ก้าวไกลเสนอ แก้วิ.แพ่ง+วิ.อาญา หวังหยุดคดี SLAPP “ปิดปากการมีส่วนร่วม”

การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “คดีปิดปาก” มาจากภาษาอังกฤษว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP) คือ การฟ้องคดีเพื่อมีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้กับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งการฟ้องคดีไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ "ปิดปาก" คนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ
คดีลักษณะนี้มีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัททุ่งคำ เจ้าของเหมืองแร่ในจังหวัดเลย ฟ้องนักข่าวเยาวชนและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ฐานหมิ่นประมาท จากการเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการทำเหมืองแร่ทองคำ ต่อมามีการเจรจาและถอนฟ้องกันไป หรือกรณี ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลขอให้ระงับการบุกเบิกพื้นที่โครงการโรงงานน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล ต่อมาถูกเจ้าของโรงงานน้ำตาลยื่นฟ้องสมาชิกกลุ่ม 21 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต่อมาตัดสินใจถอนฟ้องเอง 
ปัญหาของคดี SLAPP ที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ และประเด็นที่เป็นผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับตัวเอง เนื่องจาก "กลัวถูกฟ้อง" ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการตัดสินใจในประเด็นที่จะกระทบกับชีวิตของตัวเองได้ และปัญหาที่ตามมา คือ กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งกลไกตำรวจ อัยการ ศาล กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งกัน ทำให้ "คดีรกโรงรกศาล" เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีภาระงานเยอะเกินไปกับเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องขึ้นมาตั้งแต่ต้น
ศาลเสนอแก้กฎหมายแล้ว 1 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ผล
17 เมษายน 2561 สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมเปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอเเก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาโดยมีเจตนาไม่สุจริต โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็รับลูกต่อไป และลงมติผ่านออกมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเป็นการเพิ่มเติมมาตราเดียว เป็น มาตรา 161/1 เนื้อความดังนี้
มาตรา 161/1  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย
การเพิ่มเติมมาตรา 161/1 ขึ้นมาแสดงถึงความต้องการของศาล หรือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการแก้ปัญหาการฟ้องคดี SLAPP ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ศาลมีโอกาสยกฟ้องคดีได้เลยโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามปกติ และไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องด้วย อย่างไรก็ตามการแก้ไขมาตรา 161/1 ก็ยังมีจุดที่ไม่ครอบคลุมอยู่บ้าง 
1) มาตรานี้อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่บางครั้งคดี "ปิดปาก" ก็เป็นการฟ้องคดีทางแพ่ง มาตรา 161/1 ไม่ครอบคลุมถึงคดีแพ่งด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัททุ่งคำ เจ้าของเหมืองแร่ในจังหวัดเลย ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้านที่อยู่รอบเหมือง จากการทำซุ้มหน้าหมู่บ้านเขียนว่า "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" ซึ่งสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง และชาวบ้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีกลับ เป็นคดีใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหายฐานถูกฟ้องคดีกลั่นแกล้ง ซึ่งศาลพิพากษาให้ชาวบ้านชนะคดี ให้บริษัทจ่ายค่าเสียหาย 170,000 บาท แต่ต้องเสียเวลาไปหลายปี และเมื่อศาลพิพากษาให้บริษัทจ่ายค่าเสียหาย บริษัทก็ล้มละลายไปก่อนแล้ว
2) มาตรา 161/1 จำกัดการใช้กระบวนการนี้เฉพาะ "คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์" หมายความว่า ใช้กับคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องประชาชนด้วยกันเองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงการยื่นฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้ง สร้างภาระ และ "ปิดปาก" คนที่แสดงความคิดเห็นยังมีคดีที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่มคดีด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า (กอ.รมน. 4 สน.) แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท กับพรเพ็ญ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมชาย ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอัญชนา นักกิจกรรมกลุ่มด้วยใจ จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานปี 2557 – 2558 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งความดำเนินคดีกับพะเยาว์, สิรวิชญ์ และพริษฐ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากการร่วมกันจัดกิจกรรมต้านโกงเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องความโปร่งใสของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562
หลังกฎหมายบังคับใช้ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เคยทดลองใช้ช่องทางตามมาตรา 161/1 เพื่อยุติการฟ้องคดีปิดปากแล้ว ตัวอย่างเช่น ในคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร เจ้าของฟาร์มไก่ในจ.ลพบุรี ฟ้องคดีต่องามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีแชร์โพสต์ขององค์กร Fortify Rights ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทก่อนหน้านี้บนหน้าเฟซบุ๊กเพจของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาไม่รับฟ้อง เนื่องจากเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยไม่สุจริต ตามมาตรา 161/1 แต่ศาลกลับไม่มีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับคำร้องนั้นและให้ไต่ส่วนมูลฟ้องและพิจารณาคดีไปตามกระบวนการจนถึงชั้นอุทธรณ์ โดยทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ก้าวไกลเสนอใหม่ แก้ครอบคลุมทั้ง วิ.แพ่ง วิ.อาญา
10 กุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้เสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวนห้าฉบับเข้าสู่สภา โดยสองฉบับจากชุดร่างกฎหมายดังกล่าว มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่ด้วย ทั้งสองฉบับเรียกได้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ไขปัญหาการฟ้อง "คดีปิดปาก" ที่เกิดขึ้น
เหตุผลในการเสนอร่างทั้งสองฉบับ ระบุไว้คล้ายกันว่า "เนื่องด้วยประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะมักจะถูกดำเนินคดีที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” อยู่เสมอ โดยบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐใช้การฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อหยุด ลงโทษ หรือการต่อต้านบรรดานักเคลื่อนไหว แกนนำหรือสมาชิกชุมชน หรือประชาชน ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การร้องเรียน การชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ที่กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของบริษัทเอกชน การดำเนินนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล หรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นโยบายสาธารณะต่างๆ ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งลดทอนทรัพยากรและข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาทหรือยุติการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ และแม้สุดท้ายจำเลยจะสามารถต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง แต่ก่อนหน้านั้นจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องเสียค่าใช้จ่าย เผชิญการคุกคาม กดดันทางอารมณ์และอื่น ๆ จนทำให้หยุดการมีส่วนร่วมสาธารณะไป"
ร่างทั้งสองฉบับ ได้กำหนดนิยามของ "คดีปิดปาก" ขึ้นคล้ายกัน ใช้คำเรียกว่า "คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ" โดยร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เขียนนิยามไว้ดังนี้
“(๒/๑) “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” หมายความว่า การฟ้องคดีต่อบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อข่มขู่ ก่อกวน สร้างความกดดันอย่างไม่เหมาะสมหรือยับยั้งการใช้หรือสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญหรือพันธกรณีระหว่างประเทศ ในการมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะ”
ร่างทั้งสองฉบับ ได้กำหนดขั้นตอนการต่อต้านคดีปิดปากเอาไว้คล้ายกัน โดยร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดเป็น มาตรา 173 ทวิ ต่อท้ายจากเรื่องการไต่สวนมูลฟ้อง และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดเป็น มาตรา 165/3 ต่อท้ายจากเรื่องการไต่สวนมูลฟ้องเช่นกัน
ขั้นตอนตามกฎหมายใหม่ที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือ เมื่อจำเลยได้รับคำฟ้องแล้ว และเห็นว่าคดีที่ฟ้องนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ สามารถยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องได้ภายในระยะเวลายื่นคำให้การ และให้ศาลนัดพิจารณาคดีโดยเร็ว จำเลยผู้ยื่นคำร้องมีภาระการพิสูจน์ด้วยการแสดงพยานหลักฐาน "ที่มีน้ำหนักยิ่ง" ว่าคดีนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ถ้าจำเลยพิสูจน์ได้ ให้ฝ่ายโจทก์พิสูจน์ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะชนะคดี ถ้าจำเลยพิสูจน์ได้และโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว ห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นอีก 
ถ้าคดีนั้นโจทก์เป็นผู้ทำสัญญากับรัฐบาล ให้ศาลส่งคำพิพากษาไปยังหัวหน้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต หรือทำสัญญากับโจทก์ และคณะรัฐมนตรี แต่ถ้าคดีนั้นโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ให้ศาลส่งคำพิพากษา ไปยังคณะรัฐมนตรี วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
ในกรณีที่ศาลยกฟ้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ และการบรรเทาทุกข์อื่นๆ อย่างเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งคดีให้แก่จำเลยก็ได้
ในกรณีที่ศาลยกคำร้องของจำเลย โดยเหตุว่าเป็นคำร้องที่ปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือมีลักษณะประวิงคดี ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีในส่วนคำร้องนั้นก็ได้
ให้ศาลแจ้งหน่วยงานรัฐ และให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายได้เลย
จุดเด่นของข้อเสนอนี้ คือ เพิ่มกลไกที่จะ "ป้องกัน" ไม่ให้เกิดการฟ้อง "คดีปิดปาก" เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น การกำหนดว่า ถ้าศาลยกฟ้องแล้วห้ามฟ้องใหม่ในเรื่องเดียวกันอีก เพื่อป้องกันไม่ให้โจทก์ที่มีต้นทุนทางการเงินดียื่นฟ้องคดีซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เป็นภาระกับผู้ถูกฟ้องคดี รวมถึงการให้ศาลมีหน้าที่ส่งคำพิพากษาไปยังหน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญากับผู้ฟ้องคดี หรือส่งไปยังคณะรัฐมนตรี วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่หน่วยงานรัฐยื่นฟ้องเอง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าองค์กรที่รับคำพิพากษาไปจะดำเนินการอย่างไรต่อหรือไม่ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะให้องค์กรที่มีอำนาจสูงกว่าพิจารณาลงโทษ เพื่อไม่ให้มีการฟ้องคดีกลั่นแกล้งประชาชนโดยไม่สุจริตได้อีก
การกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายได้เลย ก็เป็นการลดขั้นตอน เพราะหากให้ผู้ที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก ต้องไปดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายใหม่เองภายหลัง จะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ที่ถูกฟ้องคดีปิดปากไปอีก และอาจใช้เวลานานจนไม่ทันการ ดังตัวอย่างคดีระหว่างชาวบ้านจังหวัดเลยกับเหมืองแร่ทองคำ ที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากศาลเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่สุจริต จึงสั่งยกฟ้อง พร้อมกับกำหนดค่าเสียหายไปในคราวเดียวน่าจะช่วยย่นระยะเวลาได้ และอาจทำให้คนที่จะยื่นฟ้องคดีโดยรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีมูลที่จะดำเนินคดีได้ ต้องคิดหนักขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอติดอาวุธขนาดใหญ่ขึ้น ก็เป็นข้อเสนอที่มีสองด้านเหมือนกัน เพราะข้อเสนอนี้เป็นการมอบ "ภาระการพิสูจน์" ให้กับฝ่ายคนที่ถูกฟ้องต้องหาพยานหลักฐานมาเองว่า คดีที่ถูกฟ้องนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือไม่ ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์โดยหลักฐาน "ที่มีน้ำหนักยิ่ง" ได้ ศาลก็จะยกคำร้อง และศาลก็มีอำนาจกำหนดให้คนที่ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วย นอกจากตกเป็นฝ่ายถูกฟ้องคดี มีภาระต้องไปต่อสู้คดีแล้ว ก็ยังต้องจ่าค่าเสียหายเนื่องจากการต่อสู้ว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะอีกต่างหาก