“โอนล่าช้า-โอนไม่จริง-โอนทะลุกรอบ” ข้อวิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ 63

4 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย ที่ให้โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จากหน่วยรับงบประมาณหรือกระทรวงต่างๆ มาตั้งไว้เป็น ‘งบกลาง’ ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มียอดวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 88,452 ล้านบาท

แต่ในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ที่ผ่านมา มีการอภิปรายเพื่อตั้งคำถามต่อการโอนงบดังกล่าวทั้งจากซีกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเน้นสามประเด็นหลัก ได้แก่ หนึ่ง การโอนงบดังกล่าวเป็นการโอนที่ล่าช้า ทั้งที่รัฐบาลมีมติให้เตรียมโอนงบประมาณตั้งแต่เดือนเมษายน สอง การโอนเงินดังกล่าวมีลักษณะโอนไม่จริง เพราะเป็นการลดงบประเภทงบผูกพัน ที่สุดท้ายรัฐบาลต้องจ่ายทดแทนในปีงบประมาณถัดไป และ สาม มีการแก้ไขกรอบสัดส่วนงบประมาณให้จัดสรรเข้างบกลางได้มากขึ้น

ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ 63 ตั้งเป้าโอนเข้างบกลางแปดหมื่นล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด 19 รัฐบาล “คสช.2” ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช. ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหน่วยรับงบประมาณเสนอวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพันเพื่อนำไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 2563 

โดยกรอบในการพิจารณาโอนงบประมาณให้ดูจากงบที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรือรายจ่ายลงทุนที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 เพิ่งเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้โอนเงินงบประมาณคงเหลือจากปีงบประมาณปี 2562 จำนวน 88,452 ล้านบาท ไปตั้งเป็นงบประมาณสำหรับ ‘งบกลาง’ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และห้าอันดับแรกของหน่วยงานที่โอนงบเข้างบกลางมากที่สุด ได้แก่ 1. กระทรวงกลาโหม จำนวน 17,700 ล้านบาท 2. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4,746 ล้านบาท 3. กระทรวงคมนาคม จำนวน 3,427 ล้านบาท 4. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 2,057 ล้านบาท 5. กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,356 ล้านบาท

พรรคร่วมรัฐบาลตั้งข้อสังเกต “โอนช้า-โอนผิดเป้า”

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 วาระแรก (รับหลักการ) ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินนั้นสมควรมีขึ้นแล้วหรือไม่ โดยได้กล่าวถึงความล่าช้าในการจัดทำร่างงบประมาณที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในทุกกระบวนการปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งหมายความว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีอายุการใช้งานเพียงสามเดือนก่อนจะหมดปีงบประมาณในสิ้นเดือนกันยายนนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า งบประมาณที่ถูกโอนเป็นการนำงบลงทุนมาใช้ ซึ่งต่างจากงบสัมมนาหรืองบศึกษาดูงาน เพราะงบลงทุนนี้ในอนาคตจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ซึ่งการตัดงบนี้สวนทางกับเจตนาในการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อลงทุนเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าปล่อยในโครงการลงทุนนั้นดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้โดยไม่มีการหยุดชะงักเนื่องจากการรอเงินกู้จะเป็นการเสียเวลาเป็นผลเสียแก่ประชาชนเอง ทั้งรัฐยังต้องแบกรับภาระเงินกู้เพิ่มโดยไม่มีเหตุจำเป็นอีกด้วย

ฝ่ายค้านชี้ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ “โอนไม่จริง-โอนทะลุกรอบ”

ในด้านพรรคฝ่ายค้าน ก็มีข้อวิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 เช่นเดียวกัน นำโดย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายว่า การโอนงบประมาณเป็นการโอนงบประมาณที่ไม่จริงขึ้น โดยยกตัวอย่างการโอนงบของกระทรวงกลาโหมที่เป็นกระทรวงที่โอนงบประมาณเป็นลำดับที่หนึ่ง 

เหตุที่กล่าวว่าการโอนงบดังกล่าวเป็นการโอนงบที่ไม่จริง เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากรายการแต่ละหน่วยที่มีการโอนงบประมาณเข้างบกลางที่ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนและจำเป็นจะพบว่า เป็นการตัดงบผูกพัน ซึ่งงบผูกพันเป็นงบที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถจ่ายหมดได้ในคราวเดียว หน่วยงานจึงทำการผูกพันงบโดยแบ่งจ่ายเป็นรายปีไปโดยสภาจะทำการอนุมัติในครั้งแรกและสามารถเบิกในปีถัดไปจนครบจำนวนที่ผูกพันไว้โดยไม่ต้องนำเข้าสภาใหม่อีก 

สุดท้ายแล้ว การตัดงบผูกพันของกระทรวงกลาโหมนั้นมีลักษณะเป็นการลดงบของปีปัจจุบันและไปเพิ่มงบในปีถัดๆ ไปแทน หรือ พูดง่ายๆว่า การที่กระทรวงกลาโหมนั้นได้ลดงบผูกพันของตนที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชำระเป็นเพียงการชะลอการจ่าย สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายงบประมาณในส่วนนี้เต็มจำนวนอยู่นั่นเอง 

นอกจากนี้ การเกลี่ยงบประมาณให้ไปอยู่ในงวดถัดไปนั้นอาจจะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยในอนาคต ดังเช่นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ กล่าวว่าเข้าข่ายดาวน์น้อยผ่อนหนัก เมื่อพิจารณาประกอบกับที่ปีงบประมาณปัจจุบันนั้นได้มีการลดอัตราจำนวนเงินที่ต้องชำระต้นเงินกู้ขั้นต่ำจากร้อยละ 2.5 เหลือร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการทวีภาระการชำระหนี้ในอนาคตอีก

ด้าน เรวัต วิศรุต ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละสอง แต่ไม่เกินร้อยละสามจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในขณะที่ประกาศเรื่องเดียวกันในปี 2563 กลับกำหนดให้สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละสอง แต่ไม่เกินร้อยละเจ็ดจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

เมื่อเปรียบเทียบประกาศทั้งสองฉบับแล้วจะพบว่าในประกาศฉบับล่าสุดได้มีการขยับเพดานงบเงินสำรองจ่ายจากไม่เกินร้อยละสามจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นไม่เกินร้อยละเจ็ดจุดห้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

หากเทียบตามประกาศฉบับเก่าจะพบว่า ร้อยละสามจุดห้าของสามจุดสองล้านล้านบาทคือ 11.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการโอนงบประมาณเข้ามาในเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินเพื่อกรณีเร่งด่วนและจำเป็นตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณเพิ่มอีก 88.5 พันล้าน เมื่อรวมกับรายการเดิมคือ 96 พันล้านจะเป็นยอดเงินที่เกินกรอบที่ประกาศปี 61 จำกัด จึงกล่าวได้ว่ารัฐบาลจงใจที่จะออกประกาศฉบับใหม่เพื่อรองรับการโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายนี้โดยเฉพาะ

เรวัต วิศรุต จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกประกาศฉบับใหม่เช่นนี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือเป็นการกระทำตามอำเภอใจของคณะรัฐมนตรีหรือไม่

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”