“บำนาญแห่งชาติ” ความหวังชาตินี้ หรือชาติไหน?

โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับครัวเรือน มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดงาน หรือถูกเลิกจ้าง และนำไปสู่การขาดรายได้และขาดปัจจัยในการดำรงชีวิต ในขณะที่มาตรการการช่วยเหลือจากรัฐก็ยังไม่ทั่วถึงและมีข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ หรือการจัดสวัสดิการช่วยเหลือประชาชนอย่างถ้วนหน้าจึงกลายเป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจ ในฐานะเครื่องมือพยุงชีวิตผู้คนไม่ให้ร่วงหล่นในยามที่เกิดวิกฤติระดับชาติ

ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด 19 เครือข่ายภาคประชาชนในนาม “เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ” ได้พยายามผลักดันร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ” ซึ่งหลักใหญ่ใจความก็คือ การให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญอย่างเสมอภาคกัน โดยวางกรอบวงเงินไว้ที่ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเทียบเท่า ‘เส้นความยากจน’ หรือรายได้ขั้นต่ำที่ใช้ชี้วัดว่าใครเป็นคนยากจน โดยหวังให้เป็นรัฐสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม

แต่ทว่าหลังภาคประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวบรวมรายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน เพื่อเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าวสู่สภา ผลปรากฏว่า กฎหมายยังติดขัดอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตาม พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย กำหนดให้กฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จะต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองก่อนจึงจะผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของสภา จนสุดท้ายกลายเป็นกฎหมายถูกผูกมัดไว้กับการตัดสินใจของนายกฯ อย่างไม่มีกำหนด และนำไปสู่การเคลื่อนไหวกดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

Where is Pension?

ถึงเวลา! เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า 

ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่มีเพียง 25 มาตรา โดยสาระสำคัญคือ การยกระดับรายได้ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ให้ได้รับสิทธิบำนาญแห่งชาติอย่างเสมอภาคกัน พร้อมทั้งให้มีกลไกกำกับอย่าง “คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ” คอยกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และสังคม และมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายบำนาญแห่งชาติ รวมถึงเป็นคนกำหนดวิธีการจ่ายบำนาญแห่งชาติให้สะดวกสบายและครอบคลุมประชาชนทุกคน

‘อภิวัฒน์ กวางแก้ว’ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทยและสมาชิกกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องของทุกช่วงวัย มันคือการสร้างหลักประกันรายได้เป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) จัดทำไว้ เพราะรัฐไทยช่วยเหลือผู้สูงอายุแค่การจ่ายเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท

“ปกติมีรายได้ประมาณเก้าพันหมื่นหนึ่ง คำถามคือหกสิบปีแล้วจะอยู่ยังไง เพราะว่าหกสิบปี รัฐให้เงินแค่วันละยี่สิบบาทมันไม่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้เลย หกสิบปีวันข้างหน้าจีดีพีโตเท่าไหร่ก็ไม่รู้แต่เราให้กันแค่ห้าหกร้อย แล้วเราอยู่กับหกร้อยนี้มานานมากแล้ว นานมากแล้วไม่มีใครสนใจเลยว่าคุณภาพของผู้สูงอายุประมาณสิบกว่าล้านคนจะอยู่ยังไง” อภิวัฒน์กล่าว

“เราอยากเห็นทุกคนไม่ตกจากเส้นความยากจน เพราะฉะนั้นถ้าใครตกอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนอันนี้ก็ให้มันมาเท่ากัน อันนี้ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กฎหมายได้บอกเอาไว้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ที่สร้างสิทธิขั้นพื้นฐานตอนเราอายุ 60 ปีและไม่ต้องมากังวลเลยว่าเราจะอยู่ยังไง 60 ปีก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” อภิวัฒน์กล่าว

หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และหนึ่งในผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “เราไม่ได้ไปขัดขวางที่ท่านไปบอกให้คนออม แต่มันเหมาะกับวัยคนที่กำลังเริ่มทำงาน ให้เขาเริ่มเก็บออมอะไรไอ้นั่นเราไม่ขัดขวางก็จัดการไป แต่ในส่วนของตรงนี้ก็น่าจะเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ เขาก็เป็นส่วนหนึ่ง มันก็เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อดีตเขาทำงานเขาก็เป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนกัน ตอนนี้อายุหกสิบก็เป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องดูแลให้มันเพียงพอที่จะให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน”

เมื่อเสียงประชานับหมื่นถูกหยุดด้วยนายกฯ เพียงคนเดียว

ตาม พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2556 มาตรา 11 กำหนดให้ ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชน หากเป็นร่างที่เกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้คำรับรองก่อน ด้วยเหตุนี้ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่มีผู้ลงลายมือชื่อสนับสนุนถึง 14,654 รายชื่อ ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้เสียที

‘อภิวัฒน์ กวางแก้ว’ หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวถึงกระบวนการดังกล่าวด้วยว่า “การรับรอง พ.ร.บ. ของประชาชนมีความหมายมากกับสภาผู้แทนราษฎรที่จะดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเอากฎหมายประกบกฎหมายอะไรก็ว่ากันไปตามสภาผู้แทนราษฎร แต่วันนี้เราเองก็อยากเห็นจุดยืนว่านายกฯ จะเอายังไงกับเรื่องนี้”

“ตอนนี้อยู่ที่ตัวนายกฯ เลยว่าจะเอาแบบไหนยังไงกับเรื่องนี้ เพราะว่าการที่นายกฯ นิ่งแบบนี้ มันก็ไม่รู้จะยังไง มันเป็นคอขวดใหญ่ เพราะฉะนั้นนายกฯ รับรองก็จบไป แล้วนายกฯ ก็ยื่นให้สภา แล้วสภาก็ทำหน้าที่ เพราะเรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแล้วเพราะฉะนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ทำหน้าที่นั้นต่อไป จะมีกรรมาธิการอะไรก็ว่ากันไป อันนั้นเป็นเรื่องที่สภาที่ตัวแทนของประชาชนได้ทำหน้าที่”

“วันนี้พวกเราเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ อยากถามนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อไหร่จะรับรองซักที วันนี้รับรองได้แล้วหรือยัง พรุ่งนี้ประชุม ครม.รับรองเลยได้ไหม เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะหยุดส่งต่อความยากจนให้ลูกหลาน หยุดส่งต่อความยากลำบาก มันจะทำให้ทุกคนพ้นจากเส้นความยากจน พ้นจากความยากลำบากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยกัน ประเทศเราทำได้ ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เรื่องการบริหารจัดการ” อภิวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย 

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา