่อครบและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และหากผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จะมีผลเป็นการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 และเกิดผลต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ ดังนี้
1) ผู้ให้บริการทางเพศไม่มีความผิดจากการติดต่อหรือชักชวนให้ซื้อบริการทางเพศของตน การเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี หรือการโฆษณาไปยังสาธารณะเพื่อการค้าประเวณี 
แต่หากการติดต่อนั้นทำให้เสียความสงบเรียบร้อยในสถานที่สาธารณะ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ มีความผิดตามมาตรา 397 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากการกระทำนั้นส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากการโฆษณาโดยมีลักษณะของการเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารสู่สาธารณะก็จะมีความผิดตามมาตรา 287 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) นายหน้ายังมีคงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากได้กระทำไปโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือใช้วิธีข่มขืนใจ มีความผิดตามมาตรา 283 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท โดยทั้งสองกรณีจะต้องระวางโทษหนักขึ้นหากได้กระทำต่อเด็กหรือเยาวชน 
กรณีที่บุคคลดังกล่าวดำรงชีพจากรายได้ของผู้ให้บริการทางเพศ ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต เว้นแต่จะเป็นประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมายหรือธรรมจรรยา 
หากการกระทำของบุคคลดังกล่าวมีลักษณะเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใดเป็นไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี ก็ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 อีกด้วย
3) เจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณีไม่มีความผิดจากจัดการหรือควบคุมดูแลกิจการค้าประเวณี แต่การขออนุญาตประกอบกิจการสถานบริการยังคงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509  ซึ่งกำหนดคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 และบุคคลดังกล่าวไม่สามารถรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์เข้าทำงานในสถานบริการ ตามมาตรา 16 หรือปล่อยให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้ามาใช้บริการ ตามมาตรา 16/1 อีกทั้งยังมีหน้าที่ควบคุมมิให้มีการแสดงที่ลามกหรืออนาจาร ตามมาตรา 19 มิฉะนั้นอาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการ และต้องระวางโทษทางอาญา
4) ผู้ใช้บริการทางเพศที่กระทำชำเราผู้ให้บริการทางเพศโดยที่ผู้ให้บริการไม่ยินยอม  มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 – 400,000 บาท 
แต่หากได้กระทำชำเราผู้ให้บริการที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ผู้ใช้บริการมีความผิดตามมาตรา 277 วรรคแรก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท ถ้าได้กระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000 – 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังต้องระวางโทษสูงขึ้นหากทำให้ผู้ให้บริการนั้นเข้าใจว่ามีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือกระทำโดยมีลักษณะเป็นการโทรมผู้ให้บริการ หรือเป็นเหตุให้ผู้ให้บริการได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเอกสารเข้าชื่อได้ที่นี่ กรอกแบบฟอร์มให้เรียบร้อย พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง และส่งแบบฟอร์มพร้อมสำเนาบัตรประชาชนทางไปรษณีย์ไปที่ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ 322 หมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ ถนนช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100