24 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณา “กฎหมายปฏิรูป” อย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง (หลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี)
โดยสาระสำคัญ คือ การแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี โดยกำหนดให้มีผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ตกลงหรือยอมความกัน และให้ศาลเข้ามาตรวจสอบข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมว่าเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณี หลักแห่งความสุจริต เป็นธรรม และฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่คู่กรณีจะลงลายมือชื่อในข้อตกลง
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คู่สัญญาที่ประสงค์จะให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมอาจร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้ แต่ให้ศาลมีดุลพินิจว่า มีความจำเป็นที่ศาลสมควรจะมีคำพิพากษาตามยอมในเวลานั้นหรือไม่
ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ)
โดยสาระสำคัญ คือ ขยายอำนาจของสำนักนายกรัฐมนตรีในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินให้เป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ให้โอนอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ รวมถึงกำลังพลของกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการจัดการที่ดินไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
และให้โอนอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ รวมถึงกำลังพลของกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการจัดที่ดินไปเป็นของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
โดยสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้การเสนอกฎหมายต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เช่น ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นตาม ‘มาตรา 77’ ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ ถ้าหากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีระบบเทคโนโลยีที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ระบุว่า ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ดังนั้น การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจึงต้องเสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสองสภา
กล่าวคือ การพิจารณากฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป จะต้องให้ ส.ส. และ ส.ว. พิจารณาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ ‘รัฐบาล คสช.’ มีความได้เปรียบในการผ่านกฎหมาย เพราะตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากสรรหาและคัดเลือกโดยคนของ คสช.
อย่างไรก็ดี ตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา หน้าที่ 39 ภาคผนวกที่ 1 ได้บรรจุกฎหมายไว้ โดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่คณะรัฐมนตรีจะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีอย่างน้อย 16 ฉบับ ได้แก่
- กฎหมายว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- กฎหมายว่าด้วยโทษปรับตามความสามารถในการชำระของผู้กระทำผิด
- กฎหมายว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมภาคประชาชน
- กฎหมายว่าด้วยระบบนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินตกค้างที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐและเอกชน
- กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลพาณิชย์หรือแผนกคดีพาณิชย์และวิธีพิจารณาคดีพาณิชย์
- กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
- กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
- กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- กฎหมายว่าด้วยยุติธรรมชุมชน
- กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
- กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบราชการ
- กฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกและการลดดุลยพินิจของราชการในการให้บริการประชาชนและการประกอบธุรกิจ
- กฎหมายว่าด้วยการประมงแห่งชาติ
- กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ทะเลไทย
- กฎหมายอื่น ๆ ที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่ามีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 16 ฉบับมีลักษณะเป็น ‘หัวข้อ’ ของกฎหมายมากกว่าตัวกฎหมาย อีกทั้งยังไม่มีการนำร่างดังกล่าวมาประกอบทำให้ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่า ในยุค คสช. 2 จะมีการผลักดันกฎหมายผ่านสภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเองทั้งหมดกี่ฉบับ