แก้รัฐธรรมนูญ: กมธ.เสียงข้างมาก ห้าม สสร. “แก้ไขหมวด 1-หมวด 2” รัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….  ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน เป็นผู้จัดทำ แต่ทว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีข้อห้ามไม่ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีผลเป็นการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจเต็มที่จะนำปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนเข้ามาพิจารณาและหาทางออก โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎรก็จะไม่ได้นำเข้าสู่กลไกการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.
แต่อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในสภาก็มีความแตกต่างกัน เพราะในรายงานของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ หรือ ขอสงวนความเห็นเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาปรับแก้ในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน้อย 4 แนวทาง ได้แก่
(1) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. มาตรา 256/13 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้"
(2) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ได้ตามข้อยกเว้น
ข้อเสนอดังกล่าว มีผู้เสนอหลักๆ อยู่สองแนวทาง แนวทางแรก เป็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไข มาตรา 256/13 วรรคห้า โดยให้เขียนว่า "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ เว้นแต่ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น"
ส่วนแนวทางที่สอง มีผู้เสนอหลักได้แก่  นิยม เวชกามา และ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ตัด มาตรา 256/13 วรรคห้าออก แต่ให้บัญญัติไว้ใน มาตรา 256/13 วรรคสอง อนุหนึ่ง ว่า "ต้องคงไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและคงไว้ซึ่งหลักการที่ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้"
(3) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา
ข้อเสนอที่ให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา เป็นข้อเสนอที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้สนับสนุนหลัก เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ธีรัจชัย พันธุมาศ และรังสิมันต์โรม อีกทั้งยังมี ส.ส.พรรคประชาชาติ อย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่สนับสนุน โดยเสนอให้ตัด มาตรา 256/13 วรรคห้า ของร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ออกทั้งวรรค
(4) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแก้หมวด 1-2 และที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ รวมถึงให้คงบรรดากลไกพิเศษของคสช.ไว้
ข้อเสนอดังกล่าวมาจากการสงวนคำแปรญัตติของบรรดา ส.ว. โดยบุคคลที่เสนอแนวทางดังกล่าวไว้อย่างครอบคลุมทุกประเด็น คือ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ที่เสนอแก้ไข มาตรา 256/13 ของร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. ว่า  "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้"
นอกจากนี้ ยังเสนอเพิ่มในมาตรา 256/13 วรรคหกด้วยว่า "บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ หรือหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือเงื่อนไขในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา 144 หรือ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบทบัญญัติหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ เป็นบทบัญญัติที่ต้องมีบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย"
ส่วนคนที่ขอสงวนคำแปรญัตติไว้เฉพาะการห้ามแก้หมวดที่ 1 และ 2 รวมถึงให้คงกลไกพิเศษของคสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงบางประเด็น ได้แก่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. ที่เสนอให้เขียน มาตรา 256/13 วรรคห้า ว่า "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในหมวดอื่นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ และต้องบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มาตรา 269 มาตรา 272 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป"
จากการบัญญัติรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ จะทำให้กลไกพิเศษของคสช. ได้แก่ ที่มาและอำนาจของ ส.ว.แต่งตั้ง กลไกยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ รวมถึงอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้รับการรับรองให้ยังคงอยู่ต่อไป
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ