รัฐสภาวุ่น! ส.ส. ส.ว. เสนอสี่ทางออก #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม

17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีพิจารณา “เรื่องด่วน” คือ ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม ที่มีประเด็นร้อนแรงก่อนหน้านี้ จากการที่สมชาย แสวงการ ส.ว. และไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอญัตติให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 
ภายหลังจากมีข่าวเผยแพร่ (press release) จากศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ซึ่งมีใจความว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติเสียก่อน สมาชิกรัฐสภาหลายรายตีความคำว่า “ก่อน” แตกต่างกันออกไป บางส่วนตีความว่าต้องไปเริ่มทำประชามติใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนเสนอญัตติ #แก้รัฐธรรมนูญ จึงลงมติในวาระสามไม่ได้ บางส่วนเห็นว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ภายหลังจากลงมติวาระสาม หากมีการแก้ไขเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติ จึงสามารถลงมติในวาระสามได้แล้วค่อยทำประชามติ 
จนกระทั่งวันที่ 15 มีนาคม 2564 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อความไม่ได้ระบุว่ารัฐสภาจะทำประชามติได้ในขั้นตอนใด การตีความทั้งในแวดวงวิชาการ แวดวงผู้มีประสบการณ์ยกร่างรัฐธรรมนูญ และในบรรดาสมาชิกรัฐสภาเอง จึงแตกต่างหลากหลายและยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่ารัฐสภาจะลงมติในวาระที่สามนี้หรือไม่ โดยเหตุนี้ ก่อนที่จะลงมติในวาระสาม สมาชิกรัฐสภาจึงอภิปรายและเสนอญัตติเพื่อหาข้อตกลงในปัญหาดังกล่าว
ข้อเสนอแรก ให้รัฐสภาลงมติว่าไม่สามารถลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม
สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกัน เพื่อลงมติว่า ไม่สามารถลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ โดยยกเหตุผลว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตัวเต็ม ระบุให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน อีกทั้งฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาและฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาก็ให้ข้อมูลว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาอาจไม่สามารถลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ ในวาระสามได้ ภายหลังจากนั้นจึงมีการรับรองญัตติดังกล่าว แต่ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาชี้แจงว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ ที่ลงชื่อรออภิปราย จึงต้องเปิดทางให้คนอื่นอภิปรายด้วย
ข้อเสนอที่สอง ให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้ง
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถูกตีความหลากหลาย เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นแวดวงวิชาการ แวดวงผู้มีประสบการณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่รัฐสภาอีกรอบ ว่าจะลงมติวาระสามได้หรือไม่
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ไม่ใช่การ "ยื้อเวลา" แต่เพื่อหาทางออกและความชัดเจนขอบเขตอำนาจของรัฐสภาต่อไป
ด้านศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า เห็นด้วยกับจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตน์ ที่เสนอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่าที่มีคำวินิจฉัยนั้น "แท้จริงแล้วเราต้องทำอะไรกัน" เห็นว่าวันนี้ยังไม่ต้องลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ ในวาระสาม
ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยืนยันเจตนาพรรคภูมิใจไทยประสงค์จะ #แก้รัฐธรรมนูญ​ ให้เป็นฉบับประชาชน ให้มีการเลือกตั้งสสร. การลงมติวาระ 3 ก่อน ก็ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัย แต่เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกันเช่นนี้ เกรงว่าถ้าลงมติแล้วร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาในวาระสามอาจตกไปและทั้งหมดจะสูญเปล่า ซึ่งตามเจตนาของพรรคไม่ต้องการเช่นนั้น  และทวงถามความรับผิดชอบจากพรรคฝ่ายค้านว่าถ้าร่างตกไปจะรับผิดชอบไหวหรือ เสนอให้ทำเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญไปอีกครั้งตามข้อเสนอของจุรินทร์ เนื่องจากแนวทางนี้ พอจะมีทิศทางที่เป็นไปได้
ข้อเสนอที่สาม ให้ชะลอการพิจารณา #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม  
นิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้แขวนการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ วาระสามออกไปก่อน ไปหาข้อสรุปในเชิงกฎหมายให้ชัดเจน ว่าสถานะของร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่นี้จะเป็นอย่างไร ถ้าจะทำประชามติต้องใช้กระบวนการประชามติอย่างไร หรือใช้พ.ร.บ.ประชามติที่ขณะนี้เป็นร่างกฎหมายรอให้รัฐสภาพิจารณาอยู่
วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มีความเห็นว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติเสีย “ก่อน” หมายถึง ก่อนที่รัฐสภาจะมีมติเด็ดขาดให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมติเด็ดขาดจะอยู่ในวาระสาม ดังนั้น จึงต้องทำประชามติก่อนวาระสาม เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระการพิจารณา #แก้รัฐธรรมนูญ ออกไปก่อน ทำประชามติ แล้วจึงค่อยกลับมาลงมติวาระสาม รัฐสภาย่อมลงมติตาม “เสียงสววรค์” จากประชาชนผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ
หากคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญไปวันนี้ ประชาชนจะไม่เชื่อถือรัฐสภา เพราะผ่านวาระหนึ่ง วาระสองมาแล้ว และมาคว่ำในวาระสาม ดูเหมือนหลอกประชาชน ทางออกที่ตนเสนอจะเป็นทางออกที่สวยงามที่สุด
ข้อเสนอที่สี่ ให้สมาชิกรัฐสภาโหวตผ่าน #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสามต่อไป
ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาหาแนวทางการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4 แนวทาง
1) ให้รัฐสภาพิจารณา #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม ต่อไป 
2) ให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกรอบ
3) ให้ชะลอการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม  
4) ให้รัฐสภาลงมติว่า จะไม่ลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของส.ว. 
ชลน่านระบุว่า จากคำวินิจฉัยตัวเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีถ้อยคำใดที่ระบุว่าให้ไปเริ่มทำประชามติก่อนเสนอญัตติ ด้วยวิธีการที่รัฐสภากำลังทำนี้ คือ กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ขั้นตอนวาระสามตามมาตรา 256 (6) ไม่ใช่ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อีกทั้งนักวิชาการ เช่น  สมคิด เลิศไพฑูรย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สมชัย ศรีสุทธิยากร พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ล้วนมีความเห็นว่า คำว่า “ก่อน” (ให้ประชาชนลงประชามติก่อน) หมายถึงก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขั้นตอนนี้ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ซึ่งหากผ่านวาระสาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ก็กำหนดเรื่องการทำประชามติอยู่แล้ว หากทำตามกระบวนการนี้ก็จะเป็นการทำตามกฎหมาย และได้ทำประชามติถามประชาชน 
ชลน่านทิ้งท้ายว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือการทำหน้าที่ของรัฐสภา โหวต #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม อยากให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกัน เพื่อบ้านเพื่อเมือง อย่าให้การแก้รัฐธรรมนูญแท้งไปเสียก่อน เชิญชวนสมาชิกรัฐสภาท่านอื่นๆ ใส่ชุดดำในพรุ่งนี้ เพื่อสะท้อนว่าไม่เห็นด้วยที่จะล้มการแก้รัฐธรรมนูญ 
รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หากเรียงลำดับเหตุการณ์ หลังจาก #แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านวาระสาม ก็ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แต่จะเป็นการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นกระบวนการที่อยู่ภายหลังการตั้งสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลา 1-2 ปี ส่วนที่ให้ลงประชามติก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะเริ่มได้เมื่อใด คือเริ่มก่อนองค์กรผู้ร่าง คือสสร. มีสถานะในทางกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องลงมติในวาระที่สามก่อน และเข้าสู่กระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งหมดที่ดำเนินการมา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ข้อเสนอที่จะส่งผลให้การแก้รัฐธรรมนูญต้องเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้การพิจารณาต้องไปอยู่ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องไปอีกว่าจะไม่สามารถเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันอีกครั้งได้ 
ด้านสุทิน คลังแสง ส.ส. เพื่อไทย อภิปรายทำนองเดียวกันว่าขณะนี้ยังเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวด 15/1 ยังไม่เริ่ม 
สุทินกล่าวว่า ถ้าหากเคารพอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นของประชาชน จะดับความหวังของประชาชนทำไม ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ชี้