ผ่านไปหนึ่งปีเต็มที่ประชาชนยื่น ร่าง “ปลดอาวุธ คสช.” รัฐบาลเกียร์ว่าง สภายังไม่ได้เริ่มพิจารณา

ตลอดปี 2561- 2562 ไอลอว์และองค์กรภาคประชาสังคม 23 เครือข่าย ร่วมกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า “ปลดอาวุธ คสช.” เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา และได้นำรายชื่อทั้งหมดที่รวบรวมได้ 13,409 รายชื่อ ไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 โดยเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนฉบับแรกที่ยื่นต่อรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

หลังจากนั้นร่างปลดอาวุธ คสช. ก็เดินทางเข้าสู่กระบวนการของทางราชการ ซึ่งใช้เวลาไปมาก อันได้แก่

1. ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย รับไปพิจารณาว่า เป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอได้ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มีสิทธิเสนอได้

2. ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของรายชื่อประชาชน พร้อมเปิดให้ผู้ที่ไม่ได้ลงชื่อจริงมาแสดงเจตนาคัดค้าน ซึ่งตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีรายชื่อที่ผ่านการรับรอง 12,609 รายชื่อ

3. นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับไปพิจารณาว่า เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ซึ่งพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน จึงไม่ต้องผ่านให้นายกรัฐมนตรีรับรอง

4. เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วเป็นเวลา 156 วัน

5. จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วโดยได้ความเห็นจากองค์กรภาครัฐและเอกชน 13 แห่ง

หลังผ่านไปเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ร่างปลดอาวุธ คสช. ก็เดินทางผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนต่อไป คือ การส่งให้สภาผู้แทนบรรจุเรื่องนี้ให้เป็นวาระการประชุม และนำเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดกรอบเวลาว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติภายในเวลาเท่าใด ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ “วิปฯ” ในทางปฏิบัติขั้นตอนนี้จึงเป็นเสมือน “หลุมดำ” ของกระบวนการออกกฎหมายที่ร่างกฎหมายหลายๆ ฉบับมาติดอยู่ขั้นตอนนี้โดยไม่อาจคาดการณ์กำหนดเวลาได้ 

ขณะเดียวกันนอกจากร่างฉบับที่ประชาชนเสนอแล้ว เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ส.ส. พรรคฝ่ายค้านนำโดยปิยบุตร แสงกนกกุล จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้เข้าชื่อกันเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการคล้ายกัน ขอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 17 ฉบับเพื่อพิจารณาประกอบกันกับร่างของภาคประชาชนด้วย 

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมทางปฏิบัติของรัฐสภา เมื่อประชาชน หรือ ส.ส. เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา ทางฝ่ายรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีก็จะเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันในมุมมองที่รัฐบาลต้องการอยากจะเห็นมาเพื่อ “ประกบ” กับร่างกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายอื่นๆ เมื่อร่างจากคณะรัฐมนตรีถูกเสนอและบรรจุวาระการพิจารณาแล้ว ร่างฉบับอื่นๆ ก็จะถูกยกขึ้นมาพิจารณาควบคู่กันไปในเวลาเดียวกัน แต่สำหรับการเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ครั้งนี้ ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวว่า ฝ่ายรัฐบาลจะมีข้อเสนอเพื่อนำมาพิจารณาประกอบกัน

ฝ่ายรัฐบาลจึงอาจอาศัยธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องรอคอยร่างจากคณะรัฐมนตรี ใส่ “เกียร์ว่าง” เป็นช่องทางในการชะลอโอกาสที่ร่างกฎหมายจากประชาชนและจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา

เปิดผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างปลดอาวุธ คสช.

22 มิถุนายน 2563 เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช. ที่ประชาชนเสนอ 

1. รับฟังความเห็นบนเว็บไซต์ ประชาชนเห็นพ้องให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ เป็นเวลา 156 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ทางเว็บไซต์ www.parliament.go.th มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 31 ราย และเป็นผู้ประกอบธุรกิจสื่อออนไลน์ 4 ราย โดยเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. โดยสรุปการให้เหตุผลได้ว่า

คสช. เป็นองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและยึดอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอันเป็นของประชาชนไป ซึ่งเป็นการได้อำนาจมาโดยมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และทำผิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงอันอาจถือได้ว่าเป็นกบฏตามกฎหมายอาญา และควรมีการดำเนินคดีความผิดฐานกบฏ

คำสั่งใดๆ อันเกิดจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม เป็นการละเมิดซึ่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้มีการอ้างว่ามาจากความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่ไม่ได้ผ่านการเลือกของประชาชน จึงทำให้คำสั่งนั้นไร้ความชอบธรรม และส่งผลกระทบที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในสถานการณ์ปัจจุบันประกาศ คำสั่งหลายฉบับได้หมดความจำเป็นแล้วเนื่องจากออกมาเพื่อใช้เฉพาะช่วงเวลาพิเศษเมื่อหมดช่วงเวลานั้นจึงควรต้องยกเลิก

การใช้อำนาจของ คสช. ไม่สามารถอธิบายถึงความโปร่งใสและเป็นธรรมได้ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งอาจมีการใช้ในทางที่ผิด มีลักษณะเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องรัฐบาลควรพัฒนากฎหมายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้ประชาชนมีสิทธิในการปกครอง มีสิทธิในการเลือกผู้นำ มีสิทธิในบริหารประเทศ ไม่ควรใช้ความคิดของตนเองหรือความคิดของผู้นำ โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ประชาชนในปัจจุบันมีความพร้อมด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการศึกษาที่สูงขึ้น ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ

นอกจากยกเลิกประกาศและคำสั่งแล้ว ควรยกเลิกผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมดและควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารซ้ำอีก

2. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เห็นควรให้ยกเลิก เพราะยังไงก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งหนังสือไปสอบถามความคิดเห็นกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสองราย ในประเด็นการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับมา สรุปได้ดังนี้

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ในช่วงเวลาปัจจุบัน การปฏิบัติงานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ การใช้เว็บไซต์ ระงับเผยแพร่เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และจากหมายศาล การยกเลิกประกาศ คสช. ดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานของบริษัท และเห็นด้วยกับร่างปลดอาวุธ คสช.

บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีบทบัญญัติให้อำนาจในการควบคุม ดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยอำนาจตามประกาศรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 จึงสมควรยกเลิก

3. ดีเอสไอ ให้เก็บคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 ไว้คุมการชุมนุมทางการเมือง

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งหนังสือไปสอบถามความคิดเห็นกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในประเด็นการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นคำสั่งพิเศษที่ คสช. เคยออกมาเพื่อให้อำนาจกับดีเอสไอในปฏิบัติการบุกวัดพระธรรมกาย ความเห็นของดีเอสไอสรุปได้ดังนี้

ในช่วงเวลานั้นมีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายไม่บรรลุผล ความสงบสุขโดยส่วนรวมถูกทำลายจึงมีคำสั่งดังกล่าวเพื่อกำหนดมาตรการให้อำนาจในการควบคุมพื้นที่เป็นการชั่วคราวเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต่อมายกเลิกการกำหนดพื้นที่ควบคุมแล้ว คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560 จึงไม่อาจใช้บังคับได้ แต่เมื่อพิจารณาจากระบบกฎหมายยังไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติฉบับใดให้อำนาจกับพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพกับสถานการณ์ที่ไม่อาจใช้บังคับกฎหมายปกติได้ เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่ละเมิดต่อกฎหมาย การก่อเหตุการณ์ภายในประเทศแต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 จึงยังมีความจำเป็นในการคงไว้เพื่อใช้บังคับกรณีปรากฏข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องใช้มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมายให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม

4. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ค้านยกเลิกการเอาที่ดิน สปก. ทำสัมปทานปิโตรเลียม 

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งหนังสือไปสอบถามความคิดเห็นกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในประเด็นการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อนุญาตให้นำที่ดิน สปก. ไปใช้กิจการอื่นนอกเหนือจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้ ความเห็นของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสรุปได้ดังนี้

เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานใช้ที่ดินไปพลางก่อนในระหว่างการขอความยินยอมหรือขออนุญาต ผู้รับสัมปทานจึงเข้าดำเนินการผลิตปิโตรลียม หากมีการยกเลิกคำสั่งฉบับนี้ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาต จะมีผลเป็นการไม่มีกฎหมายให้ผู้รับสัมปทานใช้ที่ดินและต้องหยุดดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในเขตปฏิรูปที่ดิน ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ต้องหยุดดำเนินการผลิตปิโตรเลียม ประเทศสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ประมาณวันละเก้าล้านบาท ส่งผลกระทบด้านแรงงานต่อลูกจ้างที่จะต้องถูกเลิกจ้าง อาจเกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้รับสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ ผู้เป็นเจ้าของ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีหน้าที่ดูแลที่ดินตามกฎหมาย 

ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ที่ถูกสอบถามเรื่องผลกระทบจากการยกเลิกคำสั่งฉบับนี้ ตอบว่า การยกเลิกไม่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

โดยสรุป คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นในแง่ของประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับว่า การยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. บางฉบับซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมจะเป็นการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนว่ารัฐจะต้องไม่กระทำการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ และต้องเป็นกฎหมายการตราขึ้นโดยรัฐสภาซึ่งมีตัวแทนของประชาชน

แต่การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 ในทันทีอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ