คำแนะนำสำหรับอาสาสมัคร เปิดจุดรับเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ

ข้อควรรู้สำหรับอาสาสมัครที่สามารถช่วยกันรวบรวมเอกสารเข้าชื่อให้ครบ 50,000 ชื่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุม เจ้าของร้านค้า ร้านอาหาร ที่พร้อมบริการผู้ที่อยู่อาศัยละแวกใกล้เคียง เก็บรวบรวมเอกสารรายชื่อก่อนส่งมารวมกัน

 

เอกสารและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

  1. เอกสารแบบฟอร์มหมายเลข 7 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มเฉพาะของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ต้องใช้ฉบับที่หัวกระดาษเหมือนกันเท่านั้น สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ คลิกที่นี่ หรือติดต่อขอรับได้จากทางไอลอว์ เมื่อได้ต้นฉบับมาแล้วสามารถนำไปถ่ายเอกสารต่อเท่าไรก็ได้ 
  2. เครื่องถ่ายเอกสาร เนื่องจากเข้าชื่อต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนของผู้เข้าชื่อทุกคน จุดรับเข้าชื่อจึงควรมีเครื่องถ่ายเอกสารไว้บริการด้วย
  3. กระดาษเอสี่ จำนวนหนึ่ง เตรียมไว้สำหรับการถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน
  4. ใบปลิวอธิบายข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อย่างง่าย จะพิมพ์ออกมาแจกด้วยหรือไม่ก็ได้ตามแต่สะดวก สามารถดาวน์โหลดเป็นไฟล์ภาพได้ คลิกที่นี่ (มีไฟล์สองหน้า)
  5. ตัวร่าง คือ ตัวบทของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะเสนออย่างเป็นทางการ สามารถดาวน์โหลดได้ คลิกที่นี่
  6. คำอธิบายรายมาตรา เพื่อให้ผู้อ่านตัวร่างสามารถทำความเข้าใจไปด้วยได้ สามารถดาวน์โหลดได้ คลิกที่นี่
  7. โปสเตอร์ ประกาศให้ทราบว่า จุดนี้เป็นจุดรับเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ สำหรับพิมพ์ออกมาขนาดใดก็ได้ และนำไปติดประกาศให้ผู้ที่ต้องการเข้าชื่อเห็นได้เด่นชัด สามารถดาวน์โหลดได้ คลิกที่นี่
  8. อุปกรณ์อื่นๆ เพื่อความสะดวก เช่น ปากกา (ขอให้เป็นปากกาหมึกสีน้ำเงิน) แม็กเย็บกระดาษ

เอกสารและอุปกรณ์ที่จำเป็นน่าจะมีแค่ข้อ 1, 2, 3 ส่วนที่เหลือเป็นเอกสารประกอบที่ผู้ตั้งจุดรับเข้าชื่อสามารถเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้เพียงใดก็ได้ ตามแต่ความสะดวกของจุดรับเข้าชื่อจุดนั้นๆ 

หากต้องการใช้ข้อมูลหรือภาพรณรงค์จากเว็บไซต์ของไอลอว์ในการทำกิจกรรมนี้ สามารถนำไปใช้ได้ จะแก้ไขดัดแปลงหรือเผยแพร่ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน

สำหรับอาสาสมัครที่จะตั้งจุดเข้าชื่อในที่ชุมนุม หรือสถานที่ที่มีคนมาเยอะมากๆ จากประสบการณ์ของไอลอว์พบว่า เครื่องถ่ายเอกสารหนึ่งตัวและอาสาสมัครที่คอยตอบคำถามหนึ่งจุดจะให้บริการได้ประมาณ นาทีละหนึ่งรายชื่อ หากคาดหมายจะได้รายชื่อมากกว่า 60 รายชื่อต่อชั่วโมง ต้องเตรียมอุปกรณ์และอาสาสมัครให้พร้อม

 

คำแนะนำในการเข้าชื่อที่ถูกต้องสมบูรณ์

  1. การลงชื่อจะใช้ลายเซ็น หรือเขียนตัวบรรจงก็ได้ แต่ต้องเหมือนกันทั้งบนเอกสารหมายเลข ๗ และสำเนาบัตรประชาชน **สำคัญที่สุด**
  2. การถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ในเอกสารสำเนาบัตรต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง จะใช้ลายเซ็น หรือเขียนตัวบรรจงก็ได้ แต่ต้องเหมือนกันทั้งบนเอกสารหมายเลข ๗ และสำเนาบัตรประชาชน **สำคัญที่สุด** จำเป็นต้องตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนเสมอ
  3. สำเนาบัตรประชาชนถ่ายเพียงหน้าแรกหน้าเดียวก็ได้ บัตรประชาชนที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้ หากไม่มีบัตรประชาชนสามารถใช้เอกสารอื่นที่ราชการออกให้ ที่มีเลขประจำตัว 13 หลักและรูปถ่าย เช่น ใบขับขี่ บัตรข้าราชการ พาสปอร์ต บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แทนก็ได้
  4. การลงลายมือชื่อในเอกสารหมายเลข ๗ และในสำเนาบัตรประชาชน ต้องลงลายมือชื่อเองที่แท้จริง จะให้คนอื่นลงชื่อแทนไม่ได้ และจะใช้วิธีสแกนเอกสารส่งทางออนไลน์ หรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใดๆ ไม่ได้
  5. การขีดคร่อมในสำเนาบัตรประชาชน มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้มีคนแอบอ้างเอาสำเนาบัตรไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ให้ขีดคร่อมทับส่วนที่เป็นข้อความของบัตร ไม่ใช่ขีดคร่อมเฉพาะบนพื้นที่ว่าง และจะเขียนข้อความใดก็ได้ให้เข้าใจว่า ใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ เช่น
    “ใช้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น”
    “ใช้เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข” 

    หรืออาจจะเขียนเต็มๆ ได้ว่า
    “เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….(นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) เท่านั้น”

  6. ในส่วนชื่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่เขียนว่า “(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….” ไม่ต้องกรอกข้อความใด

  7. ในส่วนบนของเอกสารหมายเลข ๗ ที่เขียนว่า “เขียนที่ …” นั้นให้กรอกที่อยู่หรือสถานที่ที่กรอกแบบฟอร์มนี้ซึ่งเป็นที่ใดก็ได้ตามความเป็นจริง จะเขียนย่อๆ เพื่อให้พอดีกับเนื้อที่ที่มีก็ได้

ถ้าหากในเอกสารฉบับใดมีข้อความที่เขียนผิด จะใช้ลิควิดลบ หรือขีดฆ่าแล้วเซ็นกำกับโดยเจ้าของรายชื่อนั้นๆ ก็ได้ หรือถ้าหากสะดวกและมีเวลาเพียงพอขอแนะนำให้กรอกใหม่และทำให้สมบูรณ์ถูกต้องจะดีที่สุด

*สำคัญ* อย่าจัดกิจกรรมโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม เช่น ถ้ามาเข้าชื่อจะลดราคาสินค้าเป็นพิเศษ​หรือจะแถมขนมฟรี น้ำฟรี เพราะถือเป็นการให้ประโยชน์ทางทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้คนเข้าซื้อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ทำนองเดียวกับซื้อเสียงเลือกตั้ง

 

การประสานงานและนำส่งเอกสาร

หากรวบรวมเอกสารได้จำนวนหนึ่ง ให้ส่งไปรษณีย์มาที่ ตู้ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 

เนื่องจากที่อยู่ปลายทางเป็นบริการรับจดหมายและพัสดุของไปรษณีย์ไทย จึงแนะนำให้ใช้บริการส่งของบริษัทไปรษณีย์ไทย มากกว่าผู้ให้บริการเอกชนรายอื่น จากการทำกิจกรรมเข้าชื่อมาในยุค คสช. ยังไม่พบการขัดขวางการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือการตกหล่นหายของรายชื่อระหว่างทาง

ภายในต้นเดือนกันยายน 2563 หากการรวบรวมรายชื่อยังไม่เสร็จสิ้น ขอให้ส่งเอกสารเท่าที่มีมาก่อน เพื่อนับรวมกันและประเมินร่วมกันว่า กิจกรรมนี้จะสามารถรวบรวมรายชื่อได้มากหรือน้อยเพียงใด ภายในเวลาเท่าใด

หากรายชื่อมีจำนวนมากสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไอลอว์ให้ไปรับเอกสาร หรือเดินทางเอาเอกสารมาส่งให้ด้วยตัวเองก็ได้ สำนักงานของไอลอว์ตั้งอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 34 ขอให้ติดต่อประสานงานก่อนเดินทางมา เพราะยังมีกำหนดการไปตั้งโต๊ะเข้าชื่ออีกหลายแห่ง จะมีหลายวันที่ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ที่สำนักงานเลย

 

อื่นๆ

หากพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะว่า ยินดีเป็นจุดรับลงชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ของไอลอว์คนใดก็ได้ ในช่องทางใดก็ได้อย่างชัดแจ้งเพื่อการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ **สำคัญ**

หากต้องการเอกสาร สื่อรณรงค์ หรือการสนับสนุน ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]. หรือทางเฟซบุ๊กเพจ iLaw หรือทวิตเตอร์ @iLawclub

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์