4 เรื่อง ที่จะเกิดขึ้นถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีผลบังคับใช้

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภามีนัดพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเจ็ดฉบับ โดยหนึ่งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถูกพิจารณา คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยประชาชน ซึ่งสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีดังนี้

  1. ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
  2. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียน และกดทับรัฐบาลทุกชุด
  3. ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่คนของ คสช. เป็นคนเขียน
  4. ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
  5. ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยให้ คสช. ลอยนวลพ้นผิด
  6. แก้ไขที่มานายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
  7. แก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง และลดอำนาจพิเศษของ ส.ว.
  8. แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด
  9. แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็พอ
  10. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเส้นทางข้างหน้าของการเมืองไทย มีอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

เนื่องจากเดิม รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แค่เพียงว่า ต้องมาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ก่อนการเลือกตั้ง และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ 

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอจากประชาชน จะกำหนดใหม่ให้ “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.” เป็นหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติ และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ โดยให้สภาผู้แทนฯ เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบนายกฯ คนใหม่ แต่ไม่ตัดสิทธิหาก พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้า เพื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายใต้กลไกการเลือกตั้งที่ปกติ

สอง ส.ว. ของ คสช. ต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้มี ส.ว. ชุดใหม่มาจากการเลือกตั้ง

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดย คสช. รวมถึงให้อำนาจ ส.ว.ชุดดังกล่าวเทียบเท่าหรือเหนือกว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ อำนาจในการเห็นชอบและขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจในการร่วมพิจารณาเห็นชอบกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป และอำนาจในการเห็นชอบองค์กรอิสระ

ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกำหนดให้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว และกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับระบบของรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านก็จะต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ และให้ ส.ว. มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่มากเป็นพิเศษ

สาม เริ่มกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ยกชุด

หลังการรัฐประหารในปี 2557 องค์กรอิสระกลายเป็น “ฐานที่มั่น” แห่งใหม่ของคณะรัฐประหารหรือ คสช. เนื่องด้วย คสช. ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหา และให้สภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเองเป็นคนเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งบรรดาองค์กรอิสระยังทำหน้าที่ได้ค้านสายตาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช. รวมถึงการทำหน้าที่ปัดป้องภัยที่จะคุกคามความมั่นคงของฝ่ายรัฐบาล คสช.

ด้วยเหตุนี้ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจึงเสนอให้มีการแก้ไขกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้มีการสรรหาใหม่ยกชุด ดังนั้น ถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ก็จะมีการสรรหาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ การเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระจะกระทำโดย ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งแทน

สี่ เริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ทันทีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีผลบังคับใช้ จะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ก่อน เมื่อได้ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ จึงดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ประชาชนทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเท่ากันคนละหนึ่งเสียง โดยเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครทั้งแบบบุคคลและแบบกลุ่ม ซึ่งวิธีการเลือกตั้งดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ที่ใช้การลงคะแนนเสียงแล้วนำไปคำนวณที่นั่ง

โดยหลังจากได้ สสร. ครบ 200 คน ก็ให้ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในระยะเวลา 360 วัน เป็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศทางการเมืองปกติที่ฝ่าย คสช. ไม่ได้มีอิทธิพลพิเศษมาครอบงำ และหลังจากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้ส่งให้รัฐสภาเป็นผู้เห็นชอบ หากรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบจึงส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. เพื่อดำเนินการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดย สสร. หรือไม่ ถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ต่อไป

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่