Q&A ตอบทุกคำถาม อยากลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำอย่างไรบ้าง

ระหว่างการล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมีคำถามเข้ามามากมาย หลายคนสงสัยว่าต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนใดบ้าง เราจึงรวบรวมคำถามหลักๆ ที่พบบ่อยๆ มาลองอธิบายแบบสั้นๆ ไว้ที่นี่ที่เดียว หวังว่าจะตอบทุกข้อสงสัยได้ แต่หากใครยังมีข้อคิดเห็นหรือคำถามใดๆ ก็ส่งเข้ามาได้ เราจะตอบให้ครบทุกความเห็น

Q&A about how to Submission a Petition for Introducing the Constitution

Q1: ใครมีสิทธิลงชื่อบ้าง?

A1: ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หรือ คนไทยที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันที่ยื่นรายชื่อต่อรัฐสภา (แอบกระซิบว่า ใกล้ๆ จะอายุ 18 ปีก็ลงชื่อได้ เพราะกว่าเราจะรวบรวมชื่อจนครบ 50,000 อายุก็อาจจะถึง 18 ปี เท่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ได้) ทั้งนี้ ถ้าไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่ง ก็ยังลงชื่อได้

คนที่ถูกตัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้แก่ นักบวชในศาสนา นักโทษที่ถูกคุมขัง คนวิกลจริต และคนที่ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

 

Q2: ลงชื่อออนไลน์ได้หรือไม่?

A2: ไม่ได้ ต้องกรอกแบบฟอร์มเฉพาะเรียกว่า “เอกสารหมายเลข 7” และต้องใช้เอกสารที่ลงลายมือชื่อจริงเท่านั้น พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประชาชนที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องด้วย จึงจะมีผลนับเป็นหนึ่งในห้าหมื่นรายชื่อที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยการลงลายมือชื่อด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แท็บเล็ต แล้วปริ้นท์ออกมา ก็ทำไม่ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถลงชื่อจากบ้านได้โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มเอกสารหมายเลข 7 จากเว็บ https://old.ilaw.or.th/50000Con และพิมพ์ลงกระดาษ A4 กรอกให้ครบถ้วน แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือสำเนาบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง และขีดคร่อมว่า “ใช้เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น” ตรวจสอบลายเซ็นลงชื่อบน “เอกสารหมายเลข 7” และ “สำเนาบัตรประชาชน” ให้เหมือนกัน 

ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง ตู้ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 (สามารถเขียนตามนี้ได้เลย โดยไม่ต้องใส่ชื่อผู้รับ) และสามารถรวบรวมส่งมาพร้อมกันก็ได้ ขอแค่เย็บเอกสารหมายเลข 7 และสำเนาของแต่ละคน แยกเป็นชุดๆ ก็พอ

 

Q3: สำเนาบัตรประชาชน ต้องถ่ายทั้งด้านหน้าและด้านหลังเลยหรือไม่

A3: ถ่ายเฉพาะด้านหน้าด้านเดียว-ด้านที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน

 

Q4: ต้องลงชื่อภายในเมื่อไร?

A4: ตามกฎหมายไม่ได้มีกำหนดว่า เมื่อเริ่มรวบรวมรายชื่อแล้วจะต้องรวบรวมให้ได้ครบจำนวนภายในกี่วัน และเราก็เพิ่งเปิดตัวกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 สามารถลงชื่อได้เรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 50,000 รายชื่อ ทั้งการลงชื่อจากทางบ้านและส่งไปรษณีย์ หรือการลงชื่อจากการตั้งโต๊ะให้ลงชื่อ

 

Q5: เมื่อลงชื่อแล้ว จะมีผลกระทบตามมาหรือไม่?

A5: การลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิทธิทางการเมืองไม่ต่างจาการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง โดยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ 50,000 คนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ดี หากมีใครพยายามหลอกลวง บังคัญ ขู่เข็ญ ไม่ให้ลงชื่อหรือให้ถอนชื่อ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มาตรา 13 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

 

Q6: หากมีการตั้งโต๊ะให้ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเตรียมอะไรบ้าง

A6: เพื่อความรวดเร็ว ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชนที่ถ่ายเอกสารมาแล้ว แต่ถ้าไม่ได้เตรียมมา พกบัตรประชาชนใบเดียวก็เพียงพอ เนื่องจากเรามีเครื่องถ่ายเอกสารเตรียมพร้อมให้ 

ทั้งนี้ หากไม่มีบัตรประชาชน สามารถใช้บัตรประชาชนที่หมดอายุ หรือสำเนาบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ เช่น บัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประจำตัวทนายความ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ

 

Q7: อยู่ต่างประเทศ แต่อยากร่วมลงชื่อด้วย ต้องทำอย่างไร

A7: ทำตามวิธีการในคำถามที่สอง ปริ้นท์เอกสาร กรอกข้อมูล รับรองสำเนาถูกต้อง และส่งไปรษณีย์กลับมาที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่เปิดโอกาสให้มีการลงชื่อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

 

Q8: ในเอกสารหมายเลข 7 ตรงหัวกระดาษ “(ฉบับที่..) พุทธศักราช ….” และตรง “เขียนที่…” ต้องกรอกอย่างไร

A8: ตรง “(ฉบับที่..) พุทธศักราช ….” ไม่ต้องกรอกอะไร ส่วน “เขียนที่…” ให้กรอกสถานที่หรือจังหวัดที่กำลังเขียนเอกสารนั้นอยู่ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ กรุงเทพฯ เป็นต้น

 

Q9: จะเปิดตั้งโต๊ะให้ร่วมลงชื่อเมื่อไหร่ และที่ไหนบ้าง

A9: เราจะแจ้งวัน เวลา และสถานที่ให้ทราบทางทวิตเตอร์ @ilawclub และเฟซบุ๊ก iLaw อย่าลืมกดติดตาม กดไลก์ และกดกระดิ่ง เพื่อรับการแจ้งเตือน จะได้ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวว่าเราจะไปตั้งโต๊ะให้ร่วมลงชื่อที่ไหนบ้าง

สำหรับสถานที่ใดที่เราไม่ได้ระบุว่าเปิดหลายวัน หมายความว่าเราจะเปิดให้ร่วมลงชื่อแค่ในวันนั้นเท่านั้น แต่เราจะเดินทางไปในหลายๆ ที่และหลายๆ ภูมิภาค เพื่อให้ทุกคนมีส่วนในการร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญให้มากที่สุด

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่