“คุ้มกัน คสช.-จัดการฝ่ายตรงข้าม” ผลงานแห่งปีขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

ปี 2563 องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะกับฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพราะตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ คือ การปกป้องคุ้มกายรัฐบาล คสช. จากการตรวจสอบ รวมไปถึงเป็นดาบและหอกให้กับรัฐบาล คสช. ในการจัดการกับฝ่ายที่ต่อต้าน ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่เป็นใบเบิกทางให้ คสช. เข้าไปแทรกแซงและขยายอำนาจให้กับองค์กรอิสระเพื่อจำกัดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

โดยในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา พอจะสรุปรายละเอียดการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญแต่ละองค์กรได้ดังนี้

ผลงานแห่งปี ศาลรัฐธรรมนูญ: ยุบพรรคอนาคตใหม่-ปกป้องประยุทธ์คดีพักบ้านหลวง

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป โดยมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ต่อมาหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการวินิจฉัยปัญหาในประเด็นทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่มมากขึ้น

ในปี 2563 เรียกได้ว่า เป็นช่วง ‘ผลัดใบ’ ของศาลรัฐธรรมนูญ มีการเปลี่ยนตัวตุลาการมากถึง 5 จาก 9 คน โดย 5 คนที่จากไปนั้น หมดวาระมานานแล้วแต่ได้รับการต่ออายุในสมัยของ คสช. ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการคัดเลือกหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ในเดือนเมษายน 2563 วุฒิสภาได้เห็นชอบให้แต่งตั้งตุลากรชุดใหม่จำนวน 4 คน ได้แก่ อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน, จิรนิติ หะวานนท์ ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ และอีก 1 คน ในเดือนกรกฎาคม 2563 คือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตัวแทนที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง เป็นอันครบ 9 คน

ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนหน้าคนในทีมเกินครึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็มีผลงานออกคำวินิจฉัยให้เราเห็นได้อย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องกว่า 30 เรื่อง จนออกมาเป็น 20 คำวินิจฉัย ออกคำสั่งไม่รับวินิจฉัย 66 คำสั่ง จำหน่ายคดี 3 คำสั่ง ซึ่งคำวินิจฉัยในปีนี้มีมากกว่าคำวินิจฉัยในปี 2562 ถึงสองเท่า และเท่ากับคำวินิจฉัยคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561

ส่วนคำสั่งไม่รับฟ้องนั้น ก็น่าสนใจอยู่หลายประเด็น หนึ่งในนั้น คือ การไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ต่อการสิ้นสภาพ ส.ส. ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปมภรรยาถือหุ้นในบริษัท ตลาดคลองเตย จำกัด รวมทั้งการไม่รับวินิจฉัยคำร้องกรณีกล่าวหาว่าการกระทำของกลุ่ม Free Youth เยาวชนปลดแอกเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง

ทั้งนี้ ไอลอว์หยิบคำวินิจฉัยบางส่วนของศาลรัฐธรรมนูญมาสรุปไว้ให้ดูอีกครั้ง เพื่อให้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองตลอดทั้งปี รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในแวดวงกฎหมาย ที่จะเป็นผลต่อเนื่องไปจากคำวินิจฉันเหล่านี้ด้วย

ยกฟ้อง “คดีอิลลูมินาติ” พรรคอนาคตใหม่ไม่ล้มล้างการปกครอง

21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีณฐพร โตประยูร กล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า การเสนอข้อบังคับพรรคที่มีเพียงคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” แต่ไม่มีคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” การใช้สัญลักษณ์สามเหลี่ยมหัวกลับคล้ายกับสัญลักษณ์ของสมาคมอิลลูมินาติ ไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง การยื่นคำร้องของผู้ร้องนี้ คงเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองประเทศ

ส.ส. เสียบบัตรแทนกันไม่สุจริต ให้ลงคะแนนใหม่

7 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีมีผู้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนของฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส. จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย ไปลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในขณะที่ฉลองไปร่วมงานศพที่พัทลุง ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะการพิจารณาในวาระสอง วาระสาม และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการซึ่งมีการสวมบัตรลงมติแทนกันเท่านั้น และกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติในวาระดังกล่าวใหม่อีกครั้ง

โทษทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญ สิทธิแม่และเด็กต้องสมดุล เสนอแนะปรับปรุงกฎหมาย

19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดความผิดฐานทำแท้ง กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง แม้จะมุ่งคุ้มครองสิทธิของเด็กในครรภ์ แต่ไม่ได้เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่เป็นบทยกเว้นความผิดให้กับแพทย์ผู้ทำแท้ง เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองคุณธรรมและสิทธิเสรีภาพในร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศาลยังเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก ถูกบังคับใช้มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี ไม่ทันต่อวิทยาการทางแพทย์ที่มีความก้าวหน้า จึงให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดนี้ ภายใน 360 วัน

ยุบพรรคอนาคตใหม่ กู้เงินผิดวิสัยทางการค้า ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ทำสัญญาให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนกว่า 191 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้ง อ้างว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ทำเพื่อปกปิดและให้ประโยชน์แก่พรรคการเมือง ว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่เป็นไปตามปรกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน การให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำพรรคการเมือง บงการพรรค เป็นธุรกิจการเมือง มีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี

ลดอำนาจรัฐสภา ไม่มาตามที่ กมธ. เรียก ไม่ผิด

7 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในประเด็น พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาสามารถออกคำสั่งเรียกเอกสาร หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยเฉพาะอำนาจในการสอบสวนข้อเท็จจริงให้เป็นตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะการทำงานของกรรมาธิการไม่ใช่การสอบสวน เสมือนการสอบสวนของเจ้าพนักงานในคดีอาญา จึงไม่สมควรให้มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญาเช่นเดียวกับการสอบสวน นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวย่อมกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129

คดีถือหุ้นสื่อ สส. ฝ่ายรัฐบาล ไม่สิ้นสภาพ ส่วน 3 คนจำหน่ายคดี

28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล 41 คน ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องเพียง 32 คน เนื่องจากอีก 9 คน มีหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของผู้ถูกร้องว่า เป็นกิจการที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ มี 3 คนที่ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้ว จึงเหลือการพิจารณาเพียง 29 คน และพบว่า ทั้ง 29 คนมิได้มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

คดีถือหุ้นสื่อ สส. ฝ่ายค้าน ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สิ้นสภาพ

28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน 33 คน ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องเพียง 29 คน เนื่องจาก 4 คน มีหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของผู้ถูกร้องดังกล่าวว่า เป็นกิจการที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ส่วนพลโทพงศกร รอดชมภู, สุรชัย ศรีสารคาม, ชำนาญ จันทร์เรือง ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้ว พบว่า 28 คนมิได้มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) มีเพียงแต่ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก เห็นว่า มีหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของธัญญ์วาริน จึงสิ้นสุดลง

พลเอกประยุทธ์พักบ้านทหาร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ระเบียบกองทัพฯ ให้ทำได้

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พักอาศัยในบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักของข้าราชการทหาร เป็นการอยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการรับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐเป็นพิเศษ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า่ มีระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก มีสิทธิในการเข้าพักบ้านพักของกองทัพบกได้ เป็นการให้สิทธิแก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่เข้าเงื่อนไขทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติแก่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว เห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติในธุรกิจงานปกติของกองทัพบก ไม่ถือเป็นการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จึงไม่สิ้นสุดลง

ประกาศ คสช. กำหนดโทษฐานไม่มารายงานตัว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลแขวงดุสิตส่งโต้แย้งของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2557 และ 41/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองได้เข้าสู่สภาวะสงบสุขปกติแตกต่างจากช่วง คสช. ได้เข้าทำการรัฐประหาร ความจำเป็นและจุดมุ่งหมายของการมีอยู่ของประกาศดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง ทั้งประกาศดังกล่าวยังเป็นการเรียกตัวบุคคลซึ่งยังมิได้กระทำความผิด เพียงแต่มีเหตุอันน่าสงสัยว่าจะกระทำความผิด การกำหนดโทษอาญาในความผิดดังกล่าวจึงเกินสมควรแก่เหตุ และยังเป็นกำหนดโทษย้อนหลังให้แก่ผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง ซึ่งได้ออกคำสั่งไปก่อนแล้วจึงจะมีประกาศตามมาในภายหลัง ขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่โทษ โดยไม่มีกฎหมาย” ดังนั้น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2557 เฉพาะในส่วนของโทษทางอาญา และ 41/2557 จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

 

ผลงานแห่งปี กกต.: ฟ้องแกนนำอนาคตใหม่-แจกใบส้มพลาด-ถูกฟ้องทุจริตในหน้าที่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่หลักในการเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง

แต่ทว่า หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กกต.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีความยึดโยงกับคณะรัฐประหารหรือ คสช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 60 กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาต (สนช.) ซึ่งมาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคสช. เป็นผู้จัดทำกฎหมายลูกอย่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลให้มีการ “เซ็ตซีโร่ กกต.” หรือ ให้มีการสรรหา กกต. ใหม่ยกชุด โดยให้ สนช. เป็นผู้คัดเลือก กกต. ในด่านสุดท้าย

โดยภารกิจแรกของ กกต.ชุดใหม่ คือ  การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2562 แต่ทว่า การเลือกตั้งภายใต้ กกต. ชุดนี้กลับถูกสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและเป็นธรรมจนนำไปสู่การลงชื่อถอดถอนของประชาชนถึงหลักแสน พอมาในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่สองในการทำงานของ กกต. ก็พบว่า กกต. ชุดนี้ยังต้องสะสางปัญหาเก่าจากการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงการจัดการเลือกตั้งซ่อม และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่จะเริ่มขึ้นในปีนี้

สำหรับผลงานของ กกต. ที่มีผลทางการเมืองอย่างมาก มีอย่างน้อย 5 ได้แก่

หนึ่ง เดินหน้าฟ้องคดีอาญา “แกนนำพรรคอนาคตใหม่” อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2563 มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่าง กกต. กับ แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ยังไม่สิ้นสุด นับตั้งแต่เมื่อปี 2562 ที่ กกต. ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ได้โอนหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อก่อนสมัครรับเลือกตั้ง กับคดีที่ กกต. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ทำสัญญากู้เงินจำนวน 191 ล้านบาท เพื่อ “อำพราง” การบริจาคเงินให้พรรค

สำหรับคดีโอนหุ้นสื่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทาง กกต. ได้มีมติให้สำนักงาน กกต. แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในข้อหา “รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งข้อหาดังกล่าว มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น 20 ปี แต่ทว่า ในคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางส่วนยังเห็นว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ส่วนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ทาง กกต. ก็มีมติให้ดำเนินคดีอาญา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 15 คน เนื่องจากกระทำผิดมาตรา 66 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี

แต่ทว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เนื่องจากมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่นิติกรรมอำพรางเพราะมีการทำสัญญาเงินกู้และมีหลักฐานการชำระเงินคืนต่อเจ้าหนี้ ดังนั้น การกู้เงินจึงไม่ใช่ “รายได้” และไม่ใช่ “เงินบริจาค” อีกทั้ง การลงโทษตาม มาตรา 72 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ยังเป็นการใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ทางคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ออกแถลงการณ์ในเชิงเห็นค้านกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

สอง แจก “ใบส้มพลาด” ตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย ที่ชนะการเลือกตั้ง

ในปี 2562 ที่ประชุมกกต. มีมติสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ‘สุรพล เกียรติไชยากร’ ว่าที่ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี หรือที่เรียกว่าการแจก “ใบส้ม” จากกรณีการใส่ซองบริจาคเงินทำบุญให้กับวัด เนื่องจากเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) ที่ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้ง “เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิวัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด”

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 132 กำหนดว่า เมื่อมีการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ทว่า ผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิเลือกตั้งจะลงเลือกใหม่ไม่ได้ นั้นหมายความว่า เมื่อ กกต. แจกใบส้มให้กับสุรพล ก็เท่ากับ สุรพลจะไม่สามารถลงเลือกตั้งซ่อมได้ และจำนวนคะแนนที่สุรพลได้รับก็ไม่สามารถนำมารวมนับเป็นคะแนนที่จะคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ตนสังกัดได้

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ศาลฎีกาแผนคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของ กกต. ในคดีของสุรพล โดยศาลเห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นค่าเทียนสะเดาะเคราะห์ และในวันที่ไปทำบุญนั้นตนไม่ได้พูดหาเสียง เพียงแต่ทักทายกับประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ฝากเนื้อฝากตัวกับชาวบ้าน จึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการบริจาคเงินทำบุญให้กับวัดเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเอง และไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าเลือกตั้งซ่อมตามคำร้อง

โดยคดีของสุรพลนับเป็นคดีตัวอย่างของการใช้อำนาจ “ใบส้ม” ที่ผิดพลาดของ กกต. ซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และต่อพรรคการเมือง โดยที่ผลเสียหายนี้ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของกกต. ในการจัดการกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง

สาม ยกคำร้องคดีทุจริตเลือกตั้ง “ส.ส.รัฐบาล” สุดท้ายถูกฟ้องทุจริตในหน้าที่

ในปี 2563 กกต. มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างน้อย 91 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพรรครัฐบาล อย่างน้อย 49 เรื่อง มีการยกคำร้อง 48 เรื่อง และมีมติให้ดำเนินคดี 1 เรื่อง และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคฝ่ายค้าน อย่างน้อย 25 เรื่อง มีการยกคำร้อง 18 เรื่อง และมีมติให้ดำเนินคดี 7 เรื่อง และเป็นคำร้องที่เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งของบุคคลทั่วไป อย่างน้อย 17 เรื่อง

ดยคำวินิจฉัยของ กกต. ที่กลายมาเป็นประเด็นในปีนี้ คือ คำวินิจฉัยยกคำร้องกรณี ‘ฉลอง เทอดวีระพงศ์’ ส.ส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย กับ ‘นาที รัชกิจประการ’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกกล่าวหาว่า  ใช้ สนับสนุน หรือร่วมเห็นเป็นใจให้ ‘เปี่ยม สงคง’ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง  โดยมีการตั้งกลุ่มไลน์ชื่อ” รักเพื่อน” เพื่อทำการเก็บบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ทว่า จากการไต่สวนพยานบุคคลที่เป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ ให้ถ้อยคำว่าไม่มีการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องการให้เงิน ชักชวนให้ซื้อเสียงพยานหลักฐาน จึงยังฟังไม่ได้ว่า ‘เปี่ยม’ กระทำการตามที่กล่าวหา

ต่อมา นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องเรียนคดีดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง เพื่อเอาผิดอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวก กกต.รวม 7 คน เป็นจำเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จากการที่ กกต. ยกคำร้องทุจริตการเลือกตั้งในเขต 2 จังหวัดพัทลุง โดยศาลนัดหมายตรวจพยานหลักฐานวันที่ 20 มกราคม 2564 และนัดไต่ส่วนมูลฟ้องวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

สี่ รับรองผลการเลือกตั้งซ่อม ทั้งที่ปมทุจริตเลือกตั้งยังไม่คลี่คลาย

ในปี 2563 กกต. ต้องทำการจัดการเลือกตั้งซ่อม อย่างน้อย 2 จังหวัด  คือ การเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดลำปาง กับการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดสมุทปราการ ซึ่งการจัดเลือกซ่อมที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในปีนี้ คือ การจัดการเลือกตั้งซ่อมของจังหวัดลำปาง เนื่องจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ได้ออกมาเปิดเผยว่า พบเบาะแสการทุจริตเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง เช่น คลิปซื้อเสียงที่ทำกันตอนกลางวัน และเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ หรือ กรณีพบใบรายชื่อผู้จัดทำโพล โดยชื่อผู้จัดทำมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐและมีเบอร์ติดต่อชัดเจน แต่ทว่า ในท้ายที่สุด กกต. ก็มีมติให้รับรองผลการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดลำปาง โดยระบุว่า กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าการเลือกตั้งมีความสุจริตเพียงพอก็สามารถประกาศผลได้

ห้า จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “สอบตก”

ในปี 2563 คณะรัฐมนตรีและ กกต. มีมติให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเริ่มจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกัน 76 จังหวัด และเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้งหลังผ่านมา 6-8 ปี แต่ทว่า ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการมาใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

โดยอุปสรรคสำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผลมาจาก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ปี 2562 และ ระเบียบกกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ปี 2563 ที่กำหนดข้อห้ามในลักษณะ “หยุมหยิม” อาทิ การร่วมงานตามประเพณีอย่างการถวายผ้าไตรงานศพก็ไม่ชัดว่าผิดกฎหมายหรือไม่ หรือ การเพิ่มภาระให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไปแจ้งรายละเอียดการใช้รถหาเสียง หรือ ข้อกำหนดในการหาเสียงออนไลน์ก็ต้องระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตสื่อนั้นทุกชิ้น เป็นต้น

ด้านอุปสรรคสำหรับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ใจกลางปัญหาอยู่ที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ซึ่งให้อำนาจกับรัฐบาล คสช. และ กกต. ในการกำหนดวันเลือกตั้ง และเนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ทำให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่สำคัญมาก แต่ทว่า กกต. และ คสช. กลับเลือกวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเดินทาง เพราะเป็นช่วงที่มีการรับปริญญา มีการสอบ และเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างช่วงหยุดยาวทั้งก่อนและหลัง จึงสร้างข้อจำกัดในการเดินทางเสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่อาศัยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน อีกทั้ง ใน พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ ยังตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านนอกเขตจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 1 ปี อีกด้วย

 

ผลงานแห่งปี ป.ป.ช.: คดีสำคัญยังไม่คืบหน้า-ช่วยแก้ต่างคดี “นาฬิกาหรู”

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบป้องกันและปราบปรามการการทุจริตของภาครัฐ อาทิ การตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐ การไต่ส่วนหาข้อเท็จและการชี้มูลความผิดเกี่ยวกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ป.ป.ช. นับว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาททางการเมืองอย่างสูง โดยเฉพาะช่วงหลังการรัฐประหารในปี 2549 ป.ป.ช. กลายเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับ “นักการเมือง”

ต่อมาหลังการรัฐประหารในปี 2557 กรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 5 คน จาก 9 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังครบวาระ ทำให้สนช. เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระด้วยการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 5 คน และต่อมาในปี 2562 มีกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 2 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังอายุครบ 70 ปี ทำให้ ส.ว. ชุดที่มาจากการคัดเลือกของคสช. ได้ทำหน้าที่เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีอดีต สนช. อยู่ด้วยหนึ่ง และเป็นผลให้กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 6 คน จาก 9 คน ผ่านการคัดเลือกโดยอ้อมจาก คสช.

สำหรับผลงานในปี 2563 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สถิติคดีในปีงบประมาณ 2563 โดยพบว่า มีข้อกล่าวหาร้องเรียนเรื่องทุจริต 6,477 เรื่อง โดยร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช.โดยตรง 3,949 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นข้อร้องเรียนกล่าวหา ประเภทหนังสือร้องเรียน รองลงมาเป็นบัตรสนเท่ห์ โดยกล่าวหา กระทรวงมหาดไทยมากที่สุด 1,601 เรื่อง รองลงมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,579 เรื่อง กระทรวงศึกษาธิการ 640 เรื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม 14,350 เรื่อง เรื่องกล่าวหาใหม่ จำนวน 3,308 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 17,658 เรื่อง ดำเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้น และในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริง 4,663 เรื่อง มีเรื่องกล่าวหาคงเหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ 12,995 เรื่อง และมีเรื่องกล่าวหาที่ดำเนินการเสร็จในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน 553 เรื่อง และมีเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการชี้มูลความผิดทางวินัย และอาญา รวมถึงฐานร่ำรวยผิดปกติ 384 เรื่อง
อย่างไรก็ดี ถ้าหากให้ประมวลผลงานที่น่าสนใจขอ ป.ป.ช. ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา คงพอจะสรุปได้อย่างน้อยห้าเรื่อง ดังนี้

หนึ่ง 15 คดีสำคัญที่ ป.ป.ช. สัญญา คืบหน้าเพียง 6 คดี

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คำมั่น ว่า คดีสำคัญจะแล้วเสร็จในปี 2563 อย่างน้อย 15 คดี แต่ทว่า หลังจบปี 2563 คดีสำคัญที่ ป.ป.ช. รับปากไว้มีความคืบหน้าประมาณ 6 คดี ได้แก่

คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2557 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดแก่ ‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามแนวทาง และข้อเสนออันละเมิดต่อกฎหมายของกลุ่ม นปช.
 
คดีทุจริตในการดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ (ฝายแม้ว) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นควรแจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แก่ ‘อนงค์วรรณ เทพสุทิน’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำโดยมิชอบ และหักเงินโครงการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
 
คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาฟุตซอล โดยที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดมีมติให้แเจ้งคำสั่งอัยการสูงสุด ให้ฟ้อง ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับพวก กรณีทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษาที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยฝ่ายอัยการจะใช้ระยะเวลาเพื่อร่างคำฟ้องประมาณ 60 วัน ก่อนจะยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
คดีทุจริตเงินทอนวัด โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาทุจริตการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือเงินทอนวัด โดยร่วมกันจัดให้มีการเบิกจ่ายเงินให้แก่ 7 วัด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุน และพัฒนาวัด ซึ่งเมื่อมีการเบิกจ่ายเงินให้กับวัดไปแล้ว มีการติดต่อขอเงินบางส่วนคืน หรือขอคืนทั้งหมด แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต
 
คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของ สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กับพวก มีมูลความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากการพิจารณาอนุญาตของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่งรวมถึงการย้ายตำแหน่งที่ตั้งบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
 
คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยองค์คณะไต่สวนที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ อดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวม 10 ราย (เดิม 11 ราย แต่เสียชีวิต 1 ราย) จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย และให้ผู้ต้องหามาชี้แจงเพื่อดำเนินการต่อไป

สอง ชี้มูลความผิดเพิ่มกับ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”

ในปี 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงเดินหน้าเอาผิด “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยมีอย่างน้อยสองคดีที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด ได้แก่ 

กรณี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจโยกย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ เลขาธิการ สมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ ซึ่งการโอนย้ายดังกล่าวเคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองระบุว่า เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบ เนื่องจากโดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายถวิล เปลี่ยนศรี ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล 
 
กรณี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีเมื่อปี 2556 อนุมัติและดำเนิน “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” โดยมิชอบ ซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2561

สาม แก้ต่างคดีนาฬิกาหรู “พล.อ.ประวิตร”-ไม่ผิดเพราะ “ยืมใช้คงรูป” 

ในปี 2563 มหากาพย์คดี “นาฬิกาหรู” หรือการครอบครองนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยผลการพิจารณาที่ไม่ชี้มูลความผิดฐานไม่เปิดเผยทรัพย์สินกับ “พล.อ.ประวิตร” ซึ่งทาง ป.ป.ช. ได้ชี้แจงต่อเรืองไกรว่า กรณีดังกล่าวเป็นการยืมนาฬิกาเพื่อน ไม่ผิด ไม่ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สิน เพราะไม่ใช่เงินตรา เป็นการ “ยืมใช้คงรูป” และมีการคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ยืม ดังนั้นจึงไม่มีหน้าที่ แสดงการยืมนาฬิกาในรายการบัญชีทรัพย์สิน

อีกทั้ง ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Matter พยายามตามหารายละเอียดข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วย รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริง คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาหรูทั้งหมดในคดี รวมถึงซีเรียลนัมเบอร์ รวมถึงข้อมูลเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร ที่เคยยืมนาฬิกาเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าได้รับข้อมูลมาเพียงบางส่วน ซึ่งส่วนที่ไม่ได้รับคือ ผลการแสวงหาข้อเท็จจริง คำชี้แจงของเพื่อนและ พล.อ.ประวิตร  และซีเรียลนัมเบอร์ของนาฬิกา ซึ่งคดีขอให้เปิดเผยข้อมูลยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง

สี่ ให้คะแนน “กระทรวงกลาโหมฯ” โปร่งใสที่สุด

ในทุกๆ ปี ป.ป.ช. จะเผยแพร่ประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ออกมา โดยผลการประเมินในปีงบประมาณ 2563 พบว่า กระทรวงกลาโหมมีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานอยู่ในระดับ “ดีที่สุด” เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น และ หน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม ได้คะแนนสูงทั้งหมด ตามลำดับ ได้แก่ กองทัพอากาศคะแนนสูงสุด 93.98 คะแนน กองทัพบกได้ 93.88 คะแนน กองบัญชาการกองทัพไทย  92.89 คะแนน สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 92.29 คะแนน  และ กองทัพเรือ 92.60 คะแนน

ทั้งนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 ส่วน ได้แก่ จากบุคคลากรในหน่วย  จากผู้รับบริการ หรือติดต่อ  และ จากการเปิดเผยข้อมูลของเว็บไซต์หน่วยงาน โดยเริ่มประเมินตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 กรกฎาคม 2563

ห้า บังคับใช้ “มาตรฐานจริยธรรม” จัดการ “เอ๋-ปารีณา กับ ช่อ-พรรณิการ์”

สำหรับผลงานเด่นสุดท้ายประจำปี 2563 ของ ป.ป.ช. คือ การบังคับใช้ “มาตรฐานจริยธรรม” กับสองนักการเมืองหญิง ได้แก่

ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และ จงใจที่จะกระทำความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ตามกฎหมายระบุว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้นตอนนี้ ป.ป.ช.จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ปารีณาแล้ว และหากไต่สวนแล้วพบว่า มีมูลความผิดจริงก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการ เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

พรรณิการ์ วานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกอดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนในข้อหากระทำความผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 โดยข้อ 3 วรรคห้า มีผลบังคับใช้กับ ส.ส. ด้วย กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควรหรือไม่

 

ผลงานแห่งปีของ กสม.: แถลงเรียกร้องทั้งรัฐทั้งผู้ชุมนุมให้เคารพสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยมีหน้าที่หลัก คือ ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี แต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กสม. ถูกเพิ่มบทบาทเรื่องการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดปัจจุบัน คือ ชุดที่ 3 เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2558 เป็นการทำงานที่ยากลำบากภายใต้ยุคของ คสช. ต่อมาเมื่อเริ่มใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2560 ก็ได้สั่งให้กรรมการชุดที่ 3 พ้นจากตำแหน่งและเริ่มสรรหาชุดใหม่ แต่จนแล้วจนรอดกระบวนการสรรหาที่ต้องผ่านการอนุมัติจากสมาชิกวุฒิสภา ชุดของ คสช. ก็ยังหาคนที่ถูกใจไม่ได้ จนชุดที่สามนี้ต้อง “รักษาการ” ในตำแหน่งมาแล้วกว่า 5 ปี จากวาระเต็ม 7 ปี

ในระหว่างที่ยังหาชุดใหม่ไม่ได้ กรรมการ 4 จาก 7 คน ลาออกจากตำแหน่ง จนเหลือกรรมการไม่ครบปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ออกมติใดๆ ไม่ได้ 1 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมของศาลจึงแต่งตั้ง สมณ์ พรหมรส, อารีวรรณ จตุทอง, ภิรมย์ ศรีประเสริฐ และสุวัฒน์ เทพอารักษ์ มาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสิทธิชั่วคราว ต่อมา วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. อายุครบ 70 ปี จึงพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 และให้ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ทำหน้าที่แทนประธาน กสม. ไปก่อน นับถึงสิ้นปี 2563 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจริงๆ เหลือเพียงสองคน คือ ประกายรัตน์ กับ ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง และผู้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวอีก 5 คน

ด้านกระบวนการสรรหาชุดใหม่ก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล 21 สิงหาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบอดีตข้าราชการสองคน คือ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต และไม่เห็นชอบอดีตเอ็นจีโออีกห้าคน ทำให้ต้องเริ่มการสรรหาใหม่ ต่อมา 27 มกราคม 2563 วุฒิสภาพิจารณารายชื่ออีกห้าคน และเห็นชอบ ปรีดา คงแป้น  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และ สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ส่วนอีกสามคนยังไม่เห็นชอบ แสดงให้เห็นถึงการเลือกสรรอย่างละเอียดลออ และเมื่อยังไม่ได้ชุดใหม่ครบ 7 คน ก็ยังเข้ารับหน้าที่ไม่ได้ ต้องเป็นชุดเดิมรักษาการชั่วคราวทำหน้าที่ไปก่อน

การประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบ ศยามล ไกยูรวงศ์ เพิ่มอีกหนึ่งคน และหลังเปิดรับสมัครหลายรอบ อีกสองรายชื่อที่ถูกเสนอให้วุฒิสภาเห็นชอบ คือ รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก และวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตสมาชิก สปช.

จาก “ที่มา” และสถานะอันไม่มั่นคงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พอจะช่วยให้เห็นเหตุผลของผลงานตลอดปี 2563 ที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นรูปธรรมของพวกเขา โดยมีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ที่ไม่เห็นผลงานการตรวจสอบโดยองค์กรแห่งนี้เลย ตัวอย่างเช่น

  • เหตุการณ์การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทยในกัมพูชา ซึ่ง กสม. อธิบายว่า ไม่มีอำนาจดำเนินการเพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในต่างประเทศ
  • การดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองชุดใหญ่ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112
  • การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องยาวนาน พร้อมข้อห้ามการชุมนุม และการยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ
  • การทำงานของตำรวจ/เจ้าหน้าที่ เพื่อติดตามคุกคามนักเรียนนักศึกษา ที่แสดงออกทางการเมืองไปยังที่บ้านและที่สถานศึกษาฯลฯ

ท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น มีการชุมนุมบนท้องถนน และการปราบปรามโดยฝ่ายรัฐ กสม. ออกแถลงการณ์หลายฉบับ สรุปได้ดังนี้

20 สิงหาคม 2563 กสม. ออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า บุคคลมีเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพการชุมนุม โดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ไม่ก้าวร้าว ดูหมิ่นเหยียดหยาม จาบจ้วง หรือใช้ hate speech ขอให้ผู้ชุมนุมแจ้งข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ไม่เลื่อนลอย ไม่ผูกขาดความถูกต้องฝ่ายเดียว ขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด 19 
 
17 กันยายน 2563 กสม. ออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า เสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นได้รับการรับรอง รัฐไม่ควรแทรกแซง แต่เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ เสนอแนะให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจน หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ได้สัดส่วน ผู้จัดการชุมนุมต้องควบคุมให้การชุมนุมเป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดความรุนแรง
 
17 ตุลาคม 2563 กสม. ออกแถลงการณ์หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน สรุปได้ว่า รัฐบาลไม่ควรใช้ความรุนแรงซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศ ควรใช้กลไกรัฐสภาหาทางออก ควรเยียวยาผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุม 
 
22 ตุลาคม 2563 กสม. ออกแถลงการณ์ ตามมาหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ แถลงผ่านโทรทัศน์ สรุปได้ว่า กสม. ยินดีกับการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ขอให้รัฐบาลใช้กระบวนการรัฐสภาแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง ขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของกันและกัน 
 
18 พฤศจิกายน 2563 ออกแถลงการณ์หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมา สรุปได้ว่า ผู้ชุมนุมและประชาชนที่เห็นต่างทุกฝ่ายควรเคารพในสิทธิและเสรีภาพในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกของบุคคลอื่น โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน รัฐบาลต้องเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ควรเร่งเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ 

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจพิเศษเพิ่มแก่ กสม. คือ การชี้แจงต่อต่างชาติกรณีมีรายงานปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และ กสม. ชุดปฏิบัติหน้าที่แทนชุดรักษาการ ก็ได้ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขันโดยออกคำชี้แจงต่อองค์กรระหว่างประเทศแล้ว หลายครั้ง เช่น วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ออกคำชี้แจงต่อรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์  วันที่ 2 มิถุนายน 2563 ออกคำชี้แจงต่อรายงาน เรื่อง “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ : ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย”
ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล วันที่ 11 กันยายน 2563 ออกคำชี้แจงต่อรายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2562 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนของ กสม. ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนแล้ว 231 เรื่อง ช่วงเวลาหลังจากนั้นยังไม่มีรายงาน เทียบกับตลอดปีงบประมาณ 2562 มีเรื่องร้องเรียน 551 เรื่อง และปีงบประมาณ 2561 มีเรื่องร้องเรียน 623 เรื่อง ส่วนรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2563 ของ กสม. ยังไม่มีเผยแพร่

 

ผลงานแห่งปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน: ยกคำร้องตรวจสอบ “ประยุทธ์” ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ยื่นศาลรัฐธรรมนูญช่วยคดี “ไพบูลย์ นิติตะวัน”

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมกับประชาชน มีอำนาจเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องระงับ ยุติ หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือขั้นตอนปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และยังสามารถนำส่งคำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัย กรณีเห็นว่าเรื่องร้องเรียนหรือการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปี 2563 มีทั้งหมด 3 คน คือ พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริตและนายบูรณ์ ฐาปนดุล ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งล้วนมาจากแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในสมัยรัฐบาล คสช. ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นายบูรณ์ได้หมดวาระลงเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ทิ้งท้ายด้วยผลงาน มีทรัพย์สินหลังพ้นจากตำแหน่ง 11.9 ล้านบาท โดยการเปิดเผยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยเหตุนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเหลือผู้ตรวจการเพียงสองคนปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ผลงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่น่าสนใจใน ปี 2563 พอจะสรุปได้ ดังนี้

เริ่มต้นปี ออกระเบียบการเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทางผู้ตรวจการแผ่นดิน แบบชงเองกินเอง

9 มกราคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งตราโดยประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือกัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 เนื้อหาโดยรวมทั่วไปไม่มีอะไรแปลกใหม่ ยกเว้นเพียงแต่ความในข้อ 8 ของระเบียบฯ ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศให้กับคู่สมรสได้ โดยเบิกในอัตราเดียวกันกับผู้ตรวจการแผ่นดิน จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนัก จนผู้ตรวจการแผ่นดินต้องออกมายกเลิกข้อระเบียบดังกล่าวในภายหลัง

วินิจฉัยโดดเด่น ยุติคำร้องเรียนของประชาชน นายกฯ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย ยุติคำร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนฯ หลังตัวแทนแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกและไม่ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินให้เหตุผลว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีไม่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 เนื่องจากยังมีการแพร่กระจายของโรคระบาดอยู่และเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

3 เรื่องร้องเรียนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลปฏิเสธไม่รับฟ้อง

เรื่องที่ 1 กรณีพิพาทแผนพลังงาน รับเรื่องร้องเรียนจากนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล และนายกฤษณ์ ไตลังคะ กรณีกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 56 วรรคสอง โดยกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าลดลง ค่าไฟมีราคาแพงขึ้น กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วเห็นด้วยกับคำร้อง จึงส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เรื่องที่ 2 กรณีพิพาทการฟ้องคดีแยกจากกันในคดีฉ้อโกง รับเรื่องร้องเรียนจากนายพิษณุ ชวนะนันท์ นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ และนายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรณีกรมควบคุมมลพิษและรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ฟ้องคดีผู้ร้องเรียนแยกต่างหากจากเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมพิเศษ โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าผู้ร้องกระทำความผิดร่วมกับทางเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ร้องอาจถูกดำเนินคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษและเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนได้ จึงกระทบกับสิทธิเสรีภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วเห็นด้วยกับคำร้อง จึงส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เรื่องที่ 3 กรณีพิพาทของนายไพบูลย์ นิติตะวัน จากการเข้าร่วมการชุมนุม กปปส. รับเรื่องร้องเรียนจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรณีนายไพบูลย์ถูกดำเนินคดีจากกการเข้าร่วมชุมนุม กปปส. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2556 โดยนายไพบูลย์ระบุว่าการชุมนุมที่ตนเข้าร่วม ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการจึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วเห็นด้วยกับคำร้อง จึงส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 จะพบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,257 เรื่องรวมทุกช่องทาง ช่วงเวลาหลังจากนั้นยังไม่มีรายงาน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีเรื่องร้องเรียน 2,612 เรื่อง และปี 2561 มีเรื่องร้องเรียน 2,338 เรื่อง นอกจากนี้ในปี 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินยังให้คำแนะนำและปรึกษาผ่านระบบ Call Center สายด่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งหมด 6,159 สาย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ทั้งหมด 3,107 สายและปี 2561 ทั้งหมด 4,680 สาย

 

ผลงานแห่งปี สตง.: จับมือ ส.ว.ตรวจสอบเงินกู้สู้โควิด-ตรวจสอบโครงการ “ประชารัฐ”

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. ป็นคณะกรรมการที่ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล และเป็นองค์กรชี้ขาดสูงสุดในกระบวนการทางวินัยทางงบประมาณและการคลัง

ต่อมา หลังรัฐประหาร ปี 2557 คสช. ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง คตง. อย่างน้อย 6 ครั้ง ทั้งออกประกาศ คสช. เปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหา และการต่ออายุกรรมการคตง. จนกระทั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 สนช. ก็ลงมติเห็นชอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน ก่อนจะมีการเลือก พลเอกชนะทัพ อินทามระ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นประธานคตง.
สำหรับปี 2563 คตง. เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงานและการใช้งบประมาณภาครัฐที่สำคัญ อย่างน้อย 61 โครงการ โดยผลการตรวจสอบที่น่าสนใจ ได้แก่

การตรวจสอบระบบจัดเก็บ ‘ของกลาง’ คดีอาญาของสถานีตำรวจทั่วประเทศ

21 เมษายน 2563 คตง. เข้าตรวจสอบระบบจัดเก็บของกลางในคดีอาญาของสถานีตำรวจทั่วประเทศ พบว่า “มีความไม่เหมาะสม” เช่น รถยนต์รถจักรยานยนต์อาวุธปืน และโทรศัพท์มือถือ ที่นำมาให้ตรวจสอบได้ทันที มีจำนวนไม่ครบถ้วนตามที่ปรากฏในสมุดยึดและรักษาทรัพย์ที่สุ่มตรวจสอบ แสดงว่าเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วต้องคืนของกลางให้แก่ผู้มีสิทธิ์ย่อมไม่สามารถคืนได้ทันที ….รวมถึงสถานที่เก็บของกลางที่เป็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของ สภ. เกือบทุกแห่งไม่มีหลังคา และมีรั้วหรือผนังป้องกันของกลางสูญหาย หรือเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรและส่งผลต่อความปลอดภัยของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ส่วนควบของรถที่จะสูญหายได้ง่าย

การตรวจสอบนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว “เมืองรอง-เศรษฐกิจรากหญ้า”

28 มิถุนายน 2563 สตง. เผยผลการตรวจสอบนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว “เมืองรอง-เศรษฐกิจรากหญ้า” มูลค่าพันล้านบาท ยังพบปัญหา อาทิ การเพิ่มขึ้นของรายได้ในพื้นที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่ก่อให้เกิดการกระจายตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในพื้นที่จัดหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และพบว่า มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นบางจังหวัด เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30.5 แต่ จังหวัดพิจิตร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 2

การตรวจสอบโครงการ “เน็ตประชารัฐ” พบว่า ยังไม่เจอความสำเร็จ

2 กรกฎาคม 2563 ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)​ เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ ดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงินงบประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2559

การตรวบสอบ “งานคุ้มครองผู้บริโภค” ของกรมการค้าภายใน

15 กรกฎาคม 2563 สตง. เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของกรมการค้าภายใน พบว่ายังมีปัญหาการกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าและบริการไม่เป็นไปตามมาตรการและกลไกที่กำหนด การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการบางส่วนยังไม่เกิดประสิทธิผล ขณะที่การสร้างเครือข่ายอาสาธงฟ้า 1569 ยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจชั่งตวงวัด และเครื่องชั่งตวงวัด ก็ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้ กรมการค้าภายใน ดำเนินการไปแล้ว

จับมือ ส.ว ตรวจสอบเงินกู้ 1 ล้านล้าน สั่งจับตาจัดซื้อจัดจ้างวิธีเฉพาะเจาะจงเปิดช่องทุจริต

5 มิถุนายน 2563 ที่รัฐสภา กล้านรงค์ จันทิก ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการวุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรอิสระ ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 3 ฉบับ

โดย ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า สตง.จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องการใช้เงินให้เกิดความโปร่งใส และให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่เริ่มมีโควิด 19 สตง.ได้ส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างด้วยความรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งหลายหน่วยงานมีความกังวลในเรื่องความถูกต้อง แต่ สตง.ได้ให้คำปรึกษาให้แก่หน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานทำได้อย่างถูกต้อง