เปิดโมเดล สสร. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘พรรคเพื่อไทย’

SSR Phue Thai Proposal

31 สิงหาคม 2563 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมกับคณะเป็นผู้เสนอ โดยมีทั้งสิ้น 5 มาตรา หนึ่งในสาระสำคัญ คือ วิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

วิธีการได้มาซึ่ง สสร. ฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอ คือ ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อปี 2543 ที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและใช้ระบบ “รวมเขตเบอร์เดียว” แต่เปิดกว้างเรื่องอายุผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยให้บุคคลตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปก็สามารถสมัครเป็น สสร. ได้

สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบรวมเขตเบอร์เดียว 

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทย ในหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มี สสร. จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามจำนวน สสร. ที่จังหวัดพึงมี ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร.

ขั้นตอนการคำนวณ สสร. ในแต่ละจังหวัด มีดังนี้

(1) เอาจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง สสร. มาเฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. ทั้งหมด (200 คน)

(2) นำค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) มาหารจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด เพื่อหาจำนวน สสร. ที่แต่ละจังหวัดพึงมี

(3) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้จังหวัดนั้นมี สสร. 1 คน

(4) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้เพิ่ม สสร. 1 คน ในทุกๆ จำนวนราษฎรที่ครบตามค่าเฉลี่ย

(5) ในกรณีที่ยังได้ สสร. ไม่ครบ 200 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด มี สสร. เพิ่ม 1 คน จนกว่าจะครบจำนวน

ตัวอย่างการคำนวณ มีดังนี้

ถ้าจำนวนราษฎรทั้งหมด เท่ากับ 60,000,000 คน และ สสร. มีทั้งหมด 200 คน 

ค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรทั้งประเทศต่อจำนวน สสร. คือ 60,000,000 หารด้วย 200 เท่ากับ 300,000 คน

๐ จังหวัด A มีราษฎร 290,000 จังหวัด A จะมี สสร. 1 คน  

๐ จังหวัด B มีราษฎร 600,000 คน จังหวัด B จะมี สสร. 2 คน

๐ จังหวัด C มีราษฎร 580,000 คน จังหวัด C จะมี สสร. 1 คน และจะได้เพิ่ม 1 คน ในกรณีที่ยังได้ สสร. ไม่ครบ 200 คน และเมื่อนำค่าเฉลี่ยในการคำนวณจำนวน สสร. มาหารแล้วเหลือเศษมากที่สุด

สสร. อายุ 18 ก็สมัครได้ แต่ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง

ตามร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเสนอ กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง สสร. ไว้ในมาตรา 256/2 และ 256/3 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

(2) มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือเคยศึกษาในสถานศึกษา หรือรับราชการ ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี

(3) ไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

(4) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง

(5) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี

ให้มีผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์มาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ

ตามร่างรัฐธรรมนูญที่เพื่อไทยเสนอ กำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 1 คณะ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 45 คน แบ่งเป็นการแต่งตั้งจากสมาชิก สสร. จำนวน 30 คน และให้มีตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนจำนวน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน รวมเป็น 45 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ สสร. กำหนด เพื่อเสนอให้ สสร. พิจารณาต่อไป

ห้ามแตะหมวด 1-2 และให้รัฐสภาตรวจสอบคว่ำรัฐธรรมนูญได้

ตามร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเสนอ มีการบัญญัติเพิ่มมาตรา 256/9 เข้าไป โดยระบุให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกระทำมิได้ 

อีกทั้ง ยังให้อำนาจรัฐสภาเข้ามาตรวจสอบว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดย สสร. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากไปแก้ไขหมวดดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอันตกไป

วางกรอบ “เลือกตั้ง-ยกร่าง-ประชามติ” ต้องไม่เกินหนึ่งปี

สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทย มีดังนี้

(1) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ภายใน 60 วัน และประกาศผลเลือกตั้งภายใน 15 วัน

(2) ให้ สสร. จัดให้มีการประชุมสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ กกต. ประกาศผลเลือกตั้ง

(3) สสร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ประชุมสภาครั้งแรก

(4) เมื่อ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน สสร. ส่งร่างให้ กกต. ภายใน 7 วัน เพื่อทำประชามติ

(5) ให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน แต่ต้องไม่เร็วกว่า 45 วัน

ทั้งนี้ หลังการออกเสียงประชามติ ถ้าประชาชนเห็นชอบให้ดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีการประกาศใช้ต่อไป แต่ถ้าเสียงประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้ถือว่าร่างนั้นเป็นอันตกไป แต่คณะรัฐมนตรี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส.ร่วมกับ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสองสภา มีสิทธิเสนอให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”