ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ: ต้องใช้เสียงแค่ไหนจึงจะผ่านประชามติ

ประชาชนไทยมีประสบการณ์ใช้ประชาธิปไตยทางตรงด้วยการใช้สิทธิออกเสียงประชามติครั้งแรกเมื่อปี 2550 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการประชามติแค่สองหน ทั้งนี้การทำประชามติทั้งสองครั้งจัดขึ้นภายใต้การปกครองของทหาร อย่างไรก็ดีประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ปรากฎบทบัญญัติเกี่ยวกับประชามติในรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้นเก้าฉบับ และปรากฎเป็นกฎหมายระดับรองอีกสี่ฉบับ และหากวันที่ 7-8 เมษายน 2564 รัฐสภาผ่านความเห็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ก็จะกลายเป็นห้าฉบับ

รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ

1. รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2492   

2. รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511   

3. รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2517   

4. รัฐธรรมนูญปี 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 

5. รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540               

6. รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี พ.ศ. 2549             

7. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550                 

8. รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี พ.ศ. 2557             

9. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560     

 

กฎหมายระดับรองที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ

1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541

2. ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ
และการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2550

3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

4. พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559

กฎหมายประชามติมากกว่าแค่เรื่องของรัฐธรรมนูญ
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ของรัฐสภา ไม่ใช่แค่การร่างกฎหมายเพื่อรองรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป็นการร่างขึ้นเพื่อรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 “มาตรา 166 ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้นหากร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ บังคับใช้จะเปิดโอกาสความเป็นไปได้ในการออกเสียงประชามติในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม ดังตัวอย่างที่มีการเสนอหัวข้อประชามติ เช่น “ยกเลิกวุฒิสภาจากแต่งตั้ง” หรือ “นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้น 
 
น่าเสียดายประเทศมีกฎหมายประชามติเช่นนี้สองฉบับคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 แต่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในการออกเสียงประชามติเลยสักครั้งเดียว มีแต่คณะรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ที่หยิบฉวยออกกฎหมายเกี่ยวกับประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองเท่านั้น
เสียงข้างมากแบบไหนถึงจะตัดสินผลประชามติ
 
การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจำนวนสองครั้งภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร กำหนดจำนวนเสียงข้างมากที่จะถือเป็นข้อยุติในการจัดทำประชามติ โดยกำหนดให้ “ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียประชามติ” กล่าวคือนับเฉพาะประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิถ้ามีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบฝั่งใดมากกว่าผลประชามติก็จะยุติไปตามนั้น
 
อย่างไรก็ตามในร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 13 กำหนดหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องได้เสียงข้างมากสองชั้น คือ ชั้นที่หนึ่ง “ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง” และชั้นที่สอง “ต้องมีจำนวนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง”
 
ขณะที่หากเป็นการออกเสียงประชามติในประเด็นอื่นๆ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กำหนดว่าถ้าให้ประชามติผ่านต้อง “ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียประชามติ” เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้การออกเสียงประชามติไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามถ้าต้องใช้เสียงข้างมากเพื่อให้มีข้อยุติต้องเสียงข้างมากสองชั้น แต่ถ้าเป็นการออกเสียงประชามติเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงเท่านั้น