ความขัดแย้งทางการเมืองจากผลคำตัดสินของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ด้วยความคาดหวังว่า ศาลจะเป็นองค์กร "พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมายหรือตรวจสอบอำนาจรัฐให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า หลังวิกฤติการเมืองที่เริ่มต้นในปี 2549 เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญค่อยๆ ขยายบทบาทและเข้ามาเป็นผู้เล่นทางการเมืองเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการล้มรัฐบาล หรือ การสร้างสูญญากาศทางการเมืองเพื่อเปิดทางไปสู่การรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นผู้ยุติข้อพิพาทก็กลับกลายไปเป็นผู้สร้างข้อพิพาททางการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พอจะแบ่งช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างน้อย 4 ช่วงเวลา ดังนี้
1) ปี 2549 ล้มเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร ยุบพรรคการเมืองยอดนิยม
หลังการยุบสภาของรัฐบาล "พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร" ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ผลปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการ "บอยคอต" หรือปฏิเสธไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า การยุบสภาครั้งดังกล่าวเป็นการ "เลี่ยงการตรวจสอบ" ของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งผลสุดท้ายทำให้การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา หรือ การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ติดปัญหา อาทิ บางเขตเลือกตั้งมีแต่ผู้สมัครรับรับเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว และมีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และมีการโจมตีว่า พรรคไทยรักไทยจ้างวานพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
หลังการเลือกตั้งมีผู้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยระบุว่า ผลของการเลือกตั้งดังกล่าวไม่เที่ยงธรรม ไม่ได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การจัดคูหาเลือกตั้งรูปแบบใหม่ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ทว่า ยังไม่ทันจะมีการเลือกตั้งใหม่ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน
หลังการรัฐประหารที่นำโดย "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ คปค. ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" หรือ คมช. ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการชุดดังกล่าวได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค "ไทยรักไทย" จากข้อกล่าวหาว่าจ้างให้คนสมัครรับเลือกตั้ง และมีการนำประกาศของคณะรัฐประหารมาใช้ลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้ต่อมาภายหลังมีการเปิดโปงว่า มีการว่าจ้างพยานเท็จเพื่อกล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างให้มีคนสมัครรับเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จนตามมาด้วยการรัฐประหารและการยุบพรรคไทยรักไทยได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ที่แบ่งสังคมออกเป็น "สองสี-สองขั้ว" อย่างชัดเจน ระหว่าง "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"  หรือ "คนเสื้อเหลือง" ที่ต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กับ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" ที่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" หรือ นปช. หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "คนเสื้อแดง" ที่มีจุดยืนในการต่อต้านการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย
2) ปี 2551 – 2553 ล้มรัฐบาลสองชุด สร้างรอยร้าวการเมืองให้เพิ่มขึ้น 
หลังคณะรัฐประหาร หรือ คมช. ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นอันเรียบร้อย รัฐบาล คมช. ได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ผลปรากฏว่า พรรคการเมืองขั้วอดีตรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ หรือ "พรรคพลังประชาชน" ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่รับไม้ต่อมาจากพรรคไทยรักไทยได้กลายเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง โดยมี 'สมัคร สุนทรเวช' เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากรับตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ 'สมัคร สุนทรเวช' ต้องพ้นจากตำแหน่ง จากกรณีเป็นพิธีกรรับเชิญในรายการโทรทัศน์ ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า คำวินิจฉัยในคดีนี้ก็เป็นที่วิจารณ์ว่า เป็นการตีความที่กว้างขว้างและไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย
หลังการพ้นตำแหน่งของ สมัคร สุนทรเวช พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอ "สมชาย วงศ์สวสัดิ์" เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 75 วัน ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากข้อกล่าวหาว่า กรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและถูกตัดสิทธิทางการเมือง จนท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในรัฐสภา ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้าน นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
หลังการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในปี 2552 เป็นต้นมา โดยเห็นว่า มีการแทรกแซงทางการเมืองจนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน รวมถึงเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลก็ได้เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 94 ราย และกลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลครั้งใหญ่ในความขัดแย้งทางการเมือง
3) ปี 2557 ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญ ล้มเลือกตั้งสร้างสุญญากาศการเมืองเพื่อการรัฐประหาร
หลังการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2554 พรรคเพื่อไทย พรรคที่รับไม้ต่อมาจากพรรคพลังประชาชนกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในยุคนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงสองครั้ง ได้แก่ 
หนึ่ง การแก้ไข้รัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้สมาชิกรัฐสภาระงับการลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงมีคำวินิจฉัยออกมาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรทำประชามติเสียก่อน 
สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เข้ามาวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ ที่เรียกว่า "ฉบับเหมาเข่ง" จนเกิดการชุมนุมใหญ่ของ "กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กลุ่ม กปปส. จนนำไปสู่การตัดสินใจยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธการลงสมัครรับเลือกตั้ง และกลุ่ม กปปส. ได้เข้าไปขัดขวางการรับสมัครและปิดคูหาการเลือกตั้งจนเป็นเหตุให้บางเขตมีปัญหาไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เนื่องจาก มีเขตเลือกตั้งจำนวน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัคร และ กกต. เกรงว่า หากจะจัดให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่จะไม่มีกฎหมายรองรับ จึงแนะนำให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฏีกาเพิ่ม แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินตีความว่า หากรัฐบาลตราพระราชกฤษฏีกาเพิ่มจะทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้เป็นโมฆะ แต่ทว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาทั้งฉบับเป็นโมฆะ จึงทำให้เกิด "สูญญากาศทางการเมือง" เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ได้ และ กกต. ก็ไม่มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่ยังมีปัญหา จนในท้ายที่สุด การเลือกตั้งก็ถูกโค่นล้มอย่างเด็ดขาดด้วยการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
หลังการรัฐประหาร พบว่า มีการชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองในเชิงต่อต้านการรัฐประหารอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การคุกคามสิทธิเสรีภาพครั้งใหญ่ โดยมีประชาชนอย่างน้อย 929 คน ถูก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร มีผู้ที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 245 คน มีผู้ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 169 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแสดงออกในเชิงต่อต้านคัดค้านคณะรัฐประหาร 
4) ปี 2563 ยุบพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ เกิดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศ
หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง คือ การวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง โดยมีอย่างน้อยสองพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เป็นขั้วตรงข้างกับคณะรัฐประหาร หรือ คสช. ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค 
โดยการยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ จากกรณีการกู้เงิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท แต่ทว่า คำวินิจดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดและไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลจึงเป็นการตีความอย่างกว้างขวางเพื่อยุบพรรค
อย่างไรก็ดี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นดังกล่าวได้นำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทย เพราะทำให้เกิดบรรดากลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกทางการเมืองผ่านการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นภายในสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย อย่างน้อย 24 แห่ง ทั่วประเทศ จนเกิดเป็นกระแสติดแฮชแท็กบนโลกออนไลน์ อาทิ #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย ของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาของโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นต้น