ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อลมหายใจรัฐบาล

30 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปอีกหนึ่งเดือนหลังใช้ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาสามเดือนเศษ นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์โรคระบาด “โควิด 19” ในประเทศที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศติดต่อกันเป็นเวลา 35 วันแล้ว

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ระยะเวลาฟักตัวของโรค “โควิด 19” อยู่ที่ประมาณ 14 วัน ดังนั้น การที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศติดต่อกันถึง 35 วัน จึงเชื่อได้ว่า ประเทศไทยได้หลุดพ้นจากสถานการณ์ฉุกเฉิน และสามารถควบคุมโรคได้ในระดับที่ดี จึงไม่จำเป็นต้องคงอำนาจฉุกเฉินไว้ เว้นเสียแต่ว่า รัฐบาล “มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง”

อย่างไรก็ดี จากการติดตามการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลมาเป็นเวลากว่าสามเดือน พบว่า รัฐบาลมี ‘ผลพลอยได้’ จากการใช้อำนาจพิเศษโดยอ้างโรคระบาดครั้งนี้ อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “รวบอำนาจ” จากรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลให้เหตุผลในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ข้อหนึ่งว่า เป็นไปเพื่อให้การทำงานของรัฐบาลมีเอกภาพและเสถียรภาพในการบริหารจัดการหรือการสั่งการ เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้เกิดพรรคการเมืองในสภามากที่สุดเป็นครั้งประวัติศาสตร์ และทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอจากความขัดแย้งภายใน

ภายใต้รัฐบาลผสมหลายพรรคที่เก้าอี้รัฐมนตรีต้องถูกจัดสรรตามโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการสั่งการกระทรวงต่างๆ อย่างเด็ดขาด เก้าอี้สำคัญในการควบคุมโรคโควิด 19 ก็เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้การทำงานของรัฐบาลก่อนใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ราบรื่นและอาจจะเกิดความยุ่งเหยิงในการทำงาน เหมือนในช่วงแรกของการระบาดที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำงาน

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้นายกรัฐมนตรี “รวบอำนาจ” การสั่งการจากรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะการออกประกาศเพื่อโอนอำนาจตามกฎหมาย 40 ฉบับ มาเป็นผู้สั่งการเองแทนทั้งหมด จึงทำให้นายกฯ กลับมามีอำนาจเต็มอีกครั้ง แต่นั้นก็เท่ากับให้ผู้นำจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวและเป็นเสียงข้างน้อยผูกขาดอำนาจ ทั้งที่เป็นพรรคซึ่งไม่ได้ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาและประชาชน

สอง ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ปราบม็อบ” คนที่ต่อต้านหรือไม่พอใจรัฐบาล

เจตนาดั้งเดิมของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นไปเพื่อควบคุมโรค แต่ทว่า หลังประกาศใช้มากว่า 3 เดือน พบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้เพื่อ ข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดี กับคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจในนโยบายหรือการทำงานของภาครัฐ หรือ พูดง่ายๆ ว่า ถูกนำมาใช้เพื่อ “ปราบม็อบ”

ที่ผ่านมามีคนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วอย่างน้อย 23 คน จากการแสดงออกในประเด็นที่กระทบต่อรัฐบาล อาทิ การออกหมายเรียกนักศึกษาในนามกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หลังจัดกิจกรรม ‘ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #saveวันเฉลิม’ หลังมีรายงานข่าวเรื่องการอุ้มหายผู้ลี้ภัยชาวไทยในต่างประเทศ

หรือการออกหมายเรียกแก่ตัวแทนณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. จำนวน 4 คน หลังเดินทางไปหน้าสถานทูตกัมพูชา เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา โดยทั้งสี่คนเพียงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ พร้อมให้สัมภาษณ์นักข่าวและรอคนมารับหนังสืออยู่สักระยะก่อนแยกย้ายกันกลับ

นอกจากนี้การจัดกิจกรรมแสดงออกของประชาชนหลายครั้ง ยังถูกตำรวจยกเอาโรคโควิด และข้อห้ามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อพยายามไม่ให้กิจกรรมเกิดขึ้น เช่น การนัดหมายวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เพื่อรำลึก 88 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมทั้งกิจกรรมครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สาม ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ยกเว้นความรับผิด” ของเจ้าหน้าที่

ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการตัดกลไกการตรวจสอบโดยศาลปกครองออกไป โดยในมาตราที่ 16 ระบุว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งมีผลให้การออกประกาศหรือคำสั่งที่อาจกระทบสิทธิของประชาชนไม่สามารถถูกตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งหรือสั่งเพิกถอนได้ โดยศาลปกครอง

อีกทั้งในมาตรา 17 ยังยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ โดยระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น

โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากทางราชการทำได้เพียง “เรียกร้องค่าเสียหาย” ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง แต่ไม่มีบทลงโทษในการรับผิดของเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง