สิทธิประกันตัว: สิทธิที่มักถูกยกเว้นสำหรับผู้ต้องหาคดี 112

สิทธิในการประกันตัว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ทว่า สิทธิดังกล่าวกลับกลายเป็น “สิทธิที่ถูกยกเว้น” โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (คดี 112) ซึ่งเหตุผลที่ศาลใช้ในการไม่ให้สิทธิประกันตัว คือ “น้ำหนักของข้อหา” เพื่อทำให้เหตุผลเรื่องกลัวจำเลยหลบหนีหรือการกระทำความผิดซ้ำมีน้ำหนัก แต่ทว่า การให้เหตุผลของศาลทั้งกลัวการหลบหนีหรือกลัวการกระทำความผิดซ้ำ เป็นเหตุผลที่ขาดข้อเท็จจริงรองรับและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์

ทุกคนควรได้รับสิทธิประกันตัว และถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

สิทธิในการประกันตัว หรือหรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจนถึงที่สุด เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเป็นสิทธิที่มาจากหลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะการคุมขังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงกระทบต่อเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตและร่างกายของมนุษย์ 

ทั้งนี้ สิทธิในการประกันตัวและสิทธิที่ต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้ถูกรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ดังนี้

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ข้อ 11 (1) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ข้อ ๙.
๓. บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการและจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่ว ไปว่า จะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีแต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่า จะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนพิจารณาและจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

มาตรา ๒๙ บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้
ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา
อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้
การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี
ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้
คําขอประกันผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกัน
จนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๐๗ เมื่อได้รับคําร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ตองหาหรือจําเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๘/๑ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๓/๑


การไม่ให้ประกันตัว ทำได้หากจำเลย “จะหลบหนี-ทำลายหลักฐาน-ก่อเหตุเพิ่ม”

แม้ว่าสิทธิในการประกันตัวจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่สิทธิดังกล่าวก็สามารถถูกจำกัดหรือยกเว้นได้ โดยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ในกฎหมาย อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 29 วรรคสาม ที่กำหนดว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี
หรือในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญาฯ) มาตรา 108/1 ได้ระบุว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว”


คดี 112: ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยอ้าง “คดีร้ายแรง” กลัวหลบหนีหรือทำผิดซ้ำ

สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 จนถึง ปี 2560 จะพบว่า จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ที่ได้รับสิทธิในการประกันตัวคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งหมด แม้ว่าในปี 2561 ที่มี “แนวปฏิบัติใหม่” เกี่ยวกับคดี 112 ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการประกันตัวเพิ่มมากขึ้น แต่พอมาถึงปี 2563 ที่มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อย่างกว้างขวางอีกครั้ง ก็ทำให้เกิดกรณีไม่ให้สิทธิในการประกันตัวในคดี 112 อีกครั้ง

โดยเหตุผลที่ศาลนิยมใช้ในการพิจารณา “ไม่ให้สิทธิประกันตัว” จะแบ่งออกได้อย่างน้อยสองกรณี ได้แก่

หนึ่ง ศาลให้เหตุผลว่า “กลัวจำเลยจะหลบหนี” ตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (1) ยกตัวอย่างเช่น คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าที่ศาลยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “ผู้ต้องหาร่วมแสดงละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อหน้าผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการเผยแพร่ออกไปยังสื่อทั้งในเฟซบุคและเว็บไซต์เป็นวงกว้าง พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งผู้ต้องหาถูกจับตัวตามหมายจับของศาล ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนีได้”
หรืออย่างคดีของโอภาส ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คดีนี้ภรรยาของโอภาสเคยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า “หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี ให้ยกคำร้อง”

สอง ศาลให้เหตุผลว่า “กลัวก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น หรือกระทำความผิดซ้ำ” ตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (3) ยกตัวอย่างเช่น คดีของจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ที่แชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ที่ศาลสั่งเพิกถอนการประกันตัวและไม่ให้ประกันตัวอีก โดยให้เหตุผลว่า “หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่า ผู้ต้องหายังไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีบนเฟซบุ๊กออกไป ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ยอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก”
หรือในคดีปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรหรือการชุมนุมของกลุ่ม Mobfest ศาลก็ให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิม หลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก”

ทั้งนี้ แม้ว่าเหตุผลที่ศาลใช้พิจารณาเพื่อไม่ให้สิทธิในการประกันตัวจะแบ่งออกเป็นอย่างน้อยสองกรณี แต่เหตุผลหลักที่ศาลใช้อ้างอิงด้วยเสมอ คือ “น้ำหนักของข้อหา” โดยศาลมักอ้างว่า คดี 112 เป็นคดีร้ายแรง เป็นคดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอัตราโทษสูง ทำให้กลัวจำเลยจะหลบหนี หรือกระทำความผิดซ้ำ ดังนั้น การถูกตั้งข้อหาหรือฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมีโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี จึงมีโอกาสไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

ศาลต้องไม่ “สันนิษฐานว่าจำเลยมีความผิด”

การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 อาจเข้าข่ายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ในกรณีที่การไม่ให้สิทธิประกันตัวนั้นเป็นไปอย่างไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็น ยกตัวอย่าง เช่น ในคดีการชุมนุมและปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎร ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลยโดยอ้างว่า “กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม” มีประเด็นปัญหาว่า การให้เหตุผลของศาลอาจขัดต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยสองประเด็น ได้แก่


หนึ่ง การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้ทำการจัดการชุมนุมและปราศรับบทเวทีการชุมนุมในประเด็นเกี่ยวการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวอาจตีความได้ว่าเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริตหรือตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การให้เหตุผลว่ากลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำ ไม่ว่าสิ่งที่กระทำนั้นจะเป็นความผิดต่อกฎหมายจริงหรือไม่ก็ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การก่อ “เหตุอันตราย” ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ให้จำเลยได้รับประกันตัวตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (3)

นันทน อินทนนท์ อดีตผู้พิพากษา ได้อธิบายถึงการตีความคำว่า “เหตุอันตรายประเภทอื่น” ไว้ว่า รากฐานเรื่องการให้ประกันตัวของไทยมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community)
โดยคำว่า อันตรายต่อชุมชน จะมีปัจจัยที่ศาลจะต้องพิจารณาประกอบ เช่น การกระทำความผิดซึ่งถูกกล่าวหา เป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence) อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism) การกระทำความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim) การกระทำความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม  (controlled substance) การใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทำลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device ) หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้มีการประกันตัวนั้นต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย

ดังนั้น ความหมายของ “อันตรายประการอื่น” จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใด ๆ ก็ได้ หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว


สอง การที่ศาลให้เหตุผลเพื่อไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่จำเลยว่า “กลัวจำเลยกระทำความผิดซ้ำข้อหาเดิม” ก็เข้าข่ายผิดจากหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เป็นการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีความผิด” ทั้งที่การดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวกับการชุมนุมของจำเลยยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่า มีความผิด ดังนั้น การไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน