รับเงินบริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเข้าข่ายผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน”

จากดราม่าใหญ่ เรื่องการเรี่ยไรเงินบริจาคช่วยเหลือปัญหาไฟป่าของอินฟลูเอนเซอร์คนดัง ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะนำเงินดังกล่าวไปใช้ผลิตสื่อและโปรโมทผลงานของตัวเองในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 343 วรรคหนึ่ง

โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

จากบทบัญญัติดังกล่าว พบว่า การนำเงินบริจาคไปใช้ผิดวัถตุประสงค์ จะเข้าข่ายเป็นความผิดต่อเมื่อกระทำการครบตามองค์ประกอบ ดังนี้

  1. ผู้นั้นมีเจตนา “ทุจริตหรือหลอกลวง”
  2. ผู้นั้น “แสดงข้อความอันเป็นเท็จ” หรือ “ปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ”
  3. ผู้นั้นกระทำไปเพื่อ “ให้ได้ไปซื่งทรัพย์สิน” จากบุคคลที่หลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

ทั้งนี้ หากกระทำครบตามองค์ประกอบข้างต้นและการกระทำต่อประชาชน ผู้นั้นจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งบัญญัติว่า

     “ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
     (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”

จากบทบัญญัติดังกล่าวพบว่า องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายคือ

  1. ผู้นั้นเจตนา “ทุจริต” หรือ “หลอกลวง”
  2. นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน” หรือ “ปลอม” ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ”
  3. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
  4. อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

จากบทบัญญัติข้างต้น จะเห็นว่ามีองค์ประกอบความผิดความใกล้เคียงกับความผิดฐานฉ้อโกง แต่ทว่าข้อความที่บัญบัติว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน ปลอม หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” โดยนัยความหมายมีความแตกต่างกับ “แสดงข้อความอันเป็นเท็จ”

โดยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ อาทิ การใช้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกปลอมแปลงในทางเทคนิค หรือการปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า Phishing

ความผิดดังกล่าวอ้างอิงจาก Convention on Cybercrime ซึ่งเป็นแม่แบบในการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุเรื่อง ความผิดที่เกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมว่าหมายถึง การนำเข้าสู่ (input) เปลี่ยนแปลง (alternation) ลบ (deletion) หรือยับยั้ง (suppression หมายถึง การสกัดกั้นไว้ หรือ การปกปิดข้อมูล) ไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมิชอบ เป็นผลให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่เป็นของจริงแท้ (not authentic) โดยมีเจตนาทำให้ข้อมูลนั้นถูกมองว่าเป็นข้อมูลจริงแท้ (authentic) เป็นความผิด

ในประเด็นนี้ ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “ปลอม” (forgery) หมายถึง สิ่งนั้นไม่มี “ความจริงแท้” (authenticity) หรือ เอาสิ่งของเทียมมาทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นของแท้ คือ พิจารณาความจริงแท้ของ “สิ่ง” หรือ “วัตถุ” นั้นเป็นสำคัญ โดยการทำปลอมนั้นอาจเกิดขึ้นจากการทำขึ้นโดยมิชอบหรือไม่มีอำนาจในการทำได้ เช่น ทำเอกสารปลอม ทำหน้าเว็บไซต์ปลอม

ในขณะที่คำว่า “เท็จ” (false) หมายถึง เนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง หรือ ไม่ตรงกับความเป็นจริง (untrue) คือให้พิจารณาจาก “เนื้อหา” ของข้อความหรือคำกล่าวนั้นเป็นสำคัญ ไม่ได้พิจารณาที่ “สิ่ง” หรือ “วัตถุ” เช่น การแจ้งความเท็จ หรือ แสดงข้อความอันเป็นเท็จ

ดังนั้น การกระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีกระทำความผิด มิใช่การเอากระทำความผิดจากการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ จึงไม่สามารถนำมาตรา 14 (1) มาใช้กับกรณีการรับเงินบริจาคแล้วเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย