จาก 40 ถึง 60 เปรียบเทียบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญ "หมวด 2 พระมหากษัตริย์" เป็นประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมในนามราษฎร ซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องต้องการให้ยกเลิก "มาตรา 6" อันเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 2 
ในขณะที่ฟากฝั่งของรัฐสภา การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งเจ็ดฉบับ ในวาระที่หนึ่ง เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2563 ก็มีสมาชิกรัฐสภาบางรายที่ตั้งข้อกังวลต่อร่างฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เนื่องจากร่างฉบับดังกล่าวนั้นไม่ได้ห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภาก็ลมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงสองฉบับ คือ ฉบับที่เสนอโดย ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และฉบับที่เสนอโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งต่างก็เสนอว่า ให้ตั้ง สสร.ชุดใหม่โดยกำหนดห้ามมิให้สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเนื้อหาแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 นั้น 
เมื่อย้อนดูรัฐธรรมนูญในอดีต อันได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะพบว่า หมวด 2 ที่กำลังกลายเป็นประเด็นต้องห้ามแก้ไขนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้กำหนดแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต เรียกได้ว่าการแก้ไขหมวด 2 มีมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ และมีลักษณะเป็นการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
จัดระเบียบข้าราชการในพระองค์ แต่งตั้งผู้สำเร็จฯ “หรือไม่ก็ได้” เนื้อหาใหม่ในรัฐธรรมนูญ 60
ในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ต่างเรียงร้อยบทบัญญัติ "หมวด 2" ไว้ในทำนองเดียวกัน การกำหนดเลขมาตราไม่ได้แตกต่างกัน โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 8 ถึง มาตรา 25 รวมทั้งสิ้น 18 มาตรา ส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรากฏอยู่ในมาตรา 6 ถึงมาตรา 24 รวมทั้งสิ้น 19 มาตรา เพิ่มขึ้นมาหนึ่งมาตรา
แม้ว่าในแง่ของปริมาณแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏขึ้นจะมีไม่มากนัก แต่ในแง่ของเนื้อหาแล้ว มีหลายบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว มีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของหลักกฎหมาย และมีบางกรณีที่แม้แก้ไขถ้อยคำเพียงเล็กน้อย หรือเพิ่มถ้อยคำ เพิ่มวรรคหนึ่งในบทบัญญัติเข้ามา แต่ก็ส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างได้ โดยบทบัญญัติในหมวด 2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จำแนกได้ดังนี้
ลักษณะต้องห้ามขององคมนตรี
ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นองคมนตรีไว้ในมาตรา 14 โดยมีสาระสำคัญว่า องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ ต่อมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ก็ยังคงยึดหลักการทำนองเดียวกันไว้ในมาตรา 12 แต่เปลี่ยนวิธีการใช้ถ้อยคำ ซึ่งไม่กระทบต่อสาระสำคัญ
ในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงหลักการเดิมเช่นเดียวกันกับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ แต่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเล็กน้อย โดยกำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่า ลักษณะต้องห้ามเป็นองคมนตรีประการหนึ่งคือเป็นข้าราชการ แต่ยกเว้นการเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี เพื่อให้เป็นที่ชัดเจนไปว่า ผู้ที่เป็นข้าราชการในพระองค์ตำแหน่งองคมนตรี ก็ไม่เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
พระราชอำนาจพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 11 โดยมีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต่อมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ยังคงหลักการดังกล่าวไว้ในมาตรา 9 อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นมาก็คือพระราชอำนาจในการ “เรียกคืน” เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ปรากฏอยู่ในหมวดคณะรัฐมนตรี แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรากฏในหมวด 2
การแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และการให้พ้นจากตำแหน่ง
เดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 17 ให้การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ยังคงหลักการเดิมไว้ในมาตรา 15 แต่ก็มีการกำหนดเพิ่มเติมไว้ในวรรคสอง ให้การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการกำหนดพระราชอำนาจที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ อาจกล่าวได้ว่า ในอดีต แม้พระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งหรือการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่งได้ แต่ก็ไม่ได้มีพระราชอำนาจในการจัดระเบียบราขการ การบริหารงานบุคคล
อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้ตัดตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ ซึ่งมีสถานะเป็นเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบกรมราชองครักษ์ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ออกไปจากบทบัญญัติดังกล่าว และยังคงหลักการเช่นเดิมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ อาจอธิบายได้ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง รวมไปถึงการจัดระเบียบข้าราชการในพระองค์ด้วย
ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้แล้ว ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 กำหนดให้โอนกิจการ อำนาจหน้าที่ และทรัพย์สิน ของหลายหน่วยงานไปยัง “ส่วนราชการในพระองค์” รวมถึงกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหมด้วย ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกตามความ มาตรา 15 วรรคสอง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดโครงสร้างของ “ส่วนราชการในพระองค์” ไว้สามประการ ได้แก่
(1) สํานักงานองคมนตรี
(2) สํานักพระราชวัง
(3) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ทั้งนี้ โครงสร้างใหญ่ทั้งสาม ประกอบไปด้วยส่วนราชการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างดังกล่าว เช่น กรมราชองครักษ์ เป็นส่วนราชการที่อยู่ภายใต้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความสอดคล้องเกี่ยวพันกับการบริหารพระราชภาระของพระมหากษัตริย์และเกี่ยวพันกับหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ  พระมหากษัตริย์จะใช้พระราชอำนาจได้ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐที่สามารถใช้ได้ภายในดินแดนของรัฐนั้นๆ ดังนั้น ยามที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในประเทศจึงต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อใช้พระราชอำนาจแทน 
แม้เรื่องดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์กับหลักการและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้กำหนดแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตและร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และมีเนื้อหาในลักษณะที่ทำให้การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นไม่เคร่งครัดเท่าในอดีต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
พระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากจะไม่ประทับอยู่ในประเทศ หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้
ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 18 และร่างรัฐรรมนูญฉบับประชามติ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 16 ว่ากรณีที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในประเทศ หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กลับกำหนดแตกต่างออกไป ประการแรก ความแตกต่างในแง่ "จำนวน" ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยกำหนดว่าจะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ ประการที่สอง สภาพบังคับในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดว่าจะทรงแต่งตั้ง "หรือไม่ก็ได้" ดังนั้น หากพระมหากษัตริย์มิอาจทรงบริหารราชภาระหรือไม่ประทับในประเทศ จะไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้
การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยคณะองคมนตรีเสนอชื่อ
รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ยังกำหนดไว้อีกว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงบริหารราชภาระไม่ได้หรือไม่ประทับในราชอาณาจักร และไม่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้กำหนดทางออกกรณีสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ไม่ได้กำหนดในส่วนนี้ไว้
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตและร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติโดยสิ้นเชิง โดยกำหนดไว้ว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความ “จำเป็น” สมควรแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ “ไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ” ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคน “ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้ว” ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  
ส่วนที่แตกต่างไป คือ ไม่ได้ระบุเรื่องการให้ความเห็นชอบของรัฐสภาดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญก่อนหน้าและร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติแต่อย่างใด
การกำหนดให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ "ไปพลางก่อน" 
รัฐธรรมนูญ  2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ได้กำหนดไว้ว่า ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งในกรณีพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากจะไม่ประทับอยู่ในประเทศ หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ และในกรณีที่คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
กรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์หรือคณะองคมนตรีเสนอชื่อและรัฐสภาอนุมัติ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ว่าในกรณีใดจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีไม่ได้ กรณีนี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่คณะองคมนตรีเสนอชื่อเท่านั้น ส่วนกรณีที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งเอง ไม่ได้มีการระบุไว้
การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ทั้งในรัฐธรรมนูญ  2540 รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่างก็กำหนดไว้เหมือนกันว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ต่างก็กำหนดไว้ว่า ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา ส่วนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในเรื่องนี้และเรื่องอื่นไว้อีก ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้จะไม่ได้กำหนดให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา แต่ก็กำหนดเพิ่มขึ้นมาว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก 
กระบวนการประชุมรัฐสภาและให้รัฐสภารับทราบกรณีสืบราชสันตติวงศ์
รัฐธรรมนูญ  2540 รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่างกำหนดเหมือนกันว่า กรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดไว้ว่า ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบกรณีที่รัชทายาทซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว หรือให้ความเห็นชอบในกรณีที่มิได้ตั้งพระรัชทายาทไว้ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดแนวทางนี้ไว้
ถวายสัตย์ต่อผู้แทนพระองค์ได้ – บทบัญญัติที่เพิ่มมาใหม่
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มีบทบัญญัติใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 24 ซึ่งมีเนื้อความดังนี้
 “มาตรา 24 การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้
ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่ง จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนก็ได้”
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะมีหลายบทบัญญัติใน "หมวด 2" ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งที่เป็นสาระสำคัญและไม่เป็นสาระสำคัญ แต่ก็มีหลายบทบัญญัติที่ยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาแต่อย่างใด โดยสามารถรวบรวมเป็นหมวดหมู่ได้ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 
สถานะของพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กำหนดไว้เหมือนกันทั้งในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน 
องคมนตรี
นอกจากลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นองคมนตรีและ ในรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองคมนตรีก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด โดยที่มาขององคมนตรีนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง 
การสืบราชสันตติวงศ์
นอกจากเรื่องกระบวนการประชุมรัฐสภาและให้รัฐสภารับทราบกรณีอัญเชิญรัชทายาทหรือผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์ ที่เปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่กำหนดให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นรัฐสภากรณีมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องอื่นเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์โดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ ก็มิได้มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด โดยหลักการยังกำหนดให้ การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจและสิทธิที่จะแต่งตั้งเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เป็นรัชทายาท เมื่อถึงเวลาจำเป็น พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที อย่างไรก็ตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอำนาจและสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ และห้ามมิให้นับสตรีเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์
ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงโดยมิได้ทรงตั้งพระรัชทายาท กฎมณเฑียรบาลดังกล่าวได้กำหนดลำดับสืบพระราชสันตติวงศ์ไว้ โดยให้เสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่หนึ่งตามลำดับ ซึ่งก็คือพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระอัครมเหสี ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป หากไม่ปรากฏผู้สืบพระราชสันติวงศ์ลำดับที่หนึ่ง ก็อัญเชิญผู้อยู่ในลำดับถัดไปขึ้นทรงราชย์ (อ่านเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ได้ที่นี่)
รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดอีกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
นอกจากนี้แล้ว ในรายละเอียดอื่นๆ  เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ก็มิได้มีความเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ 
ญี่ปุ่น-เบลเยี่ยม สภามีบทบาทต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กัมพูชา พระมหากษัตริย์มาจากการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นบัญญัติเรื่องพระมหากษัตริย์ไว้ใน หมวด 1 พระจักรพรรดิ มีจำนวนทั้งสิ้น 8 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 1 ถึง มาตรา 8 ลักษณะการวางโครงสร้างจะค่อนข้างแตกต่างจากรัฐธรรมนูญไทย และมีการกำกับการใช้พระราชอำนาจ
มีเพียงหนึ่งมาตราที่บัญญัติเรื่องสถานะของพระจักรพรรดิ คือ มาตรา 1 กำหนดให้พระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนชาวญี่ปุ่น ฐานะดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานความเห็นพ้องของประชาชนซึ่งดำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย การสืบราชบัลลังก์ก็มีเพียงหนึ่งมาตรา ปรากฏอยู่ในมาตรา 2 โดยกฎมนเทียรบาลต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญไทยโดยสิ้นเชิง
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาตราหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มาตรา 8 กำหนดให้การโอนทรัพย์สินให้แก่ราชสำนัก หรือการที่ราชสำนักรับโอนทรัพย์สินหรือมอบทรัพย์สินให้โดยเสน่หา ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของรัฐสภา เป็นการให้รัฐสภาเข้ามามีบทบาทต่อราชสำนักในแง่ทรัพย์สินด้วย ซึ่งบทบัญญัติทำนองนี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งในหมวด 2 และหมวดอื่นๆ
บทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม มีจำนวนทั้งสิ้น 11 มาตรา  ตั้งแต่มาตรา 85 ถึงมาตรา 95
รัฐธรรมเบลเยี่ยมกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ได้ต้องสืบเชื้อสายจากพระเจ้าเลโอโปลด์, จอร์จ, คริสเตียน, ฟรีเดอริก แห่ง แซกส์-โคเบิร์ก (H.M. Leopold, George, Christian, Frederick of Saxe-Coburg) โดยยึดตามหลักสิทธิของบุตรคนแรก (primogeniture) ซึ่งเป็นหลักในการรับมรดกของประเทศที่มีระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) แต่ในกรณีที่ขาดผู้สืบเชื้อสายจากบุคคลดังกล่าว กษัตริย์สามารถแต่งตั้งผู้สืบราชบัลลังก์ได้ โดยความยินยอมจากรัฐสภา
นอกจากการให้ความยินยอมในกรณีข้างต้น รัฐสภายังมีบทบาทต่อประมุขแห่งรัฐ ทั้งในแง่ของการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้พิทักษ์ กรณีที่ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ยังเป็นผู้เยาว์ รวมไปถึงกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงพบว่าตนนั้นมิอาจครองราชย์ได้ รัฐสภาก็สามารถแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้พิทักษ์ได้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมกำหนดไว้ว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีบุคคลเดียวเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน
ในรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์ที่จะขึ้นครองราชย์ ต้องสาบานตนต่อรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้าขอสาบานว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและบรรดากฎหมายของปวงประชาชาวเบลเยี่ยม และจะธำรงไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนและเอกราชของชาติ”
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมได้กำหนดให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิบัติพิธีนี้ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ในรัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภา แต่ไม่ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภา
หลักการที่ปรากฏในเบลเยี่ยมและตรงกับรัฐธรรมนูญไทยก็คือ พระมหากษัตริย์จะถูกฟ้องร้องไม่ได้ แต่เบลเยี่ยมระบุชัดว่า เป็นความรับผิดของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามหลัก The King Can Do No Wrong ในขณะที่ของไทยนั้น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิด (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับหลัก The King Can Do No Wrong ได้ที่นี่
ด้านประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยอย่างกัมพูชา ก็ปรากฏบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มาตรา 7 ถึงมาตรา 30 รวมทั้งสิ้น 24 มาตรา โดยในมาตรา 7 อันเป็นมาตราแรกของ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐตลอดพระชนม์ชีพ และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์กัมพูชานั้นแตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง ในรัฐธรรมนูญกัมพูชาได้กำหนดให้การได้มาซึ่งพระมหากษัตริย์นั้นเป็นระบบเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้สืบทอดเพื่อขึ้นครองราชบัลลังก์
โดยกรมปรึกษาราชบัลลังก์ อันประกอบไปด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและคนที่สอง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งและคนที่สอง สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายมหานิกาย และสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จะทำหน้าที่เลือกพระมหากษัตริย์ จากผู้เป็นสมาชิกราชวงศ์ มีพระชนมายุอย่างน้อย 30 พรรษา สืบสายโลหิตมาจากสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองด้วง) หรือผู้สืบสายโลหิตจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร หรือผู้สืบสายโลหิตจากพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
รัฐธรรมนูญกัมพูชากำหนดไว้ว่า ภรรยาของกษัตริย์ผู้ครองราชย์จะได้เป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา แต่พระราชินีจะไม่มีสิทธิเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในทางสังคม ทางมนุษยธรรม ทางศาสนา หรือสนับสนุนพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ในทางพิธีหรือทางการทูต
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป