แก้ปัญหาการทำงานที่บกพร่องของ กกต. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

18 กรกฎาคม 2563 กลุ่ม New Consensus Thailand ได้จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “กกต. ไทย อย่างไรต่อดี” ณ ห้องวิวัฒนไชย อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ โดยมีวิทยากรสี่คน ได้แก่ สมชัย ศรีสุทธิยากร, พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยในวงเสวนาได้กล่าวถึงสภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของ กกต. อำนาจนิยมที่แอบแฝงอยู่ในโครงสร้าง การทำงานของ กกต. ที่ขาดมาตรฐานชัดเจน และหนทางแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

Seminar : Election Commission of Thailand

แนวคิดเริ่มต้นของ กกต. องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตเลือกตั้ง

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายถึงแนวคิดการมีองค์กรภายนอกเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง หากยึดตามหลักการประชาธิปไตย ในทางปฏิบัติฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีส่วนที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ส่งผลต่อปัญหาการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ จึงได้มีการพัฒนาไปสู่แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย และมีแนวทางให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลการทุจริต เช่น กกต.

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสริมว่า ก่อนปี 2540 การจัดการเลือกตั้งของประเทศไทยยังต้องอาศัยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่งผลในทางปฏิบัติว่า รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในตอนนั้นอาจใช้อำนาจในทางมิชอบเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งได้ และขาดความเป็นกลาง อีกทั้งยังมีปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นจำนวนมาก จึงได้มีแนวคิดก่อตั้งองค์กรกลางที่ปลอดการแทรกแซงจากอำนาจรัฐเพื่อมาดูแลการเลือกตั้งโดยเฉพาะ

ขาดความเป็นมืออาชีพ สองมาตรฐาน ละเลยการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง

พิชายวิจารณ์ว่า การทำงานของ กกต. ในปัจจุบันไม่สามารถบรรลุพันธกิจและหน้าที่ได้ ไม่สามารถส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตย แต่ไปมุ่งเน้นการจัดการเลือกตั้งให้สงบเรียบร้อย ซึ่งแทบไม่แตกต่างจากการจัดการเลือกตั้งในอดีตที่รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย และไม่สามารถสร้างธรรมาภิบาลในการจัดการเลือกตั้งได้ ล้มเหลวในการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประธานคณะก้าวหน้า ได้แสดงความคิดเห็นว่า โครงสร้างของ กกต. ยังขาดความยึดโยงกับประชาชน และเสริมถึงข้อบกพร่องในการทำงานของ กกต. การนับคะแนนการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 จังหวัดนครปฐม เขต 1 โดยได้เรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ ผลที่ปรากฏคือ ภายหลังการนับใหม่ ตัวเลขจำนวนบัตรและการนับคะแนนเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปยังล่าช้า ใช้เวลาถึง 45 วัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ได้แจกแจงถึงปัญหาการทำงานของ กกต. แยกพิจารณาเป็นรายกรณีได้ดังนี้

หนึ่ง ปัญหาบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ ที่มาช้าจนไม่ถูกนับรวมด้วย

สอง วิธีการนับคะแนนการเลือกตั้งที่ไม่ชัดเจน

สาม การตรวจสอบพรรคการเมืองโดยมีสองมาตรฐาน ในกรณียื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดีกู้เงิน เมื่อตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วพบว่า มีอีก 16 พรรคที่มีการกู้เงิน และมีอีก 16 พรรคที่มีเงินยืม สมชัยได้เรียกร้องต่อ กกต. ว่า “ท่านต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับพรรคการเมืองอื่น” และย้ำว่า “โควิดหมดเมื่อไหร่ ผมให้เวลาอีกเดือนหนึ่ง ท่านต้องทำให้เสร็จ ถ้าทำไม่เสร็จ ผมคงต้องร้องเรียนว่าประพฤติปฏิบัติหน้าที่มิชอบ”

สี่ ละเลยการตรวจสอบทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง สวมสิทธิการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่มีหลักฐานอย่างชัดเจน แต่ กกต. กลับไม่จัดการต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า กกต. ยังขาดความเป็นมืออาชีพ ทั้งกรณีตั้งหลักสูตรพิเศษที่ให้องค์กรอิสระ เช่น กกต. หรือศาล ไปสนทนากับนักการเมือง ซึ่งส่งผลต่อความเป็นกลาง และเจ้าหน้าที่ กกต. ไม่ได้ถูกฝึกมาเหมือนพนักงานสอบสวน ส่งผลให้ยังขาดทักษะในการสอบสวนพยาน

การออกแบบเชิงสถาบันที่ผิดพลาด ระบบราชการที่แทรกซึม

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต มองว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการวางกรอบคิดเชิงสถาบันของ กกต. และองค์กรอิสระที่ผิดพลาด เนื่องจากการวางโครงสร้าง กกต. ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ให้ต้องผ่านงานข้าราชการมาก่อน ทำให้ได้ผู้ที่ “ถูกหล่อหลอมโดยอำนาจนิยมในระบบข้าราชการ” มาทำงานในองค์กรอิสระ ทำให้แนวคิดแบบราชการติดอยู่ในองค์กรอิสระ ทั้งอำนาจนิยม การทำงานเชิงรับ กลไกตรวจสอบที่ซับซ้อน เข้าถึงยาก ภาคประชาชนที่เป็นอิสระมีโอกาสที่จะเข้าร่วมการทำงานกับ กกต. น้อยลง

สมชัยได้เสริมถึงปัญหาการทำงานแบบราชการของ กกต. ที่หลีกเลี่ยงการรับผิดชอบ มีการออกระเบียบคุ้มครองพยาน และระเบียบที่กำหนดเรื่องสินบนนำจับ โดยมีรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท ทว่า กกต. กลับไม่เน้นการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน

และเขายังได้วิจารณ์ว่าเกณฑ์คุณสมบัติของ กกต. ที่มีชัย ฤชุพันธ์ุ ร่างขึ้นมานั้นเป็นเกณฑ์คัดสรร “มหาเทพ” เช่น ต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เป็นศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ส่งผลให้แม้จะได้ผู้ที่มีคุณสมบัติ แต่กลับไม่มีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานของ กกต. อีกทั้งเกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการสรรหา ก็กำหนดไว้สูงเช่นเดียวกัน จนส่งผลให้ตัวกรรมการสรรหาเองก็อาจไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการคัดสรรผู้ที่จะมาเป็น กกต.

รื้อโครงสร้าง กกต. ไทย ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

สมชัยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา กกต. ออกเป็นสองระยะ ในระยะสั้น ประชาชนต้องตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ กกต. ทำงานในทางที่เหมาะสม จากปรากฏการณ์เลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง การสังเกตการณ์ การตรวจสอบการทุจริต และแสดงความคิดเห็นของประชาชนแ ก็ส่งผลต่อการทำงานของ กกต. เพราะในวันนี้ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้ว กกต. ก็ยังไม่กล้าการประกาศผลการเลือกตั้ง

ในระยะยาว สมชัยมองว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอันเป็นกรอบใหญ่ที่กำหนดโครงสร้างของ กกต.

ซึ่งพิชายได้เสริมว่า หากมีการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญ ควรแก้ในเรื่องคุณสมบัติ องค์ประกอบ และกระบวนการสรรหา กกต. โดยในเรื่องคุณสมบัติ ควรขยายให้ประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น มิใช่จำกัดแต่เพียงบุคลากรจากแวดวงราชการหรือวิชาการ ผู้ที่มาเป็นกรรมการสรรหา กกต. ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับ กกต. และพิชายได้เสนอให้ยกเลิก ส.ว. มีสภาพลเมืองซึ่งไม่มีอำนาจนิติบัญญัติ ไม่ต้องกลั่นกรองกฎหมาย มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. และรับรององค์กรอิสระรวมไปถึง กกต.

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แสดงความเห็นว่า กกต. ควรจะเผยแพร่คำวินิจฉัยสู่สาธารณะเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนวิจารณ์ได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เชิญชวนให้ประชาชนและภาคประชาชนร่วมกันตรวจสอบเลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการ เขต 5 ในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 และเมื่อมีผู้ออกมาเปิดโปงทุจริต ต้องปกป้องผู้นั้นเพื่อให้บรรยากาศการตรวจสอบทุจริตยังดำเนินต่อไปได้

ธนาธรมองว่า สภาวะวิปลาสที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สัมพันธ์กับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่อาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญ กำหนดกลไกต่างๆ ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ การให้อำนาจแก่ ส.ว. เขากล่าวย้ำว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนขึ้นมาเพื่อให้พวกเขาครองอำนาจได้ โดยที่ประชาชนอย่างพวกเราไม่มีสิทธิไม่มีเสียง” และหากยังติดอยู่ในสภาวะแบบบนี้ ประเทศจะเดินหน้าไม่ได้

และธนาธรยังได้เสนอกรอบคร่าวๆ ของฉันทามติ เพื่อพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ดังนี้

ข้อหนึ่ง สังคมไทยต้องเป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน

ข้อสอง สังคมไทยต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชฐานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

ข้อสาม มีระบบรัฐสภาที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ

ข้อสี่ มีนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจที่ดี ประชาชนทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่