อดีต สนช. เป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้ ต้องเว้นวรรค 10 ปี

26 พฤษภาคม 2563 วุฒิสภาชุดพิเศษของ คสช. ลงมติเห็นชอบให้ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่เสนอชื่อมาโดยคณะกรรมการสรรหา ทั้งที่สุชาติเพิ่งพ้นจากตำแหน่งสมาชิก สนช. มาได้หนึ่งปีหมาดๆ 

The Ex-NLA cannot be an Independent constitutional organisation.

พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไว้ ดังนี้

พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 11 (18) กำหนดว่า กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา

จึงชัดเจนว่า คนที่เคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ยังไม่พ้นจากตำแหน่งเกินสิบปีจะมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่ได้ ถ้ามีบุคคลเหล่านี้สมัครเข้ารับการคัดเลือก กรรมการสรรหาก็ต้องพิจารณาว่า ขาดคุณสมบัติ และหากรายชื่ออยู่ในมือของวุฒิสภา วุฒิสภาก็ต้องไม่ลงมติให้ดำรงตำแหน่ง

สาเหตุที่กฎหมายต้องจำกัดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นการรับประกันให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือระบบการเมือง เนื่องจากองค์กรอิสระ มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งถ้าหากปล่อยให้บุคคลที่เคยมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐมาอยู่ในกระบวนการตรวจสอบก็อาจนำไปสู่ความไม่เป็นกลาง ไม่โปร่งใส หรือความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ได้

สำหรับสมาชิก สนช. นั้นถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในระหว่างที่ คสช. ปกครองประเทศ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรคสอง กำหนดว่า ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

และต่อมา เมื่อใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดสถานะของสมาชิก สนช. ไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ยังคงทําหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้

รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ บัญญัติถึงสถานะของ สนช. ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว. กล่าวคือ มีอำนาจในการพิจารณาออกกฎหมาย อำนาจในการตรวจสอบรัฐบาล สมาชิก สนช. จึงอยู่ในสถานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้จะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ดังนั้น การที่อดีตสมาชิก สนช. จะมาดำรงตำแหน่งเป็นองค์กรอิสระด้วยตัวเองย่อมไม่เหมาะสมและอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิก สนช. เป็นสภาแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมาชิก สนช. จึงเป็น “กลุ่มการเมือง” ที่มีผลประโยชน์ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหารที่ยังคงสืบทอดอำนาจมาเป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น อดีตสมาชิก สนช. จึงอยู่ในสถานะที่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารที่เป็นอยู่ในขณะนี้ด้วย การให้อดีตสมาชิก สนช. มาดำรงตำแหน่งใน “องค์กรอิสระ” ย่อมเป็นการเลือกเอา “พวกเดียวกัน” มาตรวจสอบพวกเดียวกันเอง

ดังนั้น การที่คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.และที่ประชุม ส.ว. ลงมติแต่งตั้งให้ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิก สนช. ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งมาเพียงหนึ่งปี มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งในแง่มารยาททางการเมือง ในแง่ความสง่างามในสายตาประชาชน และขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีมติตัดสิทธิไม่ให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ จินตนันท์ ริญาต์ร ศุภมิตร อดีตสมาชิก สนช. ชุดเดียวกันกับสุชาติ เข้ารับการสรรหาเป็น กสม. เนื่องจากทั้งสองคนเพิ่งพ้นจากตำแหน่ง สนช. มาไม่ถึงสิบปี พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ มาตรา 10(18) กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย