เปิดโมเดล สสร. ร่าง 50,000 ชื่อ เลือกตั้ง 100% ไม่แบ่งเขตตามจังหวัด

หลังจากเริ่มมีเสียงตอบรับจากคนในสภาอย่างน้อยสองกลุ่ม คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และฝ่ายรัฐบาล คสช.2 ที่จัดทำร่างของตัวเองขึ้นมามีปลายทางคล้ายกัน คือ ต้องการให้จัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ขึ้นมาใหม่ โดยมีที่มาแตกต่างกันอยู่บ้าง

ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ต้องการให้ สสร. ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้ง โดยแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัด แต่ละจังหวัดจะมี สสร. กี่คนขึ้นอยู่กับสัดส่วนจำนวนประชากร ส่วนข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล ต้องการให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และให้อีก 50 คน มาจากกระบวนการสรรหา มีตัวแทนของรัฐสภา ตัวแทนของนักวิชาการ และตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่

ซึ่งทางฝ่ายภาคประชาชนเองก็กำลังเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่ข้อเสนอตามร่างฉบับที่เชิญชวนให้ประชาชนเข้าชื่อกันให้ครบ 50,000 คน มีเนื้อหารายละเอียดที่แตกต่างกับสองฉบับข้างต้นอยู่บ้าง ดังนี้

200 คน จากการเลือกตั้งโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 

ข้อเสนอการเลือกตั้ง สสร. ฉบับ 50,000 ชื่อโดยประชาชน เสนอให้สมาชิก สสร. ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่แบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัด หรือที่เรียกว่า ใช้เขตประเทศทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้งแบบนี้มีข้อดี คือ ถ้าหากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชอบนโยบายการเขียนรัฐธรรมนูญของผู้สมัครรายใด ก็สามารถลงคะแนนให้ผู้สมัครรายนั้นได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้สมัครายนั้นจะสมัครในเขตจังหวัดของตัวเองหรือไม่ ทำให้ผลการเลือกตั้งที่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนในระดับประเทศ

สาเหตุที่เสนอระบบเลือกตั้งแบบนี้ เพราะในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิก สสร. จำเป็นต้องลงมติเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญที่กระทบกับผู้คนทั้งประเทศ เช่น การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน การออกแบบระบบเลือกตั้ง ส.ส. การตัดสินใจว่าจะมี ส.ว. หรือไม่ ฯลฯ สสร.ไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินใจหรือเป็นปากเป็นเสียงแทนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ไม่ต้องการตัวแทนที่ลงมติเพื่อแก้ปัญหาของคนในจังหวัดต่างๆ

การออกแบบระบบเลือกตั้ง สสร. โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีแต่ข้อกังวลที่เปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นๆ หรือในจังหวัดนั้นๆ จะใช้อิทธิพลของตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่นจนได้เข้าไปเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ได้มีนโยบายชัดเจนสำหรับการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีผลกับคนทั้งประเทศ

สมัครคนเดียวหรือสมัครเป็นกลุ่มก็ได้

ด้วยระบบที่ให้ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิที่จะเลือกผู้สมัครทุกคน ทำให้ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สสร. จะต้องนำเสนอไอเดียที่จะเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ตอบสนองกับความต้องการของคนทั้งประเทศ ไม่สุดโต่งไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครเป็นรายบุคคลก็ได้ หรือจะสมัครเป็นกลุ่มก็ได้

การคำนวณที่นั่งของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น สสร. ให้คนหรือกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง สำหรับผู้ที่สมัครเป็นรายบุคคล ถ้าได้คะแนนในลำดับไม่เกิน 200 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สสร. หนึ่งคน ไม่ว่าจะได้คะแนนมากเพียงใด

สำหรับผู้ที่สมัครเป็นกลุ่ม ให้ดูจากสัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และคะแนนที่ผู้สมัครได้รับ สำหรับผู้ที่สมัครเป็นกลุ่ม กลุ่มหนึ่งๆ จะมีจำนวนผู้สมัครได้ไม่เกิน 200 คน หากกลุ่มใดได้รับคะแนนมาก ก็ให้ได้เป็นสมาชิก สสร. หลายที่นั่งตามสัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับคะแนนทั้งหมดที่กลุ่มนั้นได้รับ โดยผู้สมัครของกลุ่มนั้นๆ ได้เป็นสมาชิก สสร. เรียงตามลำดับ คล้ายกับระบบการคำนวณที่นั่งของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ผู้สมัคร สสร. จะเป็นใครก็ได้ ไม่มีการจำกัดคุณสมบัติด้านอายุ และการศึกษา ไม่ได้ห้ามคนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ไม่ได้ห้ามคนที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง ไม่ได้ห้ามคนที่เคยล้มละลาย ติดยาเสพติด หรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน แต่จำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. สำหรับคนที่ถูกคุมขังอยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง คนที่เคยถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ หรือโกงเลือกตั้ง ห้ามข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ตุลกาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการในองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และข้าราชการการเมือง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันสมัคร

ไม่มีโควต้าพิเศษให้ “ผู้ทรงคุณวุฒิ”

การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในอดีต มีโควต้าที่นั่งสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ หรือนักวิชาการที่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ทางด้านรัฐศาสตร์ และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเดียวกับที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังเสนอ ปัญหาของตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ผู้ที่มีความรู้เป็นพิเศษและเข้ามาโดยช่องทางพิเศษจะพยายามใช้อิทธิพลชักจูงใจสมาชิกคนอื่นๆ ที่มาจากการเลือกตั้งให้ลงมติเพื่อเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในแนวทางที่ตนเองต้องการ

ดังนั้น ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 50,000 ชื่อ จึงเสนอให้สมาชิก สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% และไม่มีโควต้าที่นั่งพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยหากมีกลุ่มนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทางสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพร้อมทำงานเพื่อใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เอง

แต่ในข้อเสนอชุดนี้ ยังไม่ปิดทางสำหรับโครงสร้างลักษณะเดียวกับโมเดลของพรรคเพื่อไทย ที่จะให้ สสร. จากการเลือกตั้งมีอำนาจคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาทำหน้าที่เป็น “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ต้องเขียนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามความเห็นชอบของ สสร. ไม่ใช่เขียนตามใจของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็ยังอาจมีบทบาทในกรณีที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงาน เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ รวมทั้งอาจได้รับเชิญมาให้ความรู้หรือให้ความเห็นในประเด็นที่ สสร. ต้องการความรู้เพิ่มเติมได้

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่