ส.ว. แต่งตั้ง: การแทรกแซงสถาบันตุลาการของ คสช. ผ่าน ส.ว. ชุดพิเศษ

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีบทบาทและอำนาจที่สำคัญทางการเมืองประการหนึ่งก็คือ การให้ความเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ยกตัวอย่างเช่น  ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ส.ว. ยังมีอำนาจในการเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามกฎหมายอื่นๆ อีก เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง หรือมีสถานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น ส.ว. จึงเปรียบเสมือนตัวกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ กับประชาชน แต่ทว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้เปลี่ยนที่มาของ ส.ว. ในระยะ 5 ปีแรกนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้มาจากกระบวนการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ด้วยเหตุนี้ คสช. จึงกลายเป็นคนที่เข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ กับประชาชน

หากนับตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2562 ถึง 25 มกราคม 2564 ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อย่างน้อย 8 องค์กร อย่างเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน อัยการสูงสุด เป็นต้น  โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ส.ว. ได้มีนัดประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบผู้ที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวน 1 คน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้สะท้อนถึงความพยายามแทรกแซงสถาบันตุลาการของคสช. 

อำนาจ ส.ว. กับ การให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ปี 2542 หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ได้กำหนดกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไว้ในมาตรา 15 โดยระบุว่า ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ ก.ศป. จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่

  • หนึ่ง กลุ่มที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในศาลปกครองชั้นต้นซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น

  • สอง กลุ่มที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองแต่มีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ กำหนด เช่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ฯลฯ หรือ เคยดำรงตำแหน่งทางราชการ อย่างเช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา อัยการพิเศษประจำเขต หรือ อธิบดี

เมื่อ ก.ศป. ได้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเสร็จสิ้นแล้ว ให้มีการประกาศชื่อผู้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป 

โดยอำนาจหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่า ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้

  • คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
  • คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
  • คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
  • คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น  

นอกจากนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งศาลปกครองสูงสุด มีโอกาสจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ก.ศป. และมีอำนาจแต่งตั้งเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการศาลปกครองทั้งชั้นต้นและสูงสุดได้อีกด้วย

ส.ว.แต่งตั้ง ช่วย คสช. เห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด อย่างน้อย 4 ครั้ง

อย่างที่ทราบกันดีว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ส.ว. มาจาก คสช. ซึ่งไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด แต่ทว่า อำนาจในการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ยังคงอยู่ไม่ว่าจะทั้งในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายระดับอื่นๆ นั่นหมายความว่า คสช. สามารถเข้าไปแทรกแซงองค์กรต่างๆ ได้ ผ่านระบบการให้ความเห็นชอบของ ส.ว. และหนึ่งในองค์กรที่ คสช. ได้เข้าไปแทรกแซงก็คือ สถาบันตุลาการอย่างศาลปกครองสูงสุด

ที่ผ่านมา ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด อย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้  

ครั้งที่หนึ่ง วันที่ 17 กันยายน 2562 ที่ประชุม ส.ว. มีมติเห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดจำนวน 12 คน ได้แก่

  • เสถียร ทิวทอง 
  • พงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ 
  • ณัฐ รัฐอมฤต 
  • ไชยเดช ตันติเวสส 
  • ภานุพันธ์ ชัยรัต 
  • สุจินต์ จุฑาธิปไตย 
  • ธีระเดช เดชะชาติ 
  • พยุง พันสุทธิรางกูร 
  • ไพโรจน์ มินเด็น 
  • สุรัตน์ พุ่มพวง 
  • ศรศักดิ์ นิยมธรรม 
  • สมยศ วัฒนภิรมย์

ครั้งที่สอง วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดจำนวน 1 คน ได้แก่ 

  • รัชนันท์ ธนานันท์

ครั้งที่สาม วันที่ 14 กันยายน 2563 ส.ว. มีมติเห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดจำนวน 15 คน ได้แก่ 

  • ชัยโรจน์ เกตุกำเนิด 
  • สุรเดช พหลภาคย์ 
  • วีระ แสงสมบูรณ์ 
  • เสน่ห์ บุญทมานพ 
  • สมิง พรทวีศักดิ์อุดม 
  • อนุสรณ์ ธีระภัทรานันท์ 
  • สมภพ ผ่องสว่าง 
  • อนนท์ อดิเรกสมบัติ 
  • สัมฤทธิ์ อ่อนคำ 
  • กนิษฐา เชี่ยววิทย์ 
  • สุมาลี ลิมปโอวาท 
  • เสริมดรุณี ตันติเวสส 
  • วิบูลย์ กัมมาระบุตร 
  • ดุษณีย์ ตยางคานนท์
  • สถาพร สถิตย์ปิยะรัตน์

ครั้งที่สี่ วันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบตำแหน่งตุลากาลศาลปกครองสูงสุดจำนวน 1 คน ได้แก่ 

  • รัชนันท์ ธนานันท์

จากการลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวน 4 ครั้ง มีข้อสังเกตว่ามีอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองได้เสนอชื่อ ‘รัชนันท์ ธนานันท์’ อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศฟินแลนด์ แต่ทว่า ส.ว. เสียงข้างมากกลับมีมติไม่เห็นชอบถึงสองครั้ง โดยมีรายงานถึงเหตุผลว่า เพราะ ‘รัชนันท์’ เคยถ่ายรูปคู่กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง ส.ว. เห็นว่าเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีคดี และทำให้ ‘รัชนันท์’ อาจมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด

การปัดตกรายชื่อ ‘รัชนันท์ ธนานันท์’ ถึงสองครั้ง แม้ที่ประชุม ก.ศป. จะยืนยันเสนอชื่อบุคคลดังกล่าว ได้สะท้อนถึงความพิถีพิถันของ ส.ว. ในการเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งต่างๆ แทนคสช. ประกอบกับ ถ้าพิจารณาจากรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในครั้งดังกล่าว จะพบว่า เสียงข้างมากของ กมธ. ตรวจประวัติฯ ชุดนี้ ประกอบไปด้วย ส.ว. ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ คสช. มาโดยตลอด อาทิ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช หรือ พลเอกอู้ด เบื้องบน

“ศาลต้องยึดโยงประชาชน” หลักการที่หล่นหายหลังรัฐประหาร

หากย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในศาลปกครอง เพราะในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 279 (3) กำหนดให้ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ ก.ศป. จำนวน 2 คน มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยจากประชาชน ทำให้ ก.ศป. จึงมีส่วนที่ยังยึดโยงเกาะเกี่ยวกับประชาชนอยู่

แต่ทว่า กระบวนการได้มาซึ่ง ก.ศป. ได้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ฉบับที่ 10 ซึ่งถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงในปี 2561 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยคสช. ส่งผลให้ สัดส่วน ก.ศป. ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องมาจากการเห็นชอบของ ส.ว. ถูกเปลี่ยนเป็นให้มาจากการคัดเลือกของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นแทน และทำให้สายสัมพันธ์ระหว่าง ก.ศป. กับประชาชนถูกตัดขาดไป