เลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาฯ กติกาของ คสช. ไม่สนับสนุนผู้ใช้สิทธิ

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) หรือการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 และคำสั่งที่ให้ “แช่แข็ง” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมายาวนาน และเป็นสัญญาณที่คณะรัฐประหารทยอยคืนอำนาจให้ประชาชนทีละส่วน ทีละประเด็น ขณะที่อำนาจทางการเมืองระดับประเทศยังไม่คืนอำนาจให้กับประชาชนทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งแรกในรอบ 6-10 ปี แล้วแต่พื้นที่ กลับเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยอุปสรรคสำหรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้แสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปใช้สิทธิได้มากที่สุด หรือสนับสนุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หาเสียงอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับจังหวัด

1. กติกาใหม่ กำหนดใหม่โดย คสช.

การเลือกตั้ง อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ภายใต้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือ กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ฉบับใหม่ ที่เขียนขึ้นในยุคของ คสช. และผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงโค้งสุดท้ายของการออกกฎหมาย ในวันที่ 24 มกราคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ไม่นานนัก พร้อมกันกับกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นอีกหลายฉบับ

กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่ เป็นฉบับเดียวที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด ขณะที่กฎหมายเฉพาะอื่นๆ เป็นเพียงการแก้ไข ทำหน้าที่กำหนดขั้นตอนวิธีการจัดการเลือกตั้ง คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คุณสมบัติผู้สมัคร กรอบค่าใช้จ่ายและวิธีการหาเสียง การนับคะแนนและประกาศผล ฯลฯ กำหนดให้ กกต. แต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐในจังหวัดนั้น ให้เวลาการออกเสียงลงคะแนนเป็นตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครคนเดียว จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มึสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด

กติกาใหม่ยังมีข้อห้ามสำหรับการหาเสียงที่หยุมหยิมมากขึ้น เช่น ข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียง การจำกัดจำนวนป้าย และสถานที่ติดป้ายหาเสียง การห้ามใช้รถคันที่ไม่ได้ขออนุญาตไว้ การบังคับให้ระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งกติกาเหล่านี้เมื่อนำมาใช้เป็นครั้งแรกบวกกับความไม่แน่นอนในการตีความของ กกต. ก็ส่งผลให้บรรยากาศการรณรงค์หาเสียงค่อนข้างเงียบเหงาเพราะผู้สมัครไม่กล้าทำกิจกรรมต่างๆ

สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนควบคุมกติกาในการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชุดนี้ก็ยังเป็นชุดเดียวกับที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 ซึ่งมีที่มาจากยุคของ คสช. จากกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยศาลและองค์กรอิสระ ซึ่งสรรหามาถึงสามชุด สามรอบ กว่าที่ สนช. จะลงมติอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งควบคุมการเลือกตั้งได้

2. กำหนดวันไม่ให้เดินทาง

กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ยังให้อำนาจไว้กับ คสช. เป็นผู้กำหนดว่า เมื่อไรที่ประเทศนี้จะ “พร้อม” จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละประเภทได้ และเมื่อไม่มี คสช. แล้วก็ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด โดยไม่มีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใดๆ ในการเลือกวัน คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิมที่ยื้อเวลามายาวนานต่ออีกปีกว่าๆ จนตัดสินใจให้เริ่มมีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ปลายปี แล้วก็ให้ กกต. เป็นผู้เลือกวันที่ “เหมาะสม” ผลออกมาว่า เป็นวันที่ 20 ธันวาคม 2563

วันที่ 20 ธันวาคม เป็นวันใกล้วันหยุดช่วงสิ้นปี สำหรับบางคนอาจจะเป็นช่วงเวลาเร่งเคลียร์งานค้างก่อนเดินทางกลับบ้านหรือไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว และสำหรับบางคนอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ “ลาล่วงหน้า” แล้วเดินทางไกล ถือโอกาสพักผ่อนยาวส่งท้ายปี นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม ยังมีวันหยุดราชการ คือ 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ และ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ตัดสินใจกำหนดวันหยุดชดเชยมาเป็นวันที่ 10, 11 ธันวาคม เพื่อให้หยุดยาวต่อเนื่องอีก 4 วัน

วันที่ 20 ธันวาคม 2563 จึงเป็นวันอาทิตย์ที่อยู่ตรงกลางพอดีระหว่างวันหยุดยาวสองช่วง เป็นวันที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเดินทาง เป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่อาศัยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน อาจจะเดินทางไปเรียนหรือไปทำงานในพื้นที่อื่น ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว

3. ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

จากสาเหตุที่การกำหนดวันเลือกตั้งไม่สะดวกสำหรับการเดินทาง ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถกลับบ้านไปใช้สิทธิในวันที่ 20 ธันวาคม ได้ และเนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส. ในเดือนมีนาคม 2562 มีกระบวนการสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคนเฝ้ารอการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต รวมทั้งผู้ที่ต้องการใช้สิทธิจากต่างประเทศด้วย

แต่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบัน ไม่มีช่องทางสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้านอกอเขต และการเลือกตั้งในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นตามกฎหมายฉบับก่อน แต่ทำให้หลายคนต้องผิดหวังเพราะไม่ได้เตรียมตัววางแผนที่จะเดินทางไว้ ทำให้ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้ สำหรับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เมื่อประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 การเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเลือกตั้งก็ยังมีอุปสรรคด้วยข้อห้ามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเงื่อนไขที่ต้องหาใบรับรองแพทย์ประกอบก่อนการเดินทาง

4. ย้ายทะเบียนบ้านโดนตัดสิทธิเลือกตั้ง

เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 38 (3) กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง ทำให้ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ขาดคุณสมบัติข้อนี้

การเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 ก็มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่สำหรับผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านยังคงมีสิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่เดิม แต่สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. คนที่ย้ายทะเบียนบ้านภายในจังหวัดเดิมยังคงมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ แต่ถ้าเป็นการย้ายข้ามจังหวัด กกต. ตีความว่า กลายเป็นผู้ “ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง” ไปเลย

การตีความเช่นนี้เป็นผลให้ประชาชนเสียสิทธิขั้นพื้นที่ฐานที่จะออกเสียงเลือกผู้ใช้อำนาจปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเมื่อ กกต. ประกาศวันเลือกตั้งให้ทราบล่วงหน้าในเวลาไม่ถึง 60 วัน ประชาชนที่ย้ายทะเบียนบ้านไปก่อนการประกาศให้มีการเลือกตั้งจึงไม่อาจทราบได้ว่า การย้ายทะเบียนบ้านนั้นเป็นผลให้เสียสิทธิเลือกตั้งด้วย การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งเช่นนี้ และการตีความเช่นนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ย้ายทะเบียนบ้านโดยไม่ทราบล่วงหน้าจำนวนมาก

ก่อนวันเลือกตั้งมีประชาชนที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 38 (3) จึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ

5. มีกำหนดนัดสอบ นัดรับปริญญา วันเดียวกัน

นอกจากในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จะเป็นวันที่ไม่สะดวกเดินทางแล้ว ยังเป็นวันที่มีกำหนดกิจกรรมต่างๆ ที่ได้วางไว้แล้วล่วงหน้าก่อนการกำหนดวันเลือกตั้งหลายอย่าง ทำให้ผู้ที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมไม่สามารถไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อบจ. ได้ ตัวอย่างเช่น กำหนดการรับพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กำหนดการสอบภาคทฤษฎี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ รุ่น 55 เป็นต้น และปลายเดือนธันวาคมยังเป็นช่วงการสอบปลายภาคของระดับปริญญาตรีหลายมหาวิทยาลัย เพื่อจะสิ้นสุดปีภาคศึกษา ทำให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปเลือกตั้งได้ ข้าราชการหลายรายก็ยังได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ทำให้เจ้าตัวเสียสิทธิเลือกตั้งไปด้วย

การกำหนดวันกิจกรรมต่างๆ ซ้อนกับวันเลือกตั้งจะไม่ค่อยปรากฏขึ้นนักในกรณีการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะหน่วยงานของรัฐก็จะหลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งก่อนๆ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศเช่นครั้งนี้ แต่จัดขึ้นเมื่อผู้บริหารของ อบจ. แต่ละแห่งครบกำหนดวาระ หรือลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น ซึ่งผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีโอกาสทราบข่าวสารและวางแผนการล่วงหน้าเพื่อไปเลือกตั้งได้บ้าง แต่การเลือกตั้ง 20 ธันวาคม เป็นการกำหนดวันโดยรัฐบาลนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทราบล่วงหน้า และไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ทัน

ในขณะที่การกำหนดวันเลือกตั้งและหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่เอื้อต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสะดวก แต่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกลับกำหนดโทษของคนที่ไม่ได้ไปเลือกตั้งไว้สูง ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ได้แจ้งเหตุจำเป็น จะถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตัดสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งตัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และตำแหน่งอื่นๆ ทางการเมือง

การจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาคนละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แม้มีการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ทำให้สิทธิต่างๆ กลับมา แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่ไปใช้สิทธิระยะเวลาสองปีก็จะเริ่มนับใหม่