เสรีภาพทางวิชาการ ในบรรยากาศใต้ระบอบแห่งการ “ย้อนกลับ”

5 เมษายน 2564 เวลา 13.30 – 16.30 น. ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย" เนื่องในโอกาสตีพิมพ์วารสารฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน” ณ ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยในงานเสวนาดังกล่าว ประกอบด้วยวิทยากรสี่คน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ รองศาสตราจารย์ พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และ ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ
ก่อนเริ่มงาน ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ ได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาว่า เจ้าหน้าที่จัดงานเสวนาได้มาแจ้ง ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปผู้ที่มาเข้าร่วมงานเสวนา ประจักษ์แสดงความเห็นว่า พอได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เพราะหัวงานคือ “เสรีภาพทางวิชาการ” เจ้าหน้าที่รัฐน่าจะกลัวว่าวิทยากรจะไม่มีวัตถุดิบในการพูดที่หนักแน่นพอ เจ้าหน้าที่รัฐก็เลยมาคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ 
รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นบรรณาธิการประจำฉบับของวารสารฟ้าเดียวกันฉบับพิเศษ “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน” ได้เล่าถึงความเป็นมาในการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพในทางวิชาการ ในสภาวะถดถอย” เนื่องจากปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทุกกลุ่ม หากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็มักจะเจอการคุกคาม งานเสวนาดังกล่าวด้านหนึ่งจึงเป็นการแสดงความรู้สึกอัดอั้นตัดใจที่มีร่วมกัน
เมื่ออำนาจของชนชั้นนำเสื่อมถอย การคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการจึงเกิดขึ้น
ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า “ความรู้คืออำนาจ” เพราะความรู้นั้นสัมพันธ์กับอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ความรู้ชนิดหนึ่งให้อำนาจกับคนกลุ่มหนึ่ง ความรู้อีกชนิดหนึ่งให้อำนาจกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีผลประโยชน์ เกียรติยศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้ด้วย ความรู้จึงไม่ได้ดำรงตัวอยู่ในสังคมอย่างโดดเดี่ยว แต่มีกลไกอื่นๆ หรือระบบที่อยู่รอบความรู้ ช่วยผดุงให้ความรู้เหล่านั้นนั้นดำรงอยู่ได้และให้อำนาจแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นในทุกสังคม ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งเสรี ความรู้จะถูกจำกัดในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้าง ที่สำคัญคือว่า ถูกควบคุมโดยใคร
สำหรับเมืองไทย ความรู้ที่ผดุงโครงสร้าง อำนาจ ผลประโยชน์ กำลังพังลง อะไรที่เคยเชื่อว่าเป็นความจริงก็ถูกตั้งคำถาม และถูกให้คำตอบที่มีหลักฐาน มีเหตุผล มีข้ออ้างอิงที่น่าเชื่อถือความรู้เดิมทั้งสิ้น จนส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ อำนาจ ผลประโยชน์ นิธิแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ในยุคนี้มีผู้หาความรู้จากช่องทางอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบแบบเก่า เช่น นักเรียนก็ไม่ได้แสวงหาความรู้จากในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่หาความรู้จากในระบบอินเทอร์เน็ตด้วย ฉะนั้น ความรู้ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมไทย จึงไม่มีคนควบคุม อีกทั้งยังไม่มีใครอธิบายความรู้แบบเก่าให้สามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปได้ ดังนั้นจึงไม่อาจผดุงความรู้แบบเก่าไปได้ ต้องอาศัยอำนาจรัฐ ทางรอดของความรู้สังคมไทยยุคเก่า คือ การคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ
นิธิ เล่าประสบการณ์สมัยที่เขาไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา ว่ามีนักวิชาการผู้หนึ่งเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการชื่อดังอีกคนหนึ่ง ปรากฏว่าหนังสือเล่มดังกล่าวไม่ได้รับการตีพิมพ์ จนต่อมาได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ซึ่งเริ่มเปิดสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ปรากฏการณ์ที่อธิบายมานี้คือการทำให้เสรีภาพทางวิชาการไม่เกิดขึ้นโดยระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันก็ต่อสู้กับตัวมันเอง เพราะท้ายที่สุดก็มีมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าว ดังนั้น นิธิจึงมีความเห็นว่า เสรีภาพทางวิชาการนั้นมีคนควบคุม เพียงแต่ว่าประเด็นสำคัญคือ ใครคุม และคุมอย่างไร
นิธิ ระบุว่า ความทันสมัยเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะความทันสมัยเช่นกัน และการเกิดระบบความรู้ใหม่ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชนชั้นนำได้ ในขณะที่สังคมไทย ชนชั้นนำไทยได้สร้างความรู้แบบใหม่ คือ ความรู้ที่เกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” นิธิ อธิบายว่า ความเป็นไทยกับความเป็นวังคืออันเดียวกัน ความเป็นไทยมีสาระสำคัญสองอย่าง หนึ่ง เป็นสารัตถนิยม (Essentialism) สอง เปรียบเทียบได้กับสิ่งที่มันเป็นในโลกสากล ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม สิ่งที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นไทยมีเหตุมีผล เทียบได้กับคุณค่าสากล ในความเห็นของนิธิ ชนชั้นนำไทยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เก่งมาก สามารถสร้างความรู้มารับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ผลกระทบของความทันสมัยที่มีต่อสังคมไทยนั้นไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงนัก
ต่อมา ต้นศตวรรษที่ 20 ระบบความรู้เหล่านี้ไม่สามารถรองรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ขึ้นมา นิธิเชื่อว่าคณะราษฎรมีความพยายามที่จะสร้างความเป็นไทยแบบใหม่แต่ไม่สามารถลุล่วงได้ ต่อมาช่วงปี 2500 มีความพยายามจะรื้อฟื้นความรู้แบบเดิมในยุครัชกาลที่ห้ามา แต่ก็ไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
นิธิเห็นว่า ความเสื่อมถอยเสรีภาพทางวิชาการในตอนนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมถอยของระบบความรู้ที่จะรองรับอำนาจ และผลประโยชน์ต่างๆ ที่อยู่ในเมืองไทย จะเห็นชะตาของชนชั้นนำที่ตอนนี้ต้องอาศัยอำนาจดิบ เช่น กฎหมาย ในการผดุงรักษาผลประโยชน์เอาไว้ เพราะไม่มีระบบความรู้รองรับเพียงพอ
พรมแดนแห่งการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการในรัฐไทย การรับรองเสรีภาพ แต่ปราศจากการคุ้มครอง
ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มตั้งฐานการอธิบายว่าเสรีภาพในทางวิชาการว่าคืออะไร โดยยกตัวอย่างข้อสงสัยส่วนตัวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตายอย่างไร ตายในผ้าเหลือง ถูกทุบด้วยท่อนจันทร์ หรือถูกตัดศีรษะ ผู้คนจะตอบคำถามอย่างนี้ได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยนักวิชาการ อาศัยคนที่ไฝ่ใจศึกษาในด้านนี้ มีวิธีการที่เป็นระบบระเบียบ มาตอบคำถามให้เรารู้ อย่างไรก็ดี คำตอบดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือตัวอย่างของเสรีภาพในทางวิชาการ  อันมีเป้าหมายมุ่งแสวงหาความจริง เพื่อให้เราฉลาดขึ้น ดังนั้น เสรีภาพในทางวิชาการจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ปัญหาว่าการคุ้มครองเสรีภาพควรมีขอบเขตแค่ไหน วรเจตน์เล่าว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรองเสรีภาพทางวิชาการ คือ รัฐธรรมนูญ 2517 แล้วก็หายไป จากนั้นกลับมารับรองอีกทีในรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2517 มีข้อถกเถียงว่าควรมีข้อจำกัดเสรีภาพในทางวิชาการหรือไม่ ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรก ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เห็นว่าไม่ควรเขียนข้อจำกัดเพราะเสรีภาพทางวิชาการมีข้อจำกัดอยู่แล้วโดยสภาพ ฝ่ายที่สอง บรรดานักกฎหมาย เห็นว่าควรเขียนข้อจำกัดไว้ ผลคือฝ่ายที่สองชนะโหวต ผลสรุปในรัฐธรรมนูญ 2517 ระบุข้อจำกัดว่าเสรีภาพทางวิชาการ ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมือง
โดยบริบทช่วง 2517 นั้นมีการสอนเรื่องคอมมิวนิสต์ จึงมีข้อจำกัดดังกล่าวเพื่อเตือนนักวิชาการ ส่วนในรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้กำหนดไว้ในมาตรา 34 เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น วรเจตน์แสดงความเห็นว่า ในเบื้องต้นรัฐไทยอาจจะไม่ได้เจตจำนง (willing) ที่จะให้เสรีภาพในทางวิชาการเหมือนประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตย
ในความเห็นของวรเจตน์ เสรีภาพทางวิชาการมันถูกจำกัดโดยตัวของมันเองเมื่อมันไปปะทะกับเสรีภาพประการอื่นซึ่งมีความสำคัญกว่า เช่น เราจะใช้เสรีภาพในทางวิชาการนำมนุษย์มาทดลองไม่ได้เพราะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นนักวิชาการจึงจะอ้างเสรีภาพตลอดไม่ได้ เพราะเสรีภาพในทางวิชาการไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีเสรีภาพประการอื่นอยู่ด้วย
วรเจตน์ชี้ว่าเสรีภาพในทางวิชาการ เป็นปัญหาในสองมิติ ทั้งการจำกัดจากรัฐและจากประชาชน โดยกรณีหลังอาจเกิดจากการทำงานวิชาการที่ไปกระทบต่อความเชื่อยึดถือของบุคคล จนส่งผลให้คนกลุ่มนั้นไม่พอใจ ดังนั้นเพียงแต่การรับรองเสรีภาพในการวิชาการอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องคุ้มครองบุคคลเพื่อไม่ให้การใช้เสรีภาพทางวิชาการนั้นถูกกระทบจากบุคคลอื่นด้วย
การคุกคามนักวิชาการซ่อนรูปผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ภายใต้โลกที่เสรีภาพทางวิชาการหมุนย้อนกลับไปในอดีต
รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เวลาพูดถึงเสรีภาพในทางวิชาการ ด้านหนึ่งคือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เชื่อกันมา สิ่งที่ถูกอบรมสั่งสอนหรือถูกบังคับให้เชื่อ ซึ่งฉลองมองว่าสังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพในทางวิชาการในแง่นี้เลยจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้ามาสู่สังคมไทยสมัยใหม่ จะเห็นได้จากตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ตั้งคำถามในสังคมไทย เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ เทียนวรรณ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ ในขณะที่กรณีของโลกตะวันตกและตะวันออกบางแห่งเคยมีเสรีภาพทางวิชาการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นๆ
ฉลองระบุว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในทุกวันนี้ สะท้อนสังคมไทยในวงกว้าง ว่าโลกในทางวิชาการตอนนี้กำลังหมุนกลับไปในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับงานค้นคว้าทางวิชาการที่มุ่งแสวงหาความจริงไม่ว่าจะถูกหรือผิด ตัวอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เช่น กรณีของวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง ที่เรียกร้องให้มีการสอบสวน ให้ถอดถอนปริญญาบัตร การข่มขู่การใช้มาตรา 112 และการฟ้องร้องคดีทางแพ่งของทายาทจากราชสกุลหนึ่งก็เป็นการคุกคาม เป็นความรุนแรงที่แทบไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่ก.ศ.ร.กุหลาบ เทียนวรรณ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ถูกกระทำก่อนหน้านี้
ด้านศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เสริมถึงประเด็นวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวอะไรกับเสรีภาพในทางวิชาการ ถึงแม้ว่าผลที่ค้นคว้ามาจะปรากฏว่ามันผิด แต่รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเสรีภาพของบุคคล เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าไม่มีผู้ใดกล้าที่จะแสวงหาความรู้ เสนอความรู้ใหม่ๆ เพียงแต่ว่าคนที่มองเห็นว่างานวิชาการนั้นมีข้อผิดพลาด ก็มีเสรีภาพในทางวิชาการที่จะโต้แย้งได้
แก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการครั้งใหม่ ห้ามเปิดเผยข้อมูลอาจทำให้กษัตริย์เสียหาย-ความมั่นคง พรมแดนแห่งเสรีภาพทางวิชาการที่ค่อยๆ ลดลง
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ กล่าวถึงเสรีภาพในทางวิชาการอีกด้านหนึ่ง คือ การเข้าถึงข้อมูล การเข้าถึงข้อเท็จจริงโดยไม่มีอะไรปิดกั้น แต่สิ่งที่ตลกร้าย คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ในความเข้าใจของนักวิชาการ มองว่ากฎหมายนี้น่าจะทำให้พลเมืองเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้อย่างเสรี ไม่มีการปิดกั้น แต่ที่ผ่านมา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยอาศัยกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเย็น ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ กรรมการที่เกี่ยวข้อง จนกลายเป็นว่าเกิดอุปสรรคของพลเมืองในการเข้าถึงข้อเท็จจริง ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ มีประเด็นสำคัญจะนำไปสู่ความยากในการทำงานของนักวิชาการ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ทั้งข้อมูลที่อาจจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสียหาย และข้อมูลด้านความมั่นคง ซึ่งอาจจะทำให้เสรีภาพในทางวิชาการเสื่อมถอยมากไปกว่าที่เป็นอยู่
วรเจตน์ ภาคีรัตน์เสริมข้อมูลการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ว่ากรณีที่กำหนดข้อมูลความมั่นคงของรัฐในด้านต่างๆ และตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นข้อมูลห้ามเปิดเผย เป็นการขยายอำนาจรัฐมนตรีให้มากขึ้น อีกทั้งการกำหนดให้การพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับข้อมูลห้ามเปิดเผยต้องทำเป็นการลับ จะทำให้รัฐสามารถควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น
เมื่อเสรีภาพทางวิชาการผูกกับระบอบการปกครอง การแก้ไขปัญหาต้อง “คืนอำนาจ” ให้ประชาชนตัดสินใจ
วรเจตน์แสดงความเห็นว่า เสรีภาพในทางวิชาการผูกอยู่กับระบอบการปกครองและไปด้วยกัน อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รูปแบบของระบอบมีการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างชุดกฎหมายมารองรับการเปลี่ยนของระบอบนี้ กลไกสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนระบอบ คือรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีการแก้ไขบางมาตราหลังจากการทำประชามติและไม่ได้ทำประชามติซ้ำอีกครั้ง เช่น บทบัญญัติว่าด้วยการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนอง อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 เองก็ได้เปิดโอกาสให้รัฐก้าวล่วงต่อสิทธิของบุคคลด้วย โดยใช้ข้อยกเว้นเรื่องความมั่นคงของรัฐ
นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีชุดกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เหล่านี้คือกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังมีรัฐธรรมนูญ 2560
วรเจตน์ระบุว่าวิธีที่ดีที่สุด ในการออกจากปัญหาระบอบที่เป็นอยู่และเป็นวิธีที่เป็นไปได้ คือการให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยไม่มีข้อจำกัด และหากในอนาคตจะกำหนดเสรีภาพทางวิชาการอย่างไรก็ค่อยดำเนินการไป