50,000 ชื่อแล้วยังไงต่อ? เมื่อประชาชนขอแก้รัฐธรรมนูญ ขั้นตอนยังอีกยาว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ตราบที่อำนาจทางการเมืองยังอยู่ในมือ “ระบอบ คสช.” อย่างเหนียวแน่นก็ยากมากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องพึ่งพาเสียงจากประชาชนเพื่อกดดัน แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอของประชาชนต้องเจอขั้นตอนมากมาย ทั้งการตรวจสอบเอกสาร การเปิดให้คัดค้าน การรอบรรจุวาระ และเมื่อพิจารณาในสภาต้องได้ความเห็นชอบจาก ส.ว. 84 คนด้วย ถ้าขั้นตอนเหล่านี้จะผ่านฉลุยรวดเร็วได้ การส่งเสียงให้ดังก็ยังต้องทำ

ในระหว่างที่ประชาชนจำนวนมากกำลังช่วยเข้าชื่อให้ครบ 50,000 คน เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง “รื้อ สร้าง ร่าง” รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข เพื่อรื้อถอนอำนาจของระบอบ คสช. เปิดทางให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของทุกคน ดังนั้น จึงอยากชวนดูกันว่า หากเข้าชื่อได้ครบและนำไปยื่นต่อสภาแล้ว จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนใดบ้างหลังจากนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อ

เมื่อนำรายชื่อและเอกสารของผู้เข้าชื่อทั้ง 50,000 คน ไปยื่นต่อรัฐสภาแล้ว เจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารว่า เป็นการเข้าชื่อในแบบฟอร์มหมายเลข 7 พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ และจะนับว่า รายชื่อที่มีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ มีจำนวนเท่าใด โดยจะตรวจสอบรายชื่อกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง เพื่อให้ทราบว่า คนที่เข้าชื่อมีตัวตนอยู่จริง

ซึ่งการตรวจนับรายชื่อโดยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 มาตรา 10 เขียนไว้ว่า สำหรับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ที่ต้องใช้รายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ต้องทำการตรวจสอบเอกสารให้เสร็จภายใน 45 วัน สำหรับการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นใช้รายชื่อประชาชนจำนวนมากกว่า คือ 50,000 รายชื่อ ซึ่งไม่ได้มีกฎหมายกำหนดกรอบเวลาในการทำงานเอาไว้ จึงอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน

ถ้าหากตรวจนับรายชื่อแล้ว พบว่า มีรายชื่อคนที่เข้าชื่อพร้อมเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ถึง 50,000 รายชื่อ ก็ต้องให้หาเพิ่มเพื่อให้ครบโดยมีเวลาเพิ่มอีก 90 วันในการหาให้ครบ แต่ถ้าหากตรวจนับรายชื่อแล้วพบว่าครบตามจำนวน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

2. เปิดโอกาสให้คัดค้าน

เมื่อตรวจสอบจำนวนรายชื่อว่า ถูกต้องครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำขั้นตอนเพื่อเปิดโอกาสให้คนมายื่นคำร้องคัดค้านได้หากถูกแอบอ้างชื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเริ่มจากการประกาศรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายก่อน ผ่านสามช่องทาง ดังนี้

     1) ประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อ ทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ทุกคนเข้าไปที่เว็บไซต์และใส่หมายเลขประจำตัว 13 หลักเพื่อตรวจสอบได้ว่า มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้เสนอแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

     2) จัดเอกสารไว้เพื่อให้ประชาชนเดินทางมาตรวจสอบด้วยตัวเองได้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

     3) มีจดหมายแจ้งไปยังผู้เข้าชื่อกันตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน

ใครที่มีชื่อเป็นผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าตรวจสอบพบรายชื่อของตัวเองเป็น 1 ใน 50,000 คนแล้ว ก็เท่ากับได้รับคำยืนยันว่า เอกสารที่เข้าชื่อไปนั้นถูกต้องครบถ้วน และไม่ต้องดำเนินการใดๆ ต่อ แต่หากใครที่ไม่ได้เป็นผู้เข้าชื่อด้วย ได้รับจดหมายแจ้งจากทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือตรวจสอบพบรายชื่อของตัวเองด้วย ก็มีสิทธิไปยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้ลบชื่อของตัวเองออกได้

3. รอบรรจุวาระ

เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก็ต้องเข้าคิวรอการบรรจุวาระเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นการประชุมของสองสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกัน และการประชุมร่วมของสองสภาไม่ได้มีนัดประชุมเป็นประจำอยู่แล้ว ต้องเป็นการนัดประชุมในวาระพิเศษ ที่จะกำหนดวันประชุมโดยขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันของสองสภา

การรอกำหนดวันเวลาที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนจะถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุม ยังเป็นข้อน่าห่วงกังวล เป็นขั้นตอนที่อาจจะใช้ถ่วงเวลาการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นานหลักปี และขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนจะต้องช่วยกันเรียกร้องให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกบรรจุในวาระการประชุมโดยเร็ว

4. สภาพิจารณา

เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว การพิจารณาจะแบ่งออกเป็นสามวาระ ดังนี้

วาระแรก ขั้นรับหลักการ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาพิจารณาไม่นานนัก โดยจะมีการเปิดให้อภิปรายทั่วไประยะเวลาเพียง 1-2 วัน หรือสั้นกว่านั้นแล้วลงมติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระแรกได้ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือประมาณ 84 คน ถ้าหากได้จำนวนเสียงไม่พอในวาระแรก ก็เท่ากับว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอันตกไป

วาระที่สอง เป็นขั้นตอนการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาลงรายละเอียดเรียงลำดับรายมาตรา คณะกรรมาธิการจะมีสัดส่วนมาจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองต่างๆ ตามสัดส่วนที่มีในสภาและมีสัดส่วนจากประชาชนผู้ริเริ่มเสนออีก 1 ใน 3 การลงมติของคณะกรรมาธิการให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาในรายละเอียดของคณะกรรมาธิการมาพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของสองสภาอีกครั้ง โดยเปิดให้อภิปรายในประเด็นที่มีกรรมาธิการติดใจตั้งข้อสงวนไว้ และหากจะผ่านวาระที่สามได้ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด หรือประมาณ 84 คน

ถ้าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเพราะได้เสียงเห็นชอบไม่เพียงพอตามเกณฑ์ ก็เป็นอันตกไป

5. ทำประชามติ

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 15 ในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ดังนั้น สำหรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเปิดช่องให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนทั้งประเทศก่อน

6. ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ

แม้ว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว และผ่านการทำประชามติแล้ว แต่ก่อนการประกาศใช้ยังมีขั้นตอนพิเศษอีก โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (9) กำหนดไว้ว่า ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือของสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง

หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วพิจารณาเห็นว่า ข้อเสนอนั้นๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ก็อาจสั่งไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนั้นๆ ได้

ดังนั้น การเดินทางเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​จึงยังมีเส้นทางอีกยาวไกล การเข้าชื่อให้ครบ 50,000 คนจึงเป็นเพียงขั้นตอนแรกเพื่อการเสนอข้อเรียกร้องให้สำเร็จเท่านั้น การสร้างบทสนทนาและส่งเสียงเรียกร้องให้ชัดเจนในสังคมยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา และขั้นตอนที่ต้องทำประชามติอีกครั้ง

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่