ผู้ประกันตนเดินเท้าเรียกร้องรัฐจ่ายเงินสะสมชราภาพ

วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 กลุ่มผู้ประกันตนประกันสังคมที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่ม #ขอคืนไม่ได้ขอทาน นัดหมายยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นทางกลุ่มผู้จัดนัดหมายเข้ายื่นหนังสือเวลา 9.09 น. แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกลับยังไม่พบบุคคลใดที่หน้าสำนักงานประกันสังคม ต่อมาเมื่อประสานงานทางโทรศัพท์กับหนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมจึงได้รับแจ้งว่าทางกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการบางประการ

ผู้ประกันตนเดินเท้าเรียกร้องรัฐจ่ายเงินสะสมชราภาพ

ในเวลาประมาณ 9.30 น. ทางกลุ่มจึงเดินทางมาถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาล และทำกิจกรรมเดินเท้าผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล วนไปหน้าองค์การสหประชาชาติก่อนจะย้อนกลับมายื่นหนังสือที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) การทำกิจกรรมดำเนินไปอย่างเรียบร้อยโดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 10 คน มาคอยถ่ายภาพ วิดีโอ และอำนวยความสะดวกขณะข้ามถนนระหว่างการเคลื่อนขบวน อย่างไรก็ตามหลังกิจกรรมเสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อย ผู้ประสานงานจัดกิจกรรมนี้ก็ให้ข้อมูลว่าก่อนที่จะมาวันนี้ตัวเขาไปประสานงานกับ สน.ดุสิตแต่ก็ได้รับคำตอบว่าจัดกิจกรรมแสดงออกไม่ได้ และหากมาจัดกิจกรรมก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุผลที่กิจกรรมในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเล็กน้อย

ตั้งแต่เวลาก่อน 9.00 น. บรรยากาศที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลค่อนข้างเงียบเหงา ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหรือสื่อมวลชนมาทำข่าวแต่อย่างใด

ในเวลา 9.10 น. เมื่อเจ้าหน้าที่ไอลอว์ที่ไปสังเกตการณ์การทำกิจกรรมติดต่อไปยังผู้ประสานงานกิจกรรมนี้ก็ได้รับแจ้งว่าทางกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการบางประการ จะเริ่มกิจกรรมในเวลาประมาณ 9.19 น. แทนเวลานัดหมายเดิม และเปลี่ยนจุดนัดพบเป็นที่ลานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำพิธีสักการะขอพรให้กิจกรรมในวันนี้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ในเวลาประมาณ 9.30 น. ผู้ร่วมกิจกรรม 17 คน เดินทางมาถึงที่อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ เพื่อทำพิธีสักการะ ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหนึ่งนายเข้ามาพูดคุยกับนายสัตวแพทย์บูรณ์ อารยพล ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกิจกรรมนี้เกี่ยวกับเส้นทางการเดิน และรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งหมดที่จะทำโดยที่ลานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายนี้นายเดียวที่มาประสานงานและถ่ายภาพ

ในเวลาประมาณ 9.40 น. ผู้ร่วมกิจกรรมเดินข้ามถนนไปชูป้ายที่หน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งจุดนี้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราวสิบนายเดินมาถ่ายภาพและวิดีโอ แต่ไม่ได้มีการแทรกแซงการทำกิจกรรม หรือห้ามการชูป้าย จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมจึงเดินผ่านทำเนียบรัฐบาลไปวนที่หน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติเพื่อถ่ายภาพ และวนกลับมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้แก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ในกรณีเกิดวิกฤตการณ์หรือเกิดโรคระบาดร้ายแรงตามประกาศของรัฐบาล ให้ผู้ประกันตนสามารถเบิกเงินกองทุนชราภาพ 30 – 50% ของเงินที่มีอยู่มาใช้ได้

2. ให้แก้กฎหมายให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพเป็นรายเดือนหรือเป็นเงินก้อน

3. ขอให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 24 งวด หรือมีอายุ 45 ปีขึ้นไป เมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนให้สามารถขอรับเงินชราภาพคืนภายในเวลา 90 วันไม่ต้องรออายุครบ 55 ปี

การยื่นหนังสือเป็นไปอย่างเรียบร้อย กิจกรรมทั้งหมดยุติในเวลาประมาณ 10.30 น. โดยตลอดการทำกิจกรรม กลุ่มผู้จัดและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้เน้นย้ำกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรื่องการรักษาระยะห่างตลอดเวลา และกลุ่มผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการทำกิจกรรมดังกล่าว

หลังกิจกรรมแล้วเสร็จ “บูรณ์” ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกิจกรรมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่จะมาในวันนี้ ประมาณวันที่ 20 ต้นๆ แต่จะเป็นวันใดจำไม่ได้แน่ชัด บูรณ์ประสานกับทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ และประสานกับเจ้าหน้าที่สันติบาลนายหนึ่งที่ดูแลพื้นที่บริเวณประตูทำเนียบรัฐบาลว่าจะมีผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนมายื่นหนังสือ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ายินดีให้มายื่นหนังสือแต่ควรไปแจ้งเรื่องกับทาง สน.ดุสิต และ สน.นางเลิ้ง ซึ่งดูแลพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย เขาจึงไปติดต่อที่ สน.ดุสิต เมื่อเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องทราบว่าเขาเป็นใคร และทราบวัตถุประสงค์การมาของเขาก็ไปตามนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มา ซึ่งนายตำรวจที่มาก็ตอบว่าไม่อนุญาต และหากบูรณ์หรือประชาชนคนใดเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย บูรณ์จึงตัดสินใจปรับรูปแบบกิจกรรม ไม่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมในวงกว้างและใช้วิธีนัดหมายเป็นการส่วนตัวกับผู้เข้าร่วม และนัดหมายเพื่อแต่งตัวสวมโสร่งที่สถานีรถไฟฟ้าราชเทวีจากนั้นจึงนั่งรถโดยสารสาธารณะมาที่อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรแทน

บูรณ์ระบุด้วยว่าในวันที่ 23 พฤษภาคม เขาขี่จักรยานเซอร์เวย์เส้นทาง และได้ขี่จักรยานนำป้ายกระดาษไปถ่ายกับแลนด์มาร์กสำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งมาคอยขี่จักรยานยนต์ติดตาม และเมื่อเขาหยุดถ่ายภาพที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกเจ้าหน้าที่ทหารรักษาการณ์ก็มาสั่งห้ามถ่ายภาพและจะขอลบรูป บูรณ์จึงถามตำรวจที่มาติดตามเขาว่าเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวมีอำนาจสั่งให้เขาลบรูปได้หรือไม่ ซึ่งตำรวจก็ปฏิเสธว่าไม่มี เขาจึงไม่ได้ลบภาพ

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม