เพศสภาพ/เพศวิถี เครื่องมือก่อความรุนแรงบนพื้นที่ออนไลน์ต่อนักการเมือง/นักกิจกรรมหญิง

17 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 09:00-11:00 น. รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายงานการวิจัยเรื่อง “เกลียด/โกรธ/กลัว: ความรุนแรงทางเพศ/เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์” ที่ห้องกมลพร โรงแรมสุโกศล โดยขอบเขตการศึกษาวิจัยงานนี้เจาะจงในประเด็นการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อนักการเมืองและนักกิจกรรมที่มีเพศสภาพหญิง ผ่านพื้นที่ออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

ชลิดาภรณ์ระบุว่า จากผลการศึกษา “รัฐ” เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ความรุนแรงออนไลน์ต่อนักการเมืองเพศหญิงด้วย ผ่านการใช้สื่อประณามหรือประจานนักการเมืองหญิง

พื้นที่ออนไลน์ ดาบสองคมที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และอาวุธในการโจมตีบุคคลอื่น

เบื้องต้น ชลิดาภรณ์อธิบายถึง “พื้นที่ออนไลน์” ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต มีอิทธิพลต่อคนในสังคมยุคปัจจุบัน และมักมีภาพถูกมองในทางบวก ทั้งเพิ่มโอกาสในการศึกษาข้อมูลต่างๆ การติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงการนำไปใช้ในการนำเสนอประเด็นต่างๆ ดังในกรณี Hashtag Activism ซึ่งเป็นพื้นที่ให้คนถกเถียงและต่อสู้ผ่านแฮชแท็กเหล่านั้น เช่น #MeToo ที่เปิดโปงเรื่องการคุกคามทางเพศต่อเพศหญิง โดยผู้กระทำเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และต่อมาพื้นที่ของแฮชแท็กดังกล่าวก็ได้ขยับขยายออกไป หรือกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟอยล์ ที่นำไปสู่ #BlackLivesMatter ซึ่งก็ใช้มานานแล้วในปัญหาการเหยียดสีผิว หลังจากนั้นไม่นานก็นำไปสู่ #WhiteLivesMatter ที่ริเริ่มโดยองค์กรที่มีทัศนคติเหยียดเพศและเหยียดสีผิว

ปัญหาคือองค์กรที่มีแนวคิดไม่ได้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ส่งสารกันเฉพาะในโลกทวิตเตอร์ แต่กลับใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นเครื่องมือนัดหมายเพื่อใช้ความรุนแรงทางตรงตอบโต้กับฝ่าย #BlackLivesMatter ซึ่งต่อมา #WhiteLivesMatter ที่จะใช้นัดหมายกันนั้นถูกกลบไปเพราะมีกลุ่มแฟนคลับศิลปินเคป๊อปวง BTS (บังทันโซนยอ) ลุกขึ้นมาตอบโต้กับกลุ่มดังกล่าว โดยการกระหน่ำทวีตข้อความคลิปวิดีโอของวงเป็นจำนวนถึง 20,000 ทวีต และติดแฮชแท็ก WhiteLivesMatter จนส่งผลให้แฮชแท็กดังกล่าวไม่สามารถใช้งานตามเป้าหมายแรกได้

แม้จะดูเหมือนว่าพื้นที่ออนไลน์จะมีด้านบวก แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีด้านลบหลายประการ

ประการแรก สภาพนิรนามในพื้นที่ออนไลน์นั้น ทำให้คนไม่ต้องระมัดระวัง และไม่ต้องคิดถึง “มารยาททางสังคม” เหมือนมิติในทางสังคม ผลที่ตามมา คือ คนไม่ยั้งวาจาและแสดงความเกลียดชังต่อทุกเพศออกมาเต็มที่

ประการที่สอง พื้นที่ออนไลน์ทำให้คนสามารถเอื้อมถึงผู้อื่นได้มากขึ้น เอื้อให้เกิดการติดตาม (stalk) กันได้ โดยที่เราไม่สามารถทำได้จริงในพื้นที่ทางกายภาพ ดังนั้นจึงเอื้อให้เกิดความรุนแรงในหลายประเภท

ผลที่ตามมาคือ พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่หนึ่งในการเหยียดหยาม ประณาม ด่าทอ ทำให้คนอื่นเสียใจหรือเจ็บใจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลสืบเนื่องไปยังสภาพจิตใจของบุคคลที่ถูกกระทำ อันเป็นปัจจัยที่เราไม่เห็นได้จากภายนอก ทั้งนี้ การด่าการโจมตีกันก็อาศัยหลายโครงเรื่อง โดยเรื่องเพศ/เพศสภาพ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่หยิบมาใช้กระทำความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม

เพศสภาพ/เพศวิถี เครื่องมือก่อความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์ต่อนักการเมืองนักกิจกรรมหญิง

ชลิดาภรณ์ยกตัวอย่างความรุนแรงทางเพศ/เพศสภาพ ผ่านทางพื้นที่ออนไลน์ (Gender-Based Violence Online) ดังนี้

  • การโพสต์ข้อความแสดงความเห็นใช้ถ้อยคำที่รุนแรงในพื้นที่ออนไลน์ โดยหยิบยกแง่มุมเพศสภาพ/เพศวิถี
  • การประจานผ่านการปล่อยภาพหรือวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศ
  • การข่มขู่ผ่านช่องทางออนไลน์ว่าจะล่วงละเมิดทางเพศหรือจะข่มขืน

จากการศึกษาวิจัย ชลิดาภรณ์ระบุว่า เรื่องของเสื้อผ้าเป็นประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง เป็นเครื่องมือในการโจมตีนักการเมืองหญิง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ที่ถูกโจมตีใช้เสื้อผ้านำเสนอประเด็นทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง นักการเมืองหญิงจึงเลือกที่จะใช้สีขาวในบางโอกาสเพื่อตอกย้ำถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิดังกล่าว  อาจจะมีผู้ที่มองไม่เห็นสัญญะในการสื่อสารผ่านเสื้อผ้า และโจมตีนักการเมืองเพศหญิง เช่น การถูกประณามว่าผิดกาลเทศะ ไม่มีมารยาท ไร้สาระ หรือมองว่าไม่สวย ใส่แล้วอ้วน ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวเป็นการนำร่างกายเพศหญิงเข้าไปจับ

ชลิดาภรณ์ได้ยกเรื่องการประเมินความงามว่าสวยหรือไม่สวยนั้น มีความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางการเมือง เราอาจประเมินนักการเมืองที่มีอุดมการณ์อยู่ในฝั่งเดียวกันกับเราว่าสวย อีกทั้งวัฒนธรรมแฟนด้อม (Fandom) ได้ถูกนำมาใช้ในบริบททางการเมืองด้วย การปกป้องนักการเมืองเป็นไปทำนองเดียวกันกับศิลปิน ส่งผลให้แม้จะมีผู้ที่มองเห็นว่า การประเมินร่างกาย เสื้อผ้า รูปร่างหน้าตาของเพศหญิงนั้นเป็นการเหยียดเพศ (Sexism) แต่บางครั้งกลุ่มคนเหล่านั้นก็อาจทำพฤติกรรมแบบเดียวกันเองต่อนักการเมืองที่อุดมการณ์อยู่ฝั่งตรงกันข้าม

นอกจากเรื่องร่างกายแล้ว พฤติกรรมทางเพศก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้โจมตีนักการเมืองและนักกิจกรรมหญิง ชลิดาภรณ์ระบุว่า กลุ่มผู้ให้ความเห็นในโครงการวิจัยนี้ชี้ว่า นักการเมืองเพศหญิงที่มีบทบาททางการเมือง ล้วนถูกสถาปนาให้เป็น “เมียน้อย” ของนักการเมืองชาย ราวกับว่าการสถาปนาเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย หรือบางกรณีมีการประจานเรื่องเพศ ปล่อยคลิปกิจกรรมทางเพศ รวมไปถึงการประณามหรือเหยียดด้วยเหตุพฤติกรรมที่อาจขัดต่อบรรทัดฐานในทัศนคติของคนบางกลุ่ม (Slut Shaming) เพื่อลดทอนการสื่อสารในประเด็นทางการเมือง

ผู้ถูกกระทำ “ต้องไม่เงียบ” รัฐไม่ต้องควบคุม เปิดพื้นที่ให้ประชาชนหาวิธีรับมือเอง

ชลิดาภรณ์สรุปข้อเสนอแนะจากผู้ที่ร่วมแสดงความเห็นในโครงการวิจัย ชี้ว่า ผู้หญิงในแวดวงการเมืองภาครัฐทั้งนักการเมืองและนักกิจกรรมนั้น “ต้องไม่เงียบ” เมื่อถูกกระทำ ต้องนำเสนอประเด็น ต้องชี้ให้เห็นว่า ตนกำลังถูกกระทำอะไรอยู่ และต้องนำเสนอประเด็นโดยไม่แบ่งแยกพรรค

จากการศึกษาตัวการผู้ที่ใช้เพศสภาพ/เพศวิถีมาทำร้ายผู้อื่น พบว่า ผู้กระทำมีทั้งเพศสภาพหญิงและชาย ข้อถกเถียงจึงไม่ใช่แค่ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง แต่คือการนำเพศสภาพ/เพศวิถีมาทำร้ายกัน จึงต้องตั้งคำถามต่อเพศสภาพและเพศวิถีว่า ถูกหล่อเลี้ยงและถูกใช้กระทำความรุนแรงอย่างไรบ้าง

ประการสุดท้าย โดยปกติแล้วคนมักเรียกร้องให้รัฐควบคุมสื่อ ผ่านการออกกฎหมายหรือมีมาตรการ แต่นั่นเป็นการยินยอมให้รัฐลดทอนเสรีภาพของประชาชนลง อีกทั้งรัฐเองก็เป็นผู้เล่น เป็นผู้ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์กระทำกับประชาชน ชลิดาภรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ธรรมชาติของสังคม เมื่อมีการกระทำรุนแรง เช่น เหยียดเพศ เหยียดผิว ก็จะมีผู้มีทัดทาน คัดค้านการกระทำนั้น การจำกัดเสรีภาพจะลดการทัดทานนั้นลง ดังนั้น จึงไม่ควรจำกัดเสรีภาพ ปล่อยให้ผู้คนถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อรับมือกับความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์ ประชาชนมีความสามารถในการคิดร่วมกัน

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม