คลื่นการชุมนุม 63 ในสายตาของสามผู้มีมลทินมัวหมอง

17 ธันวาคม 2563 เวลา 16.30 น. ที่งาน Winter Book Fest เวย์แม็กกาซีนจัดเสวนา Dirty talk #2 มีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, สิรภพ อัตโตหิ หรือแรปเตอร์และ เอเลียร์ ฟอฟิ ทั้งสามคนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

+++การเปลี่ยนแปลงไม่ง่ายแต่เป็นไปได้ ดันม็อบพูดเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น+++

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำราษฎรกล่าวว่า เมื่อเช้าผมรู้สึกภูมิใจในเครื่องแต่งกายของผม ในการไปให้กำลังใจคนที่ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 แต่รู้สึกสะเทือนใจมากเพราะหนึ่งในผู้ต้องหาที่ให้กำลังใจวันนี้อายุแค่ 16 ปีเท่านั้นเอง ฉากประวัติศาสตร์คือภาพของสายน้ำ หนึ่งในผู้ต้องหา 16 ปีและถูกส่งตัวไปที่ศาลเยาวชนฯ เพื่อส่งตัวต่อไปสถานพินิจ การส่งตัวเด็กอายุ 16 ปีไปสถานพินิจเพราะข้อหาใช้เสรีภาพทางความคิด…เป็นความมัวหมองอย่างที่สุดของบ้านเมือง แต่ส่วนที่ประทับใจมากคือ แววตาน้อง น้องเดินออกมาจากสน.ด้วยอากัปกิริยากระดูกสันหลังตรงและเชื่อว่ากระดูกสันหลังทางความคิดของน้องก็ตรงด้วย ยืดอก เชิดหน้า แววตามุ่งมั่นและชูสามนิ้วมาตลอดทาง มันเป็นสัญญาณว่า ไม่ว่าจะใช้กลไกการปราบปรามอย่างไรก็ไม่สามารถกักขังทางความคิดได้อีกต่อไป

ก่อนแฟลชม็อบต้นปี 2563 มีการพูดคุยกันว่า บรรยากาศสังคมเวลานั้นมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ช่วงเวลาดังกล่าวจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจและต่อด้วยจอมพลถนอม มีการเลือกตั้งและโกงการเลือกตั้ง ซึ่งเวลานั้นมันมีคนเจเนอเรชั่นหนึ่งที่ไม่เคยได้สัมผัสเสรีภาพ แต่พอได้สัมผัสเสรีภาพผ่านการเลือกตั้งสักครั้งหนึ่งเขาไม่ยอมกลับไปขมขื่นแบบเดิม จนนำไปสู่การเคลื่อนไหว 14 ตุลา ซึ่งมันเริ่มจากคนไม่กี่คนและขยายตัวมากขึ้น คล้ายกันกับสถานการณ์การเลือกตั้ง 2562 ที่คนจะรู้สึกว่า จะพึ่งสภาได้ แต่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวซึ่งประกอบไปด้วยความโกรธและความผิดหวัง การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อไปนี้จะไม่มีคู่ต่อสู้ เป็นการขู่พรรคฝ่ายค้านว่าอย่าแหลม และมันทำให้ประชาชนตระหนักว่า การเมืองในสภามันสิ้นสุดแล้วเหลือเพียงการเมืองบนท้องถนน

ต่อคำถามว่า ทำไมเด็กถึงหัวกบฏ ผมจะเรียกยุคนี้ว่า สิ่งเก่ากำลังตาย สิ่งใหม่กำลังเกิด เป็นยุคแห่งเปลี่ยนผ่าน โลกของคนรุ่นเก่ามันหมุนช้ากว่าคนรุ่นใหม่ ดังนั้นพอมันปะทะกัน มันเกิดการกดขี่ด้วยอายุ เมื่อมีการกดขี่ก็มีการต่อสู้ตอนที่อยู่เตรียมอุดมฯ มันมีสิ่งเกิดขึ้นทำให้เราต้องลุกขึ้นมาพูด สิ่งที่เกิดขึ้นมันเคยเป็นบรรทัดฐานของคนรุ่นหนึ่งจนกล้าที่จะทำต่อไป แต่ยุคปัจจุบันบรรทัดฐานมันเปลี่ยนจึงทำให้เกิดการต่อสู้

ขบวนการเคลื่อนไหวที่หลากหลายนั้นสะท้อนธรรมชาติการเคลื่อนไหวคือ มีลักษณะระนาบและธรรมชาติ หลายคนไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน บางคนอินแต่ไม่ได้ออกมาก่อน การเคลื่อนไหววันนี้ต่างจากม็อบในอดีต ที่จะมีบอร์ดไม่กี่คนคุยกันและตัดสินใจจัดการในทิศทางที่บอร์ดได้เลือก แต่ตอนนี้ม็อบมีความธรรมชาติต่างคนต่างความคิด แต่อยู่บนหลักการคือ มวลชนคือผู้ตัดสิน…สิ่งที่มวลชนขานรับก็ได้ไปต่อ ผมสนับสนุนหมดทุกเรื่อง ผมโตมาจากกิจกรรมเรื่องการศึกษา แต่ตอนนี้มองว่า ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องรัฐสวัสดิการ สิ่งที่ประยุทธ์ทิ้งมรดกใหญ่ไว้คือ ความเหลื่อมล้ำ ตอนสมัยเป็นนักเรียนเคยทำค่ายปฏิรูปการศึกษา มีนักเรียนจำนวนมากยังไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษา รวมถึงเรื่องการรักษาพยาบาล คนถูกตัดโอกาสเพียงเพราะรัฐไม่เอื้อในการเข้าถึงบริการดังกล่าว เราจะปล่อยให้ทุกชีวิตจบลงด้วยเหตุผลของความยากจนแบบนี้หรือ

ตอนนี้เราอาจจะเห็นความสดใสของขบวนการประชาธิปไตย แต่ตอนที่ผมเริ่มเคลื่อนไหวคือ จับจริง มาตรา 112 ประกันไม่ได้ จะนำข้อความมาพิสูจน์ยังทำไม่ได้เลย มาถึงยุคนี้ที่ 112 เป็นหมายเรียก ไม่ฝากขังด้วย อนาคตของประชาธิปไตยสว่างมากๆ เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ตอนนี้เราเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่ไม่ไกลมากแล้ว ย้อนกลับไปตอนที่แพ้ประชามติ ช่วงนั้นคนเลิกทำกิจกรรมไปหลายคน ทุกคนคิดว่า ประยุทธ์จะอยู่ไปอีก 20 ปี เดิมใครมีงานเสียงาน ใครมีบ้านเสียบ้าน แต่ตอนนี้พูดออกชื่อคนที่พูดไม่ได้มา 80 กว่าปี ตอนนี้กลายเป็นขี้ปากของชาวบ้านแล้ว หลายคนคาดหวังชัยชนะปุบปับ…ตอนนี้ประชาชนไม่ได้สู้กับประยุทธ์ แต่สู้กับระบอบที่อยู่เบื้องหลังของเขา องคาพยพของเขาที่กินอำนาจสืบมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด ไม่ง่ายแต่มีความเป็นไปได้ ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าปัจจัยเอื้ออำนวย ตอนนี้ลมพัดมาทางเรา เราต่อสู้มานานเป็นปี ความเหนื่อยล้ามี แต่อย่าให้ความเหนื่อยล้ามาบดบังความจริงที่ว่า ชัยชนะอยู่ไม่ไกลและเรากำลังจะเดินไปถึงมัน

+++การต่อสู้ที่ไม่ใช่แค่ประยุทธ์แต่ระบบที่กดขี่ – ผู้หญิงและ LGBTQ ท้าทายอำนาจปิตาธิปไตย+++

สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ แกนนำเสรีเทยพลัสกล่าวว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวในปีที่ผ่านมาคือการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นมีสิทธิออกเสียงครั้งแรก (First Voter) การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจยุบพรรคอนาคตใหม่คือ การไม่เคารพในเสียงของคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาได้โหวตเข้าไปจำนวนมาก คนเหล่านี้โตมากับ คสช. เห็นการกดขี่และมองการเลือกตั้งว่าเป็นความหวัง การยุบพรรคทำให้ความหวังถูกทำลายหายไปในพริบตานำไปสู่การเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องพรรคอนาคตใหม่แต่มองไปถึงระบบและเหตุผลในการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มันไม่ยุติธรรมตลอดเวลาที่ผ่านมามันมีหลายระลอกที่ทำให้เกิดความโกรธ เช่น ความเชื่อว่า มีการโกงผลการเลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้งประหลาด รัฐธรรมนูญที่ไม่สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง จุดนี้เป็นแรงสั่งสมความโกรธ ประจวบกับการยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเกิดเป็นไฟไหม้ฟางขึ้นมา และพักยกไปช่วงโควิด 19 การบริหารเศรษฐกิจและโควิด 19 ทำให้การเคลื่อนไหวต่อเนื่องเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ความอยุติธรรมและความล้มเหลวของรัฐบาลเป็นเหตุให้ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมด้วย

การต่อสู้ในรอบนี้ไม่ใช่การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ไม่ใช่แค่ไม่ชอบประยุทธ์แต่มองเห็นโครงสร้างอำนาจที่เรากำลังถูกกดขี่ทั้งระบบ มันเห็นการกดขี่ทุกระบบเช่น ประเด็นการศึกษาที่มีการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มนักเรียนเลว การศึกษาเพื่อความเป็นไท และโครงสร้างแบบปิตาธิปไตยฝังรากลึก กฎหมายที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางเพศ  สำหรับสิรภพแล้วการแต่งกายเป็นผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ มันเป็นรูปแบบของการต่อต้านอำนาจในรูปแบบหนึ่ง เขาระบุว่า เราไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ ไม่ได้สมาทานว่า ตนเองเป็นผู้หญิง แต่เพศกำเนิดเป็นผู้ชายจะถูกจับใส่กรอบความเป็นชาย การที่ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาแต่งหญิงเป็นการต่อต้านอำนาจปิตาธิปไตยและบรรทัดฐานของสังคมที่บีบเราอยู่ มันสร้างพลังจากข้างใน นัยหนึ่งคือ เราได้เลือกชีวิตและวิธีการแสดงออก ในสังคมอำนาจนิยมที่อยากแสดงออก เมื่อไหร่ที่เราสามารถเลือกได้คือ การปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจ

พื้นที่การเมืองในภาพจำมีแต่ผู้ชายในการใช้อำนาจ รัฐประหารก็เช่นกัน การต่อสู้ครั้งนี้มีผู้หญิงและ LGBTQ ซึ่งท้าทายอำนาจทางการเมืองที่ผู้ชายครอบครองมาตลอด ที่ผ่านมาผู้หญิงและ LGBTQ ถูกโจมตีด้วยเพศมาตลอด นำชื่อที่ไม่ใช้แล้วมาเรียก ไม่ใช่ฝ่ายขวาที่โจมตีเราแต่ฝ่ายประชาธิปไตยก็กระทำกับฝ่ายขวา เช่น กรณีของม้า อรนภา

สิรภพเล่าย้อนถึง ม็อบตุ้งติ้งที่เกิดจากแฮชแท็ก #ไอเดียออกม็อบ มีไอเดียม็อบแฮมทาโร่และมีไอเดียเกิดขึ้นจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่มันก็ทำให้เกิดม็อบตุ้งติ้ง กำลังใจหนึ่งคือ รีทวีตเยอะในทวิตเตอร์ มาผสมผสานการเรียกร้องทางการเมือง และให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศมาพูดสามข้อเรียกร้องแรกคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน และประเด็นความเท่าเทียมกันทางเพศเรื่องสมรสเท่าเทียม หัวใจของม็อบตุ้งติ้งคือ ท้องถนนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกอัตลักษณ์ ไม่ต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมที่ผ่านมาในการชุมนุมในปีนี้ สิ่งที่ได้คือ เรื่องอำนาจภายใน ขออ้างคำจากนักกิจกรรมคนหนึ่งได้กล่าวว่า แค่คุณลุกขึ้นมาประท้วงคุณก็คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ตัวคุณเองแล้ว ในสังคมที่มีการกดขี่ คุณไม่มีอำนาจในการเลือกชีวิตของคุณเอง…ความเป็นมนุษย์เหลือน้อยมากในสังคมที่กดขี่ วันที่คุณลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจได้ปลุกจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์กลับมา และเมื่อกลับคืนมาคุณจะไม่ยอมกลับไปถูกกดขี่อีก การต่อสู้ทำให้เจอเพื่อนร่วมทาง ทำให้เราคืนความเป็นมนุษย์ให้กับตนเองสามารถเปราะปางและอ่อนไหว ต่างโอบอุ้มกันและกัน ประคับประคองความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันจะทำให้เราต่อสู้ในระยะยาวต่อไปได้

+++ต้องสร้างแนวร่วมใหม่ ชี้ประชาชนชนะในหลายมิติแล้ว+++

เอเลียร์ ฟอฟิ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมามีจุดเริ่มต้นมาจากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ที่สะท้อนให้เห็นความอยุติธรรมในสังคม เด็กยุคนี้เขาเห็นความอยุติธรรมที่เขาไม่จำเป็นต้องอดทนต่อไปแล้ว  มันเป็นชนวนแรกที่ทำให้คนออกมาบนท้องถนนและไม่เชื่อในระบบสภาอีกต่อไป แต่การออกมาไม่ใช่การต่อสู้เพื่อพรรคอนาคตใหม่ มองไปที่ระบบและการต่อสู้  ที่ผ่านมาพยายามเปิดพื้นที่ม็อบให้ประเด็นยิบย่อยในสังคมถูกพูดถึง คนทั่วไปได้รับรู้ปัญหาของกลุ่มต่างๆ อย่างล่าสุดคือ ภาคประชาชนร่วมกันสนับสนุนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่มาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ผมสนใจเรื่องการสร้างแนวร่วมใหม่ๆ ไม่ได้สนับสนุนพีอาร์เท่านั้น แต่มันคือการดึงคอนเนคชั่นทั้งหมดให้เขาสามารถเข้ามาทำงานทางสังคมได้ ทำงานในฐานะข้อต่อระหว่างม็อบและศิลปิน พี่น้องชาวจะนะรู้สึกว่า ไม่ถูกทอดทิ้ง คนกรุงเทพฯ ยังสนับสนุนเขา นอกจากการสร้างแนวร่วมมากขึ้นแล้วยังมีการย่อยข้อมูลปัญหาของแนวร่วม เมื่อข้อมูลถูกย่อยแล้วเข้าถึงได้ง่าย กลุ่มต่างๆ ก็สามารถนำไปใช้สร้างแนวร่วมของตัวเองได้

ต่อคำถามเรื่องอุตสาหกรรมหนัง เขากล่าวว่า ตลาดหนังถูกผูกขาดด้วยเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้า ล่าสุดมีหนังเรื่อง School of Town King เป็นหนังทางสังคมเกี่ยวกับแรปเตอร์ที่เล่าเรื่องการศึกษาของเขา หนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก แต่ถูกจำกัดโรงหนังตอบโจทย์ใหม่ๆ แต่ไม่ไปถึงคนดูในต่างจังหวัด เราจะผลักดันได้อย่างไรถ้าทุกอย่างถูกรวมศูนย์ มันไม่สามารถไปต่อได้ถ้ากระทรวงวัฒนธรรมไม่ช่วยเรา สิ่งที่รัฐกดขี่มายาวนานทำให้เกิดคำถามว่า นิยามของศิลปะคืออะไรในภาวะทางการเมืองเช่นนี้ สุดท้ายหากไม่สามารถเป็นกระจกสะท้อนสังคมและทำให้คนตั้งคำถามกับตัวเองได้ มันมีความจำเป็นอะไรที่จะเรียกตัวเองว่าศิลปิน

ส่วนคำกล่าวที่ว่า สู้ยังไงไม่เห็นชนะ มันไม่จริงเลย…ทุกวันนี้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปเรียน เราที่ไปโรงหนังแล้วมันไม่เหมือนเดิม เราชนะในหลากหลายมิติมาก ศิลปินออกมาเรียกร้องถือเป็นชัยชนะ หน้าที่ของเราคือ การรดน้ำต่อไปเรื่อยๆ เราถนัดอย่างไร ต้องใช้ทุกโอกาสให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างพื้นที่ทางความคิดไปเรื่อยๆ คนหมู่มากในสังคมอยู่ข้างเรา ไม่ต้องท้อมันมีหลายอย่างที่ต้องทำ…ที่ผ่านมาพอจบม็อบทุกคนก็บอกว่า พอแล้วพักก่อน แต่ก็จะมีการชวนมาทำอีก ขอพูดแทนคนที่ทำงานเบื้องหลัง ซึ่งบางทีก็สงสัยว่า ไปเอาพลังแบบนี้มาจากไหนกัน มันทำได้เรื่อยๆ ตลอดแม้กระทั่งแกนนำก็มีประเด็นตลอด สำหรับผมม็อบคือการเดินทาง นานวันที่ทำ มันทำให้มีความชำนาญมากขึ้นเพื่อเตรียมการต่อสู้ในปีหน้า

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม