เลือกตั้งท้องถิ่น: อบจ.สำคัญกับเราอย่างไร

20 ธันวาคม 2563 ถือเป็นนัดหมายสำคัญของประชาชนทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา เนื่องจากถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 76 จังหวัด

ความน่าตื่นเต้นของการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี นับแต่ คสช.รัฐประหารแล้ว ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีสิทธิโหวตครั้งแรก หรือ First Voter ที่มีช่วงอายุ 18-26 ปีเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้นับได้ว่ามีความตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุดในขณะนี้

อย่างไรก็ดี บรรยากาศในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่กลับพบว่าการแข่งขันไม่ได้คึกคักเหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2562 สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมีการคาดการณ์ว่าผู้ใช้สิทธิคราวนี้จะมีน้อย เนื่องจากการกำหนดวันเลือกตั้งหว่างกลางวันหยุดยาวที่ถูกกล่าวหาว่าตั้งใจลดทอนแรงจูงใจในการเดินทางกลับบ้านของประชาชน กระนั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่า อบจ.สำคัญอย่างไร เกี่ยวพันอะไรกับชีวิตประจำวันของพวกเขา

 

อบจ.เกี่ยวข้องกับชีวิตคนในพื้นที่ยังไง

พูดถึง อบจ. หลายคนอาจนึกถึงภาพของนักการเมืองท้องถิ่นที่วันๆ คอยเอาแต่ออกงาน งานแต่ง งานศพ งานบวช หรือหลายคนอาจติดภาพของนักการเมืองที่มักจะโผล่มาเฉพาะเวลาเลือกตั้งแล้วหายเข้ากลีบเมฆเมื่อได้รับเลือก แต่หากวางภาพเช่นนั้นลงจะพบว่า อบจ.มีอำนาจหน้าที่ และได้รับงบประมาณสนับสนุนรวมทั้งประเทศกว่า 28,797.8 ล้านบาท (ข้อมูลจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564) ที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาใส่ใจ กำหนดทิศทาง และตรวจสอบประสิทธิภาพ

โดยหลักแล้ว อบจ. มีภารกิจในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น

  • การจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ เช่น สร้างถนน สะพาน เส้นทางคมนาคมต่างๆ ท่อขนส่งระบายน้ำ ตลอดจนสร้างสวนสาธารณะและสนามกีฬาให้คนในพื้นที่ได้พักผ่อนหย่อนใจ
  • การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในจังหวัด
  • การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • การจัดการหรือสนับสนุนการศึกษาภายในจังหวัด
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • การจัดการขยะและติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย
  • ฯลฯ

หน้าที่ของ อบจ.กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

นอกจากนี้ อบจ.ยังมีอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญ คือ การจัดเก็บภาษีต่างๆ ภายในเขตพื้นที่จังหวัดของตัวเอง เช่น

  • ภาษีจากการค้าน้ำมัน ยาสูบ
  • ภาษีรถยนต์
  • ค่าธรรมเนียมจากผู้ที่มาพักโรงแรมในจังหวัด
  • ฯลฯ

เพื่อนำมาเป็นรายได้ในการดำเนินงานต่างๆ ส่วนนี้เรียกว่า ‘รายได้ที่จัดเก็บเอง’ และด้วยเหตุที่ อบจ.มีงบประมาณเป็นของตัวเอง ทำให้การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในจังหวัดสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องรองบประมาณหรือการดำเนินการจากส่วนกลาง

 

อบจ.ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ส.ส. และผู้ว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับ ส.ส. ที่เป็นเหมือนตัวแทนของคนในจังหวัดที่เข้าไปทำงานในสภา หน้าที่หลักของ ส.ส. คือ การออกกฎหมาย และควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร แต่ในส่วนของการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ส.ส.อาจไม่ได้มีบทบาทมากมายนัก เพราะสิ่งที่ส.ส.สามารถทำได้หากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ก็คือ การทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อปัญหานั้น เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางดำเนินการแก้ไข หรือการพาราษฎรที่เดือดร้อนไปพบเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ หรือการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณานำเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล

หน่วยงานที่เปรียบเสมือนแขนขาของส่วนกลางอย่าง ‘จังหวัด’ ที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่โดยตรงมากเท่า อบจ. เพราะหน้าที่หลักของผู้ว่าฯ คือการรับนโยบายของรัฐบาลหรือส่วนกลางมาปฏิบัติภายในจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

อบจ. จึงเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสองหน่วยงานข้างต้น การเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบุคคลเหล่านี้เมื่อได้รับเลือกแล้ว ก็จะมีหน้าที่ในการแก้ปัญหา บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตน