สรุปความ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ที่ FCCT ระบุไม่เห็นด้วยร่างประชาชน 100,000 ชื่อ

กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนจะร้อนน้อยลง แต่ยังคงระอุคุกรุ่นรอวันปะทุอยู่ทุกเมื่อ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาไม่โหวตวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับที่ทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ แต่กลับไพล่ไปโหวตตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือเราอาจเรียกให้สั้นและตรงประเด็นมากขึ้นได้ว่า ‘กมธ.ถ่วงเวลา’ กมธ.นี้จะศึกษาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไปก่อนระหว่างรอเปิดประชุมสภาใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางกระแสที่แกนนำม็อบกลุ่มต่างๆ ประกาศเตรียมลงถนนกดดันอีกระลอก

นอกจากนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ก็เพิ่งนำรายชื่อประชาชนกว่า 100,000 ชื่อที่ร่วมกันลงนามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวทางของประชาชนที่ดูจะ ‘ไปสุด’ กว่าทุกฉบับไปยื่นต่อสภาด้วย

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 63) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ได้จัดงานเสวนาเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ มีผู้เข้าร่วม 4 คน ได้แก่

– ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ รองประธาน กมธ. ศึกษาร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ

– รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล

– รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)  

ในวาระนี้เราสรุปความเห็นเฉพาะของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งดูจะมีความเห็นต่างมากที่สุดในวงและเป็นตัวแทนผู้มี ‘อำนาจ’ กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสำคัญ

ไพบูลย์แสดงความเห็นว่า ข้อต่อสู้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศไทยขณะนี้เป็นความพยายามเพื่อให้ได้กติกาที่สามารถเอาชนะกันในทางอำนาจรัฐ รวมถึงประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ก็ไม่ค่อยพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือเรื่องเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน แต่จะพูดถึงเรื่องโครงสร้างหรือกติกาการเลือกตั้ง การเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง ตามที่แต่ละฝ่ายต้องการเสียมากกว่า

“การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นที่มาของความขัดแย้ง”

เขายังเล่าย้อนไปถึงช่วงที่รัฐธรรมนูญ 2550 บังคับใช้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยสมาชิกรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งการเขียนเช่นนี้ ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญของไทยทำได้ง่ายที่สุดในโลก เมื่อแก้ไขง่าย ฝ่ายที่มีเสียงโหวตในสภามากกว่าก็ได้เปรียบ หากฝ่ายเสียงข้างมากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงเป็นที่มาของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เนื่องจากสภาไม่อาจถ่วงดุลการแก้รัฐธรรมนูญได้ 

หลังจากนั้นเกิดการชุมนุม 2 ครั้งจากกลุ่ม นปช. และ กลุ่ม กปปส. โดยทั้ง 2 ครั้งต่างก็มีประเด็นเรื่องการแก้กฎหมายหรือการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำคัญ จนในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้ง จุดประสงค์ของการเล่าย้อนเหตุการณ์นี้เพื่อสื่อว่า การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องใช้เสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ในการเห็นชอบก็เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงข้างน้อยในสภาไม่ถูกยอมรับ 

“คสช. ต้องการถอดบทเรียนจากปี 2550-2551 เลยมีการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้เพื่อป้องกันตัวเอง เพราะ คสช.รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นประเด็นในการชิงอำนาจรัฐกัน ต้องมีการเรียกร้องให้แก้ไขกติกาต่างๆ จึงออกแบบไว้เช่นนี้ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาของคนทั้งประเทศโดยปกติต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกัน แต่พอเป็นเรื่องการแย่งอำนาจก็เลยเกิดความขัดแย้งขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา” 

“กลไกในการแก้รัฐธรรมนูญของไทยเป็นเรื่องการต่อรอง การกดดัน การต้องหาความเห็นร่วมกันเพื่อเดินหน้าต่อไป เชื่อว่าจะเกิดการแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน แต่จะไม่ตรงตามต้องการของทุกฝ่าย” ไพบูลย์กล่าว

หลังจากจบช่วงแสดงความเห็นของวิทยากรแต่ละคน ในช่วงการตอบคำถามมีประเด็นน่าสนใจดังนี้ 

๐ ทำไมหลังจากมีการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วจึงมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางประการได้ รวมถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในหมวด 1-2 เกี่ยวกับอำนาจของสถาบันฯ ทำไมบางฝ่ายอยากแก้ อีกฝ่ายไม่อยากแก้ 

ไพบูลย์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “รัฐธรรมนูญเขียนไว้อยู่แล้วว่าต้องให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ นี่จึงเป็นเรื่องของกฎหมายและประเพณี”

“แต่ประเด็นสำคัญที่อยากพูดคือ ที่มาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความจริงแล้วนั้น พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาในตำแหน่งโดยการชนะเสียงโหวตจาก ส.ส. และได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนด้วยเสียงที่มากที่สุดคือ 8,400,000 เสียง ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เพียง 6,000,000 กว่าเสียง มันเป็นเรื่องของกติกาที่มีอยู่ก่อนการแข่งขัน เมื่อลงแข่งแล้วแพ้ก็ไม่ยอมรับ อยากแก้กติกาเพื่อให้ตัวเองชนะ ซึ่งก็คือต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหนทางให้ตัวเองที่เคยแพ้กลับมาชนะได้”

“การแก้รัฐธรรมนูญในประเทศไทยมันเหมือนเป็นเรื่องชิงอำนาจกันเท่านั้น ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เมื่อแข่งแล้วแพ้ก็อยากแก้กติกาให้ตัวเองชนะ โดยเริ่มการโจมตีก่อนว่า กติกามันไม่ดียังไง เช่นนี้ อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิ มีเสียง ที่จะไม่เห็นด้วยเหมือนกัน นี่แหละคือประชาธิปไตย ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยแล้วบอกว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ ผมเห็นว่าคนที่คิดแบบนี้คือไม่ใช่ประชาธิปไตย”

เขาได้ยกตัวอย่างถึงเรื่องการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญว่า มีเสียงเห็นด้วย 15 ล้านเสียง ไม่เห็นด้วย 10 ล้านกว่าเสียง และมีเพียง 90 คนที่โดนจับจากการเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติ จึงไม่สามารถพูดได้ว่าโดนตัดสิทธิหรือการถูกจำกัดสิทธิ เพราะมันมีคนออกมาโหวตไม่เห็นด้วยตั้ง 10 ล้านคน ถ้าถูกจำกัดสิทธิจริงจะมาจากไหนตั้ง 10 ล้านคน 

๐  การแก้รัฐธรรมนูญในประเทศไทยทุกครั้งเหมือนเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ความจริงมันกลับเริ่มมาจากการที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ทำให้ต้องมีการแก้ไปเรื่อยๆ เราจะก้าวข้ามการแก้ปัญหาระยะสั้นนี้ไปได้ยังไง 

ไพบูลย์ให้ความเห็นว่า สังคมไทยมีจุดเด่นคือ มีความประนีประนอมสูง ความคิดที่จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเคารพ คือ ต้องมีการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้ากระบวนการแก้ในครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี เราก็อาจได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีข้อตำหนิน้อยที่สุด และทำให้ประเทศไทยพ้นจากข้อขัดแย้งนี้ได้

มีช่วงหนึ่งที่ไพบูลย์กล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน (iLaw) ไว้ว่า

“ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยไอลอว์นั้น เสนอโดยประชาชนหนึ่งแสนกว่าคน ต้องบอกเลยว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอตามกติกา รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย ส.ส. นั้น ส.ส.แต่ละคนเป็นตัวแทนของประชาชนหลายหมื่นคน ดังนั้นเมื่อเสนอเป็นร้อยๆ คน ก็ถือเป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนหลายๆ ล้านคน ต้องอย่าเอาร่างหนึ่งแสนคนไปบอกว่าต้องมีความหมายมากกว่าร่างของคนหลายๆ ล้านคน ผมไม่เห็นด้วย” 

“ผมบอกเลยว่า ท่านรวมคนแค่แสนคน มันง่ายมาก ในปี 2551 เขาก็รวมกันแป๊บเดียว ผมว่าท่านอย่าไปหวังหรือไปสร้างในสิ่งที่ท่านเสนอที่ใช้คนเพียงแสนคนนั้น ท่านอย่าไปหวังอะไรมันเยอะเกินกว่าที่มันเป็นจริง ก็คือเป็นคนแสนคน ไม่ใช่คนหลายล้านคน”

นอกจากนั้น ยังกล่าวอีกว่า “การพิจารณาร่างของไอลอว์จะเป็นไปตามดุลพินิจของรัฐสภา ซึ่งตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย และถ้าตนโหวตไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีสิทธิ์มาว่า เพราะถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจ” 

“สุดท้ายผมอยากจะฝากว่า ผมไม่สนับสนุนให้ใครที่จะมีเสียง เสียงเดียวเท่ากับผม แต่เสียงดังกว่าผม ผมไม่เอา เช่น การที่ไปจัดชุมนุมขึ้นแล้วก็ไปบอกว่า นี่คือเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมาบังคับผม ผมไม่ยอมประนีประนอมครับ ผมต้องการเสียงของประชาชนทั้งประเทศจริงๆ”

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่