#สมรสเท่าเทียม: สำรวจหลักกฎหมายและร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส

2 กรกฎาคม 2563 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างแก้ไข ป.พ.พ.) ที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายดังกล่าวบนเว็บไซต์

ข้อเสนอในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการเขียนกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น แต่เป็นการร่างเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) โดยเฉพาะบรรพ 5 ครอบครัว ที่ใช้กันมาแล้วตั้งแต่ ปี 2519 โดยมุ่งเน้นแก้กฎหมายเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ การสมรส เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวแก่บุคคลทุกเพศ โดยไม่นำเหตุแห่งเพศสภาพหรือเพศวิถีมาเป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียนสมรสเหมือนกฎหมายปัจจุบันที่ยังจำกัดว่า การสมรสจะทำได้เฉพาะกรณีทั้งสองฝ่ายเป็น ‘ชายและหญิง’

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของการเสนอแก้ไข ป.พ.พ.ว่า ข้อเสนอนี้ทำเพื่อโอบรับความหลากหลายทางเพศภายใต้ฐานคิด ‘คนเท่าเทียมกัน’ โดยไม่ได้มุ่งรับรองสิทธิเฉพาะคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อรองรับสิทธิของ ‘ทุกคน’ ให้สอดคล้องต่อความลื่นไหลทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของสังคม หัวใจสำคัญของการแก้ไขกฎหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการหมั้นและการสมรสจากคำว่า ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น’ และ ‘บุคคลสองฝ่าย’ และเปลี่ยน ‘สามีภริยา’ เป็น ‘คู่สมรส’ เพื่อรับรองสิทธิต่างๆ เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย 

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องการความเห็นของประชาชน การผลักดันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเข้าใจหลักกฎหมายและส่งเสียงของทุกคนออกไป จึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจหลักกฎหมาย ป.พ.พ.ว่าด้วยการสมรสที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันว่า มีเนื้อหาอย่างไร และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน เพื่อที่จะได้ส่งเสียงออกไปด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง

การหมั้นยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ไม่จำกัดให้ของหมั้นและสินสอด ต้องเป็นหน้าที่ฝ่าย “ชาย”

การหมั้น คือการ ‘ทำสัญญาว่าจะสมรสตามกฎหมาย’ ต่อไปในวันข้างหน้า ป.พ.พ. ได้วางหลักให้การหมั้นจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีที่ยังอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ส่วนร่างแก้ไข ป.พ.พ. ยึดหลักการเดิม แต่ปรับเปลี่ยนให้ “บุคคลทั้งสองฝ่าย” สามารถทำการหมั้นได้โดยไม่จำกัดเพศ และยังปรับเปลี่ยนถ้อยคำในบทบัญญัติอื่นๆ ที่ใช้คำว่า “ชายหญิง’ ให้เป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น”

การหมั้นจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีการมอบ “ของหมั้น สำหรับเป็นหลักฐาน ป.พ.พ. เดิมกำหนดให้ฝ่ายชาย ซึ่งหมายถึงตัวชายคู่หมั้นรวมไปถึงบิดามารดาของชายคู่หมั้น ต้องมอบของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นนั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง สำหรับร่างแก้ไข ป.พ.พ.กำหนดให้ ฝ่าย ‘ผู้หมั้น’ ซึ่งหมายถึงตัวผู้หมั้นเองไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม รวมไปถึงบิดามารดาของผู้หมั้น ส่งมอบของหมั้นแก่ ‘ผู้รับหมั้น’ ของหมั้นตกเป็นของผู้รับหมั้น โดยเหตุที่ไม่ได้มีถ้อยคำที่จำกัดเพศ ย่อมหมายความว่าคู่หมั้นมีสิทธิที่จะเลือกรับของหมั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ เพื่อให้เกิดการหมั้นตามกฎหมาย หรือหากไม่อยากเป็นฝ่ายรับของหมั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อยากแลกเปลี่ยนของหมั้นกัน ก็สามารถทำได้ 

ในกรณีของสินสอด ป.พ.พ.เดิมกำหนดให้ฝ่ายชายมอบสินสอดแก่บิดามารดา เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสด้วย ส่วนในร่างแก้ไข ป.พ.พ.กำหนดให้ผู้หมั้นส่งมอบสินสอดแก่บิดามารดาของผู้รับหมั้นเพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส ทั้งนี้คู่หมั้นทั้งสองฝ่ายก็สามารถมอบสินสอดให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครองของอีกฝ่ายได้เช่นเดียวกันกับกรณีของหมั้น

ณัฐวุฒิ บัวประทุม มองว่า การที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ฝ่ายชายเป็นผู้มอบของหมั้นและสินสอดอาจส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมในบ้านจนลามไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวได้ เนื่องจากชายอาจรู้สึกว่า ตนมีอำนาจเหนือกว่าหญิงเพราะเป็นผู้ให้ทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิงและครอบครัว จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรื้อชุดความคิดนี้ออก

สมรสเท่าเทียม ปรับอายุขั้นต่ำจาก 17 เป็น 18 ปี

ป.พ.พ.กำหนดให้ชายและหญิงจะทำการสมรสได้เมื่อมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ส่วนร่างแก้ไข ป.พ.พ.ได้กำหนดให้ ‘บุคคลทั้งสองฝ่าย’ สามารถทำการสมรสได้ ไม่มีข้อจำกัดในด้านเพศ และปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ก็ยังยึดหลักการเดิมที่หากมีเหตุจำเป็น ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสโดยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ป.พ.พ. ยังกำหนด ‘ข้อห้าม’ ที่ไม่อาจทำได้ในการสมรส ซึ่งร่างแก้ไข ป.พ.พ.ก็ยังคงยึดหลักการเดิมอยู่ คือ

หนึ่ง จะสมรสระหว่างที่มีคู่สมรสอยู่แล้วไม่ได้ หรือการห้ามสมรสซ้อน

สอง จะสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถไม่ได้

สาม จะสมรสระหว่างญาติสืบสายโลหิตขึ้นไปหรือลงมา พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันไม่ได้ โดยพิจารณาความเป็นญาติในทางข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ

ทรัพย์สินระหว่าง ‘คู่สมรส’ ยังเหมือนเดิม รับมรดกของคู่รักได้

ในร่างแก้ไข ป.พ.พ.กำหนดให้มีการแก้ไขชื่อหมวด 3 และหมวด 4 จาก ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา และทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส และทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส

สำหรับหลักการแบ่งปันทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ร่างแก้ไข ป.พ.พ. ยังคงยึดหลักการเดิมตาม ป.พ.พ. กำหนดให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่ว่าเพศใดต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ดังนั้นคู่สมรสจะแกล้งจดทะเบียนสมรสกันเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์อื่นตามกฎหมายแต่ไม่ได้มีเจตนาจะอยู่กินกันไม่ได้

ส่วนทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนั้น แบ่งออกได้เป็นสินส่วนตัวและสินสมรส สำหรับสินส่วนตัวนั้นคู่สมรสสามารถใช้สอยได้โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย แต่ในกรณีของสินสมรสนั้น การจัดการสินสมรสที่อาจทำให้เสียประโยชน์ในทรัพย์สินบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เช่น การขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น

ในส่วนของการรับมรดก เนื่องจาก ป.พ.พ.ยังรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเฉพาะชายและหญิง ทำให้ที่ผ่านมาผู้ที่ไม่ใช่ชายและหญิงตามนิยามของกฎหมาย แม้จะอยู่กินกันฉันคู่สมรสก็ไม่อาจได้รับมรดกของอีกฝ่ายได้ หากคู่รักของตนเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินไว้ให้ แต่ร่างแก้ไข ป.พ.พ.ไม่ได้จำกัดกรอบเพศไว้ ดังนั้นคู่สมรสไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก็ตาม

รับบุตรบุญธรรมได้ ครอบครัวสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดบทบาทใต้กรอบเพศ

ใน ป.พ.พ.ได้รับรองสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมสำหรับคู่สมรสชายหญิงไว้อยู่แล้ว ส่วนในร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.พ.พ.นั้น ได้กำหนดบทบัญญัติมาตรา 1598/42 เพิ่มเข้ามา ให้คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้มีความสัมพันธ์ สิทธิ หน้าที่ต่อบุตรบุญธรรมเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรตามที่ ป.พ.พ.ได้รับรอง

สำหรับการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์หรือการอุ้มบุญนั้น ได้มีกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ ซึ่งยังจำกัดให้คู่สามีภริยาที่ภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้เท่านั้นที่จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ หมายความว่า แม้ในกรณีของคู่สมรสชายหญิงก็ไม่ใช่ทุกคู่ที่จะมีลูกโดยการอุ้มบุญได้ หากฝ่ายหญิงมีสุขภาพแข็งแรงสามารถตั้งครรภ์ได้ ก็ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีการอุ้มบุญได้ 

ในประเด็นการอุ้มบุญ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ได้แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไข ป.พ.พ.จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อุ้มบุญต่อไป เพื่อตอบสนองต่อ ‘ความเป็นครอบครัว’ ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่ในกรอบทางเพศ เพราะบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็สามารถเป็นบุพการีและเป็นแบบอย่าง (Role Model) ให้แก่บุตรของเขาได้ 

สิทธิที่คู่สมรสทุกเพศจะได้หากแก้ไข ป.พ.พ.สำเร็จ 

การแก้ไข ป.พ.พ.จะทำให้คู่สมรสทุกเพศมีโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐที่เป็นของ ‘คู่สมรส’ ได้ เช่น การรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และในบางกรณีแม้กฎหมายใช้ถ้อยคำจำกัดเฉพาะ ‘สามี-ภริยา’ คู่สมรสที่รับบุตรบุญธรรมก็ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์นั้นได้ เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษีบุตรบุญธรรมตามประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของรัฐซึ่งใช้คำว่า ‘สามี-ภริยา’ ณัฐวุฒิ บัวประทุม แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไข ป.พ.พ.จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ต้องไปปรับแก้ถ้อยคำในกฎหมายอื่นๆ ด้วยในภายหลัง เพื่อรับรองสิทธิในการเข้าถึงสิทธิประโยชย์และสวัสดิการของรัฐแก่คู่สมรสทุกเพศอย่างเท่าเทียม

คลิก เพื่ออ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

คลิก เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา