สรุปคำฟ้อง เพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉิน ยื่นโดยนิสิต นักศึกษา

วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) เวลาประมาณ 10.30 น. นิสิต นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 6 คน พร้อมด้วยเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดา เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยในเนื้อหาคำฟ้องมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

50511411538_b54af704d8_c

สรุปประเด็นคำฟ้องคดีฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่ง
ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน 

โจทก์: นางสาวศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน (นิสิต นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

จำเลย: พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 1, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ 2, พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ 3

จากสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมสาธารณะ การเดินทาง
การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการจัดการชุมนุมที่โจทก์ทั้งหกและประชาชนเข้าร่วมเป็นการชุมนุมที่สุจริต โดยสงบปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร มีผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตราย
ที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมา แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ โดยพฤติการณ์การใช้อำนาจของจำเลยทั้งสาม ได้แก่ การสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่งมวลชนหรืออาคารอื่นๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษาแบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของรถพยาบาล การห้ามใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่างๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว ซึ่งการดำเนินการของจำเลยทั้งสาม เป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้โจทก์ทั้งหกและประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมุนมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ดังกล่าวของโจทก์และประชาชน และมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

โจทก์จึงมายื่นต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้

1. ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของจำเลยที่ 1 โดยทันที

2. ให้จำเลยเพิกถอนบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 ที่ 2/2563 ที่ 4/2563 ที่ 6/2563  คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563 ที่ 3/2563 ที่ 6/2563 และประกาศฯ หรือคำสั่งฉบับที่จะออกมาในภายหลังของจำเลยที่ 3 ซึ่งออกมาเพื่อปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยทันที และห้ามมิให้นำมาตรการ คำสั่ง และการกระทำใด ๆ ที่จำเลยที่ 3 สั่งการให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุมอีกต่อไป

และวันนี้โจทก์ได้ยื่นร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้
มีการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงห้ามการออกประกาศคำสั่งตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมอีกในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล


เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรที่ร่วมดำเนินการยื่นฟ้องคดีนี้ ได้แก่ 

  1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 
  2. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 
  3. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 
  4. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 
  5. สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม 
  6. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 
  7. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) 
  8. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน