ครช. เข้าพบ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันต้องล้างมรดก คสช.

24 มิถุนายน 2563 เวลา 10.30 น. ภาคประชาชนนำโดยกลุ่มคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้จัดกิจกรรม “ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน” ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา (สัปปายะสภาสถาน) เกียกกาย เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าในการแก้รัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) หลังได้ยื่นข้อเสนอไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะประธาน ครช. ยืนยันหลักการว่าจะต้องมีลบล้างมรดก คสช. ไม่ว่าจะเป็นการให้มีนายกฯ คนนอก ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจมหาศาล หรือการสถาปนาอำนาจองค์กรอิสระมากำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องให้มาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ด้าน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ออกมารับหนังสือและรับปากจะผลักดันโดยใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นแบบ และจะเร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

50040027587_729d8f6507_o

รำลึกประวัติศาสตร์ “24 มิถุนาฯ” คืนอำนาจให้ประชาชน

ในวาระ 88 ปี การอภิวัฒน์สยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ครช.จัดกิจกรรมจำลองประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่คณะราษฎรอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง โดยใจความสำคัญหนึ่งของประกาศดังกล่าว คือ การสถาปนาให้ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” พร้อมกับวางหลักการที่คณะราษฎรจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ ได้แก่ การรักษาความเป็นเอกราชทั้ทั้งในทางการเมือง ทางศาล และทางเศรษฐกิจ ประชาชนในชาติต้องมีความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ มีการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ และราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน มีความเป็นอิสระ และได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่

หลังการจัดกิจกรรมจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มีการปราศรัยจากองค์กรเครือข่าย นำโดย พัชณีย์ คำหนัก จากกลุ่มคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องจากสภาพสังคมไทยที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งส่งผลให้อำนาจของประชาชนกลับลดลง มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็เปิดช่องให้รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวางเพื่ออ้างเหตุเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ”  

พัชณีย์กล่าวว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงของการรัฐประหาร เนื่องจากมีการสร้างกลไกในการสืบทอดอำนาจ เช่น การให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง มาเลือกนายกฯ  ซึ่งเป็นการออกแบบกลไกสถาบันทางการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระที่มาจากการเลือกของคนในกลุ่มอำนาจ อาจส่งผลต่อการคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

ครช.ยืนยันล้างมรดก คสช.-สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน

หลังจบการปราศรัย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะประธาน ครช. ได้อ่านแถลงการณ์ “ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน” โดยเนื้อหาระบุว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่บัญญัติให้ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่หลักการประชาธิปไตยดังกล่าวก็ถูกขัดขวางโดยการรัฐประหารเรื่อยมา 

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า มรดกที่คณะราษฎรได้มอบไว้ คือ หลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน สามารถอาศัยเป็นหมุดหมายในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ และที่ผ่านมา ครช. ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญประชาชน ครช. จึงถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เป็นวันครบรอบ 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้เป็นโอกาสในการทวงคืนมรดกคณะราษฎรและทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชนไปพร้อมกัน 

โดยข้อเรียกร้องสำคัญ คือ การแก้ไขหรือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องวางอยู่บนหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทั้งในแง่ของที่มา กระบวนการ และเนื้อหา และให้สภาผู้แทนฯ เร่งยกร่างและเสนอพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา และดำเนินการให้แล้วเสร็จในสมัยการประชุมนี้ เพื่อจะได้มีการจัดทำประชามติปลายปีนี้ตามที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีกลไก เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง รวมถึงจะต้องร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้องค์กรที่ใช้อำนาจต้องมาจากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น

กมธ.ฯ แจง ใช้ รธน.40 เป็นต้นแบบ รธน.ประชาชน

หลังการอ่านแถลงการณ์ ชำนาญ จันทร์เรือง รองประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้ย้ำว่ากำลังศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น มีการแบ่งคณะกรรมาธิการเป็นสองชุด ชุดแรกศึกษา และอีกชุดทำการสำรวจความคิดเห็น ชำนาญได้กล่าวว่า กมธ. ให้ความสำคัญกับทุกข้อเสนอและจะมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์การศึกษา และปิดท้ายว่าไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่ได้เสนอมา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พรรคฝ่ายค้าน ได้แสดงความเห็นด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งต่อไปจึงควรใช้กลไก สสร. โดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นแบบ และได้เน้นย้ำช่วงเวลา 88 ปีประเทศไทยยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนทั้งประเทศต้องสู้กันเพื่อประชาธิปไตยของประชาชน

ด้าน จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้แจงถึงความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยหมุดหมายสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ การแก้รัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือสะท้อนเจตจำนงของประชาชนโดยตรง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญและสามารถลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่