รวมสรุปอภิปรายในประเด็น “สสร. ห้ามแก้หมวด 1-2”

25 กุมภาพันธ์ 2564 มีการอภิปรายเพื่อพิจารณา #ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่สอง ในประเด็นที่ถกเถียงกันว่า เมื่อตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว จะสามารถเขียน หมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ โดยมีสรุปคำอภิปรายจากส.ส.พรรคก้าวไกล ดังต่อไปนี้ 

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลและในฐานะกรรมาธิการแก้ไชรัฐธรรมนูญ อภิปรายว่า บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 256/13 ที่ระบุว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้ กรณีรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างมีลักษณะตามวรรค 5 ให้เป็นอันตกไป เห็นว่าส่วนนี้ควรต้องตัดออกไป โดยให้เหตุผลว่า

เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้ ม.255 ที่ได้กำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้อยู่แล้ว ความกังวลที่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การกำหนดห้ามเช่นนี้ ประชาชนย่อมตั้งคำถาม เพราะที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขเพื่อให้ทันสมัย เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้มีการแก้ไขภายหลังจากผ่านประชามติแล้ว โดยเป็นการแก้ไขมาตราที่อยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์​ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขหมวด 1-2 สามารถทำได้ ที่ผ่านมาเราทำเหมือนว่าเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ ไม่มีปกติประเพณี ซึ่งไม่ใช่ เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดถึงห้ามไม่ให้สสร.กระทำการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยรังสิมันต์ได้กล่าวว่า “ในอดีตเมื่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ก็กระทบกระเทือนกับเรื่องที่กับสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน ก็ทำได้ แล้วเหตุใดเราจะไม่ให้ สสร. เขียนให้เหมาะกับกาลสมัย การไปกำหนดข้อห้ามมิให้สสร.แตกมาตรานั้น มาตรานี้ทำแบบนี้เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือครับ ยิ่งเราห้าม ยิ่งเป็นผลเสีย ยิ่งทำราวกับว่าเรื่องนี้พูดถึงไม่ได้เลย ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่ห้าม สสร. แตะหมวด 1-2”

นอกจากนี้ ยังระบุว่า อำนาจของ สสร. คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ถ้าห้ามแก้หมวด1-2 ในขณะที่สภายังมีอำนาจแก้ไขหมวด 1-2 อยู่ถือเป็นความลักลั่นอีกประการหนึ่ง ดังนั้น จึงควรปล่อยให้ สสร. พิจารณาถึงกาลสมัยและความเหมาะสมเพื่อให้ได้เราได้รัฐธรรมนูญที่ดี ถ้าหากยังล็อคห้ามมิให้แก้หมวดใด มาตราใดก็เชื่อว่าเราจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด

จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายโดยตั้งคำถามว่า ถ้าบอกว่าหมวด 1-2 สำคัญจนแตะต้องไม่ได้ แล้วหมวด 1-2 สำคัญกว่าหมวดอื่นอย่างไร รัฐธรรมนูญควรสำคัญเท่ากันทุกๆหมวด ทุกๆ มาตรา ในเมื่ออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ซึ่ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น เราจะไปตีกรอบตัวแทนของประชาชนในการเข้ามาทำหน้าที่ได้อย่างไร หากเป็นห่วงว่าจะมีการแก้ หมวด 1-2 ก็ให้ไปว่าในชั้นของ สสร. เพราะมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่า สสร. จะต้องรายงานความคืบหน้าต่อสภา หากต้องการแก้ไขเพิ่มเติมก็ค่อยไปว่าในชั้นนั้น  อีกทั้งระบุว่า สสร. มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมมากกว่าบางสมาชิกสภาแห่งนี้ด้วยซ้ำ สภาจึงไม่มีสิทธิตีกรอบความคิดของ สสร. โดยจะต้องคืนอำนาจให้ประชาชน

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. ก้าวไกลและ กมธ. เสียงข้างน้อย ได้ขอสงวนความเห็นในวรรคท้ายของ ม.256/13 ที่ระบุว่า การจัดทำรัฐธรรนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1-2 จะกระทำมิได้ กรณีรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างมีลักษณะตามวรรค 5 ให้เป็นอันตกไป ธีรัจชัย ระบุว่า การกำหนดแบบนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาสภาแห่งนี้ จะเห็นว่า มี ส.ว. 250 คนที่มาจาก คสช. ซึ่งการกำหนดให้รัฐสภาตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นการแก้ไขหมวด 1-2 หรือไม่ ย่อมสามารถทำได้ตามอำเภอใจเพราะบวกเสียง ส.ว. 250 คนและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแล้วย่อมมีเสียงมากกว่า จึงนับเป็นการเป็นหมกเม็ดที่สำคัญที่สุด การจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นกลับกลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับผู้อำนาจว่าจะให้แก้หรือไม่ 

ส.ว. ยัน ห้าม สสร. แตะหมวด 1 หมวด 2 และบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา

การประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ มีประเด็นที่ถกเถียงในสภาเรื่องหนึ่ง คือการ “ห้าม สสร. ร่างรัฐธรรมนูญแก้เนื้อหา หมวด 1 หมวด 2 และบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่อยู่ในหมวดอื่นๆ” โดยในภาพรวม มีสมาชิกรัฐสภาที่เห็นว่าควรให้ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่มีเงื่อน อย่างไรก็ดี ส.ว. หลายคน ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยที่จะให้ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขทั้งต้น อ้างว่าเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” หรือ “สถานการณ์ไม่ปกติ” โดยสรุปเนื้อหาการอภิปรายของ ส .ว. ได้ดังนี้

พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร ส.ว. อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 60 ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมา ขณะนี้ผมค่อนข้างมั่นใจ ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ตรงนี้ขอแปรญัตติมาตรา 256/13 วรรคสาม สี่ ห้า หก และเพิ่มวรรคห้าทับหนึ่ง วรรคสาม ได้เขียนไว้ว่า สสร. ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป อย่างทั่วถึง โดยสสร. ต้องเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อมวลชน ผ่านเวทีแสดงความคิดเห็น จากประสบการณ์ ผมกังวลใจมากในเวลา 240 วันที่ สสร. จะร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะทำได้แค่ไหนเพียงใด เขียนไว้สวยงามมากครับ ว่าประชาชนทั่วไป ประชาชนทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง เพื่อความรอบคอบ เพื่อความชัดเจน ผมไม่ได้แก้ไขครับ ผมขอเพิ่มเติม “ในกรณีที่เรื่องใดหรือประเด็นใดได้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะต้องบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทาร่างรัฐธรรมนูญให้มีเนื้อหาเป็นไปตามผลของการออกเสียงประชามตินั้นด้วย”

สำหรับวรรคที่ห้านั้น ผมเองถือว่าเป็นหัวใจสำคัญมาก รัฐธรรมนูญแห่งนี้ได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 และการแก้ไขเพิ่มเติมที่เรากำลังพิจารณานี้ ซึ่งผ่านมาในมาตรา 256 แล้วว่า ภายใต้มาตรา 255 ท่านจะไปแตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้ แต่หมวด 1 นั้นกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ โดยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา ผ่านทางคณะรัฐมนตรี ผ่านทางศาล เป็นรูปแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2475 หรือบางมาตราตั้งแต่ 2492 ถ้าดูแล้ว ท่านก็บอกว่า เอ๊ะ มันโบราณไปหรือเปล่า เราควรจะแก้ได้นะ ไม่ใช่ครับ ยิ่งหมวดที่ 2 นั้น เป็นการกำหนดเพื่อรองรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ท่านก็ตรา บัญญัติไว้อย่างนั้น ให้เราแก้อย่างนั้น เป็นอื่นไม่ได้ครับ “เพียงแต่ผมจะเพิ่มเติมเข้าไปว่า พระราชอำนาจของพระองค์ท่านนั้นยังมีอีก 37 มาตราหลัก อีก 1 มาตราในบทเฉพาะกาล เป็นพระราชอำนาจที่พระองค์ทรงดูแล้ว หรือใช้พระราชอำนาจนั้นผ่านผู้มีความรับผิดชอบ ก็คือว่า การที่พระองค์จะดำเนินการ บัญญัติอะไรก็ตาม ก็ต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ ก็คือ มาตรา 182 โดยผู้สนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นผู้ดำเนินการหรือรับถ่ายทอดอำนาจดำเนินการแทน ผมจึงเห็นว่า วรรคห้า ถ้าให้สอดคล้องกับหมวด 1 หมวด 2 มันยังมีพระราชอำนาจของพระองค์ท่านในมาตราอื่นๆ อีก 37 มาตรา ก็คงจะต้องคงไว้ ไม่ใช่เฉพาะรักษาไว้เฉพาะหมวด 1 หมวด 2 เท่านั้น” ก็จึงแปรฯ เพิ่มไปว่า “รวมทั้งบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์” ใครจะทำไม่ได้

“ถ้าหากท่านประธานให้โหวตเป็นวรรคๆ ผมจะดีใจมากครับ ลงมติเป็นวรรคๆ  ทำไมหรือครับ จะได้รู้ครับ ใครจะเอาสถาบันฯ ใครไม่เอาสถาบันฯ กับปากอย่างใจอย่าง แต่ผมไม่ได้ว่าใครนะครับ” สมาชิกรัฐสภาผมเห็นส่วนใหญ่ ปลื้มใจครับ ท่านรักสถาบันฯ มากครับ รักสถาบันฯ เทิดทูนสถาบันฯ ผมเองนั้น เพราะอะไรครับ ผมบอกว่า ประเทศไทยเนี่ย ตั้งแต่เกิดเป็นประเทศไทยมา พระมหากษัตริย์ไทยก็เกิดขึ้นพร้อมๆ มา ถูกต้อง แต่พระมหากษัตริย์ไทยเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านเป็นนักประชาธิปไตยตั้งแต่องค์แรกของประเทศไทย พ่อขุนรามคำแหงเคยบันทึกไว้ในหลักศิลาจารึกไว้ว่า ท่านมีระบบการปกครองระบอบพ่อปกครองลูก ในความเป็นประชาธิปไตยของพ่อขุนรามคำแหง บันทึกไว้ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว … ใครจะใครค้าช้าง ค้า ใครจะใคร่ค้าม้า ค้า ฯลฯ เห็นไหมครับ พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นนักประชาธิปไตยตั้งแต่องค์แรกของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ในวรรคที่ห้าผมแปรญัตตินี้เพื่อคงพระราชอำนาจในมาตราอื่นไว้ และเพิ่มในวรรคห้าทับหนึ่งมา ซึ่งในวาระรับหลักการ 17 พฤศจิกายน 2563 ผมได้สอบถามผู้ยื่นญัตติว่า ท่านจะนำข้อดีของพระราชอำนาจบัญญัติไว้ไหม แต่ท่านไม่ได้เขียนครับผมจึงต้องแปรญัตติ และข้อสอง ข้อดีของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแก้ไขมาเรื่อยๆ ท่านจะเขียนไว้ไหม ท่านตอบว่ายินดีครับ แต่วันนี้ไม่เขียนครับ ผมจึงต้องลุกขึ้นมาพูดให้สภา พี่น้องประชาชน สื่อมวลชนเข้าใจ ยืนยันว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญมีเยอะ ไม่ว่าการกำหนดเรื่องงบประมาณ เรื่องของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

พลเอก ดนัย มีชูเวท อภิปรายพร้อมสไลด์ประกอบ เดิมร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ในหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำรัฐธรรมนูญใหม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้ ขอแปรญัตติเพิ่ม นอกจาก 2 หมวดแล้ว ให้รวมบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้ เหตุผล ที่แปรญัตติมาตราดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หมวด 1 “มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” “มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น จึงเกิดความเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสามสถาบันหลักนั้น ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีอีกถึง 38 มาตรา ในเจ็ดหมวด กับหนึ่งมาตรา ในบทเฉพาะการ ที่ยึดโยงและก็เป็นการปฏิบัติตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย 

ตัวอย่างที่ยึดโยง “มาตรา 121 ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้” อันนี้เป็นพระราชอำนาจและเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมได้แปรญัตติเพิ่มเติมในมาตรา 256/13 โดยเพิ่มวรรคหก ความว่า “บทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ให้มีบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย

  1. ยุทธศาสตร์ชาติ 
  2. หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์
  3. เงื่อนไขในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายตามมาตรา 144
  4. บทบัญญัติที่เกี่ยวกับหน้าที่และอานาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”

เฉลิมชัย เฟื่องคอน อภิปรายโดยอ่านบทญัตติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ หรือมีคีย์เวิร์ดว่า “พระมหากษัตริย์” เช่น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาตุลาการ การเข้ารับหน้าท่ีต้องปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งในบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าไม่บัญญัติห้ามไว้ว่าจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ หากไปเลือกตั้งสสร. อาจจะมีการแก้ไขตัดทอนพระราชอำนาจดังกล่าวได้ ถึงขอแปรญัตติเพิ่มข้อความ ไว้ในวรรคห้า 

ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ขอแปรญัตติเฉพาะมาตรา 256/13 วรรคห้าและวรรคหก วรรคห้า การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 นั้น ไม่ควรทำ และเห็นว่าต้องคงไว้ ด้วยเหตุผลว่า หมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องของบททั่วไปที่เกี่ยวกับราชอาณาจักร และเรื่องของพระมหากษัตริย์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็ยอมรับในที่นี้ ที่เสนอเพิ่มเติม คือ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะกระจัดกระจายในหมวดอื่น ในส่วนนี้ขอให้คงไว้ และในส่วนมาตรา 269 มาตรา 272 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป ก็ขอให้คงไว้

เสรี สุวรรณภานนท์ ชี้แจงว่า กรณี สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามมีเนื้อหาแก้หมวด 1 หมวด 2 ก็เป็นไปตามญัตติที่รัฐบาลเสนอ ความคิดเห็นแต่ของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนก็แตกต่างกันได้ ส่วนของวุฒิสภาเองมีมุมมองอีกส่วนหนึ่ง ว่าการที่จะปกป้องสถาบัน ก็เป็นหน้าที่สำคัญที่วุฒิสภาต้องทำหน้าที่ตรงนี้อย่างชัดเจน เข้มแข็ง และสามารถปกป้องสถาบันได้อย่างแท้จริง ในส่วนของการพิจารณาเราไม่ได้นึกไปเอง หรือตัดสินใจด้วยความไม่มีเหตุมีผล แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน การที่จะร่างรัฐธรรมนูญดีๆ สักฉบับ ซึ่งต้องมีหลักการเรื่องการปกป้องสถาบันฯ อย่างที่หลายฝ่ายได้พยายามพูดถึงกัน สถานการณ์บ้านเมืองมีความเห็นที่แตกต่าง ดังนั้น จากการตัดสินใจที่จะปกป้องสถาบันฯ ของวุฒิสภา เราจึงต้องยึดหลักสำคัญ และสอดคล้องกับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่การแก้หมวด 1 หมวด 2 จะกระทำไม่ได้ แต่ด้วยความเป็นห่วง ต้องการจะปกป้องสถาบันฯ เราจึงมีข้อเสนอ พวกเราให้ท่านพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร เสนอมาว่าอย่าไปแตะต้อง อย่าไปยุ่งเกี่ยว ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอความเห็น ที่มีหลายฝักหลายฝ่ายที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในสังคม เราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่วุฒิสภาเรามีกมธ.ปกป้องสถาบันฯ ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญในช่วงสถานการณ์นี้ “เราไม่ไว้ใจ” จะให้อำนาจสสร. ไปเขียนได้ทุกเรื่อง

สมชาย แสวงการ อภิปรายว่า ท่านกำลังตีเช็คเปล่าในการร่างรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าล็อคหมวด 1 หมวด 2 อีก 38 มาตรา พระราชอำนาจซึ่งอยู่แต่ละมาตรา มีความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นความมั่นคงของชาติ ถ้าเราบอกว่า เราไว้วางใจขนาดนั้น ไม่ต้องใส่หมวด 1 หมวด 2 เลยสิครับ เพราะเดี๋ยว 200 คนเขาร่างได้เอง จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะพระราชอำนาจไม่ได้อยู่ในหมวด 1 หมวด 2 ตามรายงานชัดเจนว่า 38 มาตรา เขียนชัดเจนว่ามีเจตนาที่สืบทอดมาตั้งแต่ 2475 ยังไง ที่เราขอวันนี้ไม่เกินเลย เพราะหมวด 1 หมวด 2 ไม่เพียงพอจะใส่ 38 มาตราไปจริงๆ 

คำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายว่า นอกจากหมวด 1 หมวด 2 ควรจะห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา เข้าใจว่าเกี่ยวกับพระราชอำนาจปกติไม่ได้แก้ไขอยู่แล้ว แต่นี่คือ “สถานการณ์ไม่ปกติ” ถ้าจะเติมขึ้นอีกนิด จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น ย่อมสามารถทำได้ตามอำเภอใจเพราะบวกเสียงส.ว.250 คนและส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแล้วย่อมมีเสียงมากกว่า จึงนับเป็นการเป็นหมกเม็ดที่สำคัญที่สุด การจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นกลับกลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับผู้อำนาจว่าจะให้แก้หรือไม่