พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อำนาจรัฐปิดเว็บที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ผิดกฎหมาย

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีข้อพิพาทกับเฟซบุ๊ก ภายหลังร้องขอให้ปิดกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ที่ก่อตั้งโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งรวมไปถึงเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย โดยพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีคำสั่งศาลขอให้เฟซบุ๊กลบเนื้อหากว่า 1,129 URL โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20

โดยมาตรา 20 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2560 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ อย่างน้อย 4 กรณี ได้แก่

     (1) ข้อมูลที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทุกประเภท เช่น การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ตาม ม. 14

     (2) ข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงฯ เช่น ป.อาญา ม. 112, ม. 116 หรือการก่อการร้าย

     (3) ข้อมูลที่เป็นความผิดตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

     (4) ข้อมูลที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (แต่ไม่ได้เป็นความผิดต่อกฎหมายใด)

โดยการปิดกั้นหรือลบเนื้อหา ตาม (1) และ (2) ให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะไม่สามารถสั่งให้ “บล็อค” ด้วยตัวเองได้ แต่ต้องส่งเรื่องให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เห็นชอบก่อน ซึ่งรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ จากพรรคพลังประชารัฐ และยื่นขอหมายศาลเพื่อปิดกั้นหรือลบเนื้อหา ตามมาตรา 20 กำหนดไว้ว่า เมื่อได้รับหมายจากศาลแล้ว เจ้าพนักงานจะทำการปิดกั้นเองหรือให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตทำก็ได้ 

ส่วนการปิดกั้นหรือลบเนื้อหา (3) ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่เป็นผู้รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายนั้นๆ หรือพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจรับผิดชอบคดีนั้นๆ ร้องขอไปยังเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ (1) และ (2) ต่อไป แต่ข้อมูลตาม (3) ถ้าหากไม่ได้รับการร้องขอมา เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเริ่มดำเนินการเองไม่ได้

อย่างไรก็ดี มาตรา 20 ยังเปิดช่องให้รัฐปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายได้ ถ้าหากพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาหรือข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยให้มี “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” ทำหน้าที่พิจารณาและเห็นชอบว่า ข้อมูลใดจะถูกปิดกั้นได้บ้าง และมอบหมายให้เจ้าพนักงานขออำนาจศาลดำเนินการปิดกั้นหรือลบเนื้อหา ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีจำนวน 9 คน และ 3 ใน 9 ต้องมาจากผู้แทนเอกชนสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ

เมื่อศาลได้รับคำร้องให้ปิดกั้นข้อมูลแล้ว ให้เป็นไปตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ เจ้าของเว็บไซต์ที่ถูกขอให้ปิดกั้นอาจยื่นคำร้องคัดค้านและแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งได้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เจ้าพนักงานอาจยื่นคำร้องต่อศาลไปก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก็ได้

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม