เลือกตั้งท้องถิ่น: ปูความรู้สู่เลือกตั้งเทศบาล

เลือกตั้งท้องถิ่น: ปูความรู้สู่เลือกตั้งเทศบาล 
28 มีนาคม 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งนัดหมายสำคัญของประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลทั่วประเทศต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล หรือ สท. หลังจากห่างหายไปนานกว่า 6 ปี นับตั้งแต่ที่ คสช.เข้ามาทำการรัฐประหารยึดอำนาจ 
เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับพื้นฐาน มีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน มากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับใหญ่อย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ. เนื่องจาก อบจ.มีเขตพื้นที่ดูแลครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่เทศบาลนั้นมีพื้นที่รับผิดชอบในขนาดที่เล็กกว่าทำให้การดูแลจัดการเป็นไปได้อย่างทั่วถึงมากกว่า 
การเลือกตั้งเทศบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,472 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลนคร 30 แห่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิไปเลือกตั้งเทศบาล ทั้งนี้เป็นเพราะเทศบาลไม่ได้มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมดเหมือนกับ อบจ. 
+++พื้นฐานความรู้ : เทศบาล 101+++
ในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กำหนดการแบ่งประเภทของเทศบาลไว้ ดังต่อไปนี้ 
มาตรา 9 กำหนดว่า  “เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย”
มาตรา 10 กำหนดว่า “เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย”
มาตรา 11 กำหนดว่า “เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ห้าหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า "เทศบาล" แบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร โดยหลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทนั้น จะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและสภาพเศรษฐกิจโดยพิจารณาจากการจัดเก็บรายได้ในพื้นที่นั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อการเกิดขึ้นของเทศบาลขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย จึงทำให้ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีเทศบาลดูแลรับผิดชอบ แต่อาจอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. ที่เป็นอีกหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับพื้นฐานเช่นเดียวกัน 
๐ ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของเทศบาล
ใน พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ได้กำหนดภารกิจและหน้าที่หลักๆ ของเทศบาลไว้ คือการจัดทำบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง เช่น 
– ก่อสร้างซ่อมแซมถนนหนทาง ระบบขนส่งต่างๆ 
– จัดการขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
– การจัดการศึกษา
– การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
– การจัดให้มีและบํารุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 
– การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นต้น 
โดยภารกิจของเทศบาลแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพและงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่
๐ งบประมาณของเทศบาล
นอกจากนี้ อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของเทศบาลแต่ละแห่ง คือ การจัดเก็บภาษีต่างๆ ภายในเขตของตัวเองเพื่อนำมาเป็นรายได้ในการดำเนินงานตามภารกิจต่างๆ โดยรายได้ส่วนนี้เรียกว่า ‘รายได้จัดเก็บเอง’ เช่น
– ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
– ภาษีบำรุงท้องที่
– ภาษีป้าย
– อากรฆ่าสัตว์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นอกจากรายได้ที่จัดเก็บเองแล้ว เทศบาลยังมีรายรับจากงบประมาณส่วนกลางและเงินอุดหนุนที่จัดสรรโดยรัฐบาลอีกด้วย
ในจำนวนเทศบาลตำบล 2,247 แห่งทั่วประเทศ มีงบประมาณโดยเฉลี่ย 64 ล้านบาทต่อปี โดยเทศบาลตำบลที่เล็กที่สุดมีงบประมาณ ประมาณ 17 ล้านบาท ขณะที่เทศบาลตำบลที่ใหญ่ที่สุดมีงบประมาณสูงถึง 1,163 ล้านบาท 
ส่วนในเทศบาลเมืองที่มีจำนวน 195 แห่งทั่วประเทศ มีงบประมาณโดยเฉลี่ย 301 ล้านบาทต่อปี โดยเทศบาลเมืองที่เล็กที่สุดมีงบประมาณประมาณ 65 ล้านบาท ขณะที่เทศบาลเมืองที่ใหญ่ที่สุดมีงบประมาณสูงถึง 1,761 ล้านบาท 
และเทศบาลนครที่มีจำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ มีงบประมาณโดยเฉลี่ย 1,128 ล้านบาทต่อปี โดยเทศบาลนครที่เล็กที่สุดมีงบประมาณประมาณ 543 ล้านบาท ขณะที่เทศบาลนครที่ใหญ่ที่สุดมีงบประมาณสูงถึง 2,659 ล้านบาท 
จากจำนวนงบประมาณของเทศบาลโดยเฉลี่ยแล้ว จะพบว่า บางแห่งนั้นมีงบประมาณในมือที่สูงมาก ไม่ว่าจะมาจากรายได้ที่จัดเก็บเองหรืองบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ดังนั้นการจัดทำบริการสาธารณะหรืออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ตัวเองย่อมสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 
แม้ดูเหมือนว่าเทศบาลจะมีขนาดเล็กกว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่เทศบาลบางแห่งกลับได้รับงบประมาณมากกว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดบางแห่งด้วยซ้ำ เช่นเมื่อดูจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564   ระบุว่า เทศบาลนครเกาะสมุย ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี จำนวนประมาณ 217 ล้านบาท ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีขอบเขตพื้นที่ดูแลทั้งจังหวัด ได้รับงบประมาณ จำนวน 447 ล้านบาท มากกว่ากันประมาณเพียง 1 เท่าตัว 
ทั้งหากเปรียบเทียบงบประมาณที่เทศบาลนครเกาะสมุยกับงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงาและองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ จะพบว่าเทศบาลนครเกาะสมุยมีงบประมาณมากกว่า โดย อบจ. ทั้งสองแห่งนี้ได้รับงบประมาณ 166 ล้านบาท และ 213 ล้านบาท ตามลำดับ  
๐ โครงสร้างของเทศบาล 
เทศบาลมีโครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี 1 คน และสภาเทศบาลโดยจำนวนของสมาชิกเทศบาลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. เทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนครได้ เขตละ 6 คน รวม 24 คน 
2. เทศบาลเมือง มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมืองได้ เขตละ 6 คน รวม 18 คน 
3. เทศบาลตำบล มี 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้ เขตละ 6 คน รวม 12 คน
ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมีวาระอยู่ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
โดยมีนายกเทศมนตรี ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ดูแลบริหารจัดการงานของเทศบาลตามที่กฎหมายกำหนด เสนอแผนการใช้งบประมาณและแผนการลงทุนต่อสภาเทศบาล ในขณะที่สภาเทศบาล ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกเทศมนตรี ออกกฎหมาย เทศบัญญัติเพื่อดูแลความเรียบร้อยภายในเทศบาลนั้นๆ รวมถึงอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น 
+++เตรียมพร้อมก่อนไปเลือกตั้งเทศบาล+++
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน การเลือกตั้งเทศบาลก็กำลังจะมาถึงแล้ว เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนได้เตรียมความพร้อมก่อน ไอลอว์จึงได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้และขั้นตอนการไปเลือกตั้งเพื่อให้ได้เตรียมกันก่อนล่วงหน้า  ดังนี้
1. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
– มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 
– อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
– มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
2. หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง 
บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานอื่นของทางราชการหรือหน่วยงานรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง 
3. การตรวจสอบรายชื่อตนเองก่อนวันเลือกตั้ง
สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมถึงหน่วยเลือกตั้งของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/ 
หรือสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ที่ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสามารถตรวจรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งมายังเจ้าบ้านได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน 
หากตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย 
4. ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง
– หนึ่ง ตรวจสอบรายชื่อ
   ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
– สอง ยื่นหลักฐานแสดงตน
    แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
– สาม รับบัตรเลือกตั้ง
    รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
– สี่ เข้าคูหา กาบัตรสองใบ
    ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
๐ บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เลือกผู้สมัครได้ 1 คน
๐ บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลได้เขตละไม่เกิน 6 คน 
*สำคัญ* ในการลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาเทศบาล ถ้าประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้สมัครน้อยกว่า 6 คน สามารถทำได้ แต่จะลงคะแนนให้มากกว่า 6 คนไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นบัตรเสีย  โดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัคร สท. ได้อย่างอิสระ โดยจะเลือก "ยกทีม" หรือ "รายคน" ก็ได้ 
5. วันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง 
วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สิ่งสำคัญ คือ การเลือกตั้งเทศบาล จะต้องเดินทางกลับไปเลือกตั้งตามภูมิลำเนาที่ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้าน โดยจะไม่มีการให้เลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งนอกเขต