ความแออัดของเรือนจำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับมาตรการการรับมือโควิด 19

ปัญหาความแออัดของเรือนจำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้โทษจำคุกเกินความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น ที่ฟิลิปปินส์ มีนักโทษประมาณ 75% จากจำนวนนักโทษทั้งหมดที่ถูกคุมขังในระหว่างรอการพิจารณาคดี ทั้งที่เรือนจำควรจะรองรับเฉพาะนักโทษที่มีการพิพากษาลงโทษแล้วเท่านั้น เรือนจำในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ต้องรองรับนักโทษเกินขีดความสามารถ และยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ความแออัดก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากยิ่งขึ้นไปอีก 

อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาตรการปล่อยตัวนักโทษได้ถูกนำมาใช้ โดยที่ฟิลิปปินส์ได้ปล่อยนักโทษไปแล้วประมาณ 10,000 คน ขณะที่อินโดนีเซียปล่อยไปแล้วราว 30,000 คน เพื่อลดความแออัดในเรือนจำและความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค โดยเกณฑ์การปล่อยตัวนักโทษส่วนใหญ่จะพิจารณาจากโทษ หากได้รับโทษมาแล้วเกินสองในสามของโทษทั้งหมดหรือเป็นนักโทษที่กระทำความผิดที่ไม่รุนแรง ก็จะได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมองว่า การระบาดของโควิด 19 เป็นเหมือนสัญญาณเตือนที่มาเร่งให้เกิดการปฏิรูปการลงโทษในแต่ละประเทศเสียใหม่ โดยเห็นว่ารัฐควรนำมาตรการลงโทษทางเลือกอื่นมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาความหนาแน่นของนักโทษในเรือนจำเสียที 

ความแออัดในเรือนจำ: ปัญหาเดิมๆ เพิ่มเติมคือโควิด 19  

ความเป็นอยู่ที่แออัดของนักโทษในเรือนจำ ดูจะเป็นปัญหาร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น 

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรนักโทษหนาแน่นและแออัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ข้อมูลของสำนักบริหารและจัดการเรือนจำของฟิลิปปินส์ระบุว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีเรือนจำทั้งหมด 933 แห่ง โดยข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีนักโทษในเรือนจำประมาณ 215,000 แต่ความสามารถในการรองรับนักโทษในเรือนจำอยู่ที่ 40,610 (ข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2562) นั่นเท่ากับว่า อัตราจำนวนนักโทษอาจสูงถึง 529 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากความสามารถในการรองรับของเรือนจำ

ด้วยอัตราความแออัดข้างตน ทำให้ห้องขังหนึ่งห้องถูกออกแบบมารองรับนักโทษ 2 คนต้องรองรับนักโทษมากถึง 11 คน บางคนถึงกับต้องนอนตามทางเดิน บันได หรือแม้กระทั่งในห้องน้ำ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟิลิปปินส์มีจำนวนนักโทษมากเกิดจากการควบคุมตัวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีเป็นจำนวนประมาณ 75% ของจำนวนนักโทษทั้งหมด

นอกจากนั้นการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูเทอร์เต้ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ยังมีส่วนเพิ่มจำนวนประชากรนักโทษในเรือนจำอย่างมีนัยสำคัญ จากประมาณ 95,000 คน ในปี 2553 เป็น 215,000 คน ในปี 2562 เท่ากับว่าในช่วงระหว่างปี 2553 – 2562 ฟิลิปปินส์มีจำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นถึง 120,000 คน

ถัดมาในกรณีของอินโดนีเซีย ข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน อินโดนีเซียในเดือนเมษายน 2563 ระบุว่า มีนักโทษอยู่ในเรือนจำ 464 แห่งทั่วประเทศประมาณ 224,552 คน แต่ความสามารถในการรองรับนักโทษในเรือนจำอยู่ที่ 132,335 คน ดังนั้น อัตราจำนวนนักโทษอาจสูงถึง 169 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากความสามารถในการรองรับของเรือนจำ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังอยู่ระหว่างการพิจารณาเกือบ 25% ของจำนวนนักโทษทั้งหมด

กรณีของกัมพูชาซึ่งมีเรือนจำทั่วประเทศ 28 แห่ง จากการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่ามีนักโทษทั้งหมดประมาณ 36,600 คน ความสามารถในการรองรับนักโทษในเรือนจำอยู่ที่ 8,500 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2558) จึงมีความเป็นไปได้ว่า อัตราจำนวนนักโทษอาจสูงถึง 430 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากความสามารถในการรองรับของเรือนจำ ซึ่งในจำนวนนักโทษทั้งหมดมีอย่างน้อย 70% ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 

มีรายงานว่าญาติผู้ต้องขังในทัณฑสถานแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เธอกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของน้องสาวของเธอเนื่องจากถูกขังรวมอยู่กับนักโทษหญิงอีกกว่า 1,850 คน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเรือนจำแห่งนั้นสามารถรองรับนักโทษหญิงและเด็กได้ไม่เกิน 350 คนเท่านั้น 

ที่ประเทศเมียนมา มีเรือนจำทั้งหมด 96 แห่ง สามารถรองรับนักโทษได้ 66,000 คน แต่ขณะทำการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2561 เรือนจำเมียนมาต้องรองรับนักโทษอย่างน้อย 92,000 คน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับนักโทษ 139% โดยมีจำนวนนักโทษที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ประมาณ 15% ของนักโทษทั้งหมด  

สำหรับกรณีของไทย มีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง สามารถรองรับนักโทษได้ 217,000 คน แต่ขณะทำการสำรวจในเดือนเมษายน 2563 เรือนจำไทยต้องรองรับนักโทษอย่างน้อย 373,000 คน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับนักโทษ 172% โดยมีจำนวนนักโทษที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ประมาณ 16% ของนักโทษทั้งหมด  

ปัญหาที่ตามมาของความแออัดภายในเรือนจำที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ สภาพแวดล้อมและสุขอนามัยที่ย่ำแย่ของนักโทษ ในสภาวะปกติพวกเขาจะต้องทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการระบายอากาศที่ไม่ดี ยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ยิ่งสร้างความอึดอัด ไม่สบายตัวให้แก่นักโทษ ปัญหาการขาดแคลนอาหาร รวมถึงทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข 

เชล ดิโอโน่ (Chel Diokno) ประธานกลุ่มช่วยเหลือด้านกฎหมายและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยทางกฎหมายเดอ ลา เซล ในเมืองมะนิลากล่าวกับสำนักข่าวต่างประเทศเอ็นพีอาร์ว่า “แม้กระทั่งก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด 19 องค์กรของเราได้รับการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากจนกลายเป็นเรื่องปกติเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่ส่งผลต่อการมีปัญหาสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ” 

ซึ่งหากพิจารณาจากการติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เหงื่อหรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดภายในเรือนจำย่อมเป็นการยากต่อนักโทษที่จะรักษาระยะห่างระหว่างกันและมีโอกาสที่จะสัมผัสสารคัดหลั่งของกันและกันได้มาก หากเริ่มมีผู้ติดเชื้อก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและยากแก่การควบคุม

ปัญหาความแออัดและการปรับตัวของเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้

ที่ประเทศฟิลิปปินส์  มีนักโทษในเรือนจำติดโควิด 19 แล้ว 330 ราย เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 ราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 มาริโอ้ วิคเตอร์ เลนเนน (Mario Victor Leonen) ผู้พิพากษาศาลฎีกาออกมาระบุเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ว่า มีการออกคำสั่งให้ปล่อยตัวนักโทษเกือบ 10,000 รายทั่วประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว ซึ่งนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวโดยมากจะเป็นผู้ที่ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนหรือต่ำกว่านั้น หรือเป็นผู้กระทำความผิดที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา รวมถึงนักโทษที่มีปัญหาด้านสุขภาพและนักโทษที่เป็นผู้สูงอายุก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นเดียวกัน 

กรณีของอินโดนีเซีย ทางการทยอยปล่อยนักโทษไปแล้วประมาณ 30,000 คนหรือเกือบ 10% ของจำนวนนักโทษทั่วประเทศ โดยนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวได้แก่ผู้กระทำความผิดลหุโทษ นักโทษที่ถูกดำเนินคดีที่มีพฤติการณ์ร้ายแรง เช่น คอร์รัปชั่น ก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ หรือคดียาเสพติด เฉพาะผู้ขายจะไม่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ ส่วนนักโทษที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติดและถูกพิพากษาจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี หากรับโทษไปแล้วอย่างน้อยสองในสาม ก็จะได้รับการปล่อยตัว   

อย่างไรก็ตาม แอนเดรียส ฮาโซโน นักวิจัยอาวุโสประจำประเทศอินโดนีเซียของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch: HRW) กล่าวว่า การปล่อยตัวนักโทษหลายพันคนนั้นถือว่าเป็นประโยชน์แต่จะต้องปล่อยให้มากกว่านี้ นอกจากนั้นเขายังได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการปล่อยตัวนักโทษที่ไม่มีความรุนแรง อย่างนักโทษทางการเมือง เพราะนักโทษเหล่านี้ย่อมไม่ก่ออันตรายให้กับสังคม

กรณีของเมียนมา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ทางการประกาศว่าปล่อยตัวนักโทษไปแล้วประมาณ 25,000 คนหรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งในสี่ของนักโทษทั้งหมด โดยในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นนักโทษชาวโรฮิงญาประมาณ 1,500 คน และนักโทษที่เป็นชาวต่างชาติอีก 87 คน ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าทางการเมียนมามีเกณฑ์การปล่อยตัวนักโทษอย่างไร 

แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย (Human Rights Watch: HRW) เสนอว่าทางการพม่าควรปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม สื่อมวลชน และผู้ที่ถูกคุมขังเป็นเวลายาวนานโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาหรือการพิจารณาคดี รวมถึงควรหามาตรการลงโทษทางเลือกอื่นสำหรับนักโทษที่มีปัญหาสุขภาพ นักโทษสูงอายุหรือพิการที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง นักโทษที่มีอัตราโทษต่ำและคดีที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง รวมถึงนักโทษที่ใกล้พ้นโทษ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด 19 

กรณีของไทย เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาตรการพักโทษให้แก่นักโทษประมาณ 8,000 คน และกำหนดมาตรการลดวันต้องโทษสำหรับนักโทษที่ผ่านเกณฑ์เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้นในเรือนจำ หลังจากนั้นในวันที่ 16 เมษายน 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางราชทัณฑ์ปล่อยนักโทษไปแล้วประมาณ 8,000 คน โดยทยอยปล่อยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 เพื่อลดความหนาแน่นของนักโทษในเรือนจำ โดยพิจารณาปล่อยนักโทษที่รับโทษมาแล้วสองในสามของโทษทั้งหมดและมีความประพฤติดี  

เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อในระบบเรือนจำไทย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ว่ามีนักโทษชายติดโควิด 19 จำนวน 2 คนอยู่ที่เรือนจำกลางราชบุรี ต่อมาในวันที่ 3 เมษายน 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครนายกติดเชื้อเช่นเดียวกัน และวันที่ 20 เมษายน 2563 ออกมาแถลงเพิ่มเติมว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มอีกสองคน โดยเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดชุมพร รวมยอดผู้ติดเชื้อในระบบเรือนจำไทยสะสมทั้งหมดห้าคน

วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงเห็นสมควรที่จะผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการการป้องกันโรคระบาดในเรือนจำ โดยให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศกลับมาเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมนักโทษได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563

โดยการเปิดให้ญาติเยี่ยมผู้ต้องขังตามปกติจะมีมาตรการด้านการควบคุมโรคเพิ่มเติม ได้แก่ ญาติต้องลงทะเบียนเข้าเยี่ยมกับทางเรือนจำล่วงหน้า, ทางเรือนจำต้องจัดพื้นที่เข้าเยี่ยมและพื้นที่นั่งรอให้มีระยะห่าง 1.5-2 เมตร, ญาติต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา, มีการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าเยี่ยมและไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเข้าเยี่ยม และทางเรือนจำจะจัดแอลกอฮอล์เจลไว้บริการผู้เข้าเยี่ยม 

ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’ เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต

สำนักข่าวเซ้าท์ไชน่ามอนิ่งโพสท์ ระบุว่า นักวิจัยและผู้ทำงานภาคสนามหลายคนเห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับทางการในการลดจำนวนนักโทษและควรเริ่มพิจารณาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสียใหม่ และในขณะเดียวกันก็ควรที่จะจัดหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับด้านการฟื้นฟูและสาธารณสุขสำหรับนักโทษ

จีโนวีว่า อาลิเชีย (Genoveva Alicia) นักวิจัยประจำสถาบันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า เธอหวังว่าการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสในครั้งนี้จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยให้ทุกประเทศตระหนักถึงผลของการบังคับใช้โทษจำคุก และกล่าวเพิ่มเติมว่าองค์กรของเธอได้มีความพยายามในการพูดถึงปัญหานักโทษล้นคุกตลอดมาว่าอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในอนาคต และมันก็มาถึงแล้วจริงๆ แต่ในช่วงวิกฤตก็ยังพอมีพัฒนาการในทางที่ดีอยู่บ้าง โดยผู้พิพากษาและอัยการในอินโดนีเซียเริ่มมองหามาตรการการลงโทษอื่น เช่น การทำภาคทัณฑ์จำเลยคดีอาญาแทนการลงโทษจำคุก

ขณะที่ โอลิเวีย โรฟ (Olivia Rope) ผู้อำนวยการด้านนโยบายและการสนับสนุนด้านปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ (Penal Reform International) ก็ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นเหมือนการเน้นย้ำว่าควรมีการเปลี่ยนโทษสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและผู้กระทำผิดที่มีโทษสถานเบาอื่นๆ เสียที 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ก็ได้มีการเสนอแนวทางการรับมือด้วยมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก (Non-custodial Measure) เพื่อช่วยลดปัญหาความแออัดและความเสี่ยงจากการติดเชื้อในเรือนจำเช่นเดียวกัน โดยมีการเสนอให้ใช้โทษจำคุกในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น การหลีกเลี่ยงการจำคุกในชั้นก่อนพิจารณาคดีและชั้นการพิจารณาคดี การใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกระยะสั้นสำหรับผู้กระทำผิดคดีไม่รุนแรงหรือกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือโรคประจำตัว หญิงที่ตั้งครรภ์ และผู้กระทำผิดคดีเล็กน้อยที่ไม่เป็นภัยอันตรายต่อสังคม โดยอาจเป็นการเรียกค่าปรับ การใช้มาตรการคุมประพฤติ การควบคุมตัวที่บ้าน หรือการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ความวิตกกังวลและความเครียดของนักโทษที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำในช่วงเวลานี้ย่อมมีมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เพราะนอกจากสถานที่ที่คับแคบ ทำให้ไม่อาจขยับตัวหนีไปไหนได้แล้ว เรือนจำในหลายประเทศขณะนี้ก็ได้มีการออกมาตรการห้ามเยี่ยมนักโทษ สภาพจิตใจของนักโทษที่แย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไปอีก อีกทั้งทรัพยากรในทางสาธารณสุขสำหรับป้องกันตัวเองก็ไม่ได้มีพร้อมเหมือนกับคนที่อยู่นอกเรือนจำ การระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีข้อสงสัยว่าการจำคุกอาจไม่ใช่มาตรการการลงโทษที่ตอบโจทย์เสมอไป 

ดังนั้น การเสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดที่ไม่ร้ายแรง จึงถือเป็นความพยายามในการลดความแออัดในเรือนจำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่นักโทษคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของโรคระบาดในครั้งนี้ แต่การปฏิรูปจะส่งผลต่อการเตรียมรับมือวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย